ผู้บริโภคชาวเวียดนามหันมาจับจ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้น

การศึกษาผู้บริโภคชาวเวียดนามประมาณร้อยละ 77 เชื่อว่าพวกเขาสามารถใช้ชีวิต
แบบไร้เงินสดได้เป็นเวลา 3 วัน จากการสำรวจครั้งใหม่ของ Visa ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติให้บริการด้านการเงิน ที่มีชื่อว่า “การศึกษาทัศนคติในการชำระเงินของผู้บริโภคปี 2565”

ในการศึกษานี้ Visa พบว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามพยายามที่จะเปลี่ยนไปใช้สู่โหมดไร้เงินสด ในปี 2565 เมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 77 ในปี 2564 การระบาดครั้งใหญ่ของ โรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก และเวียดนามก็เช่นกัน Visa กล่าวเสริมว่าร้อยละของผู้บริโภคชาวเวียดนามที่ใช้การชำระเงินด้วยบัตรหรือโมบายวอลเล็ตเพิ่มขึ้นในทุกประเภทเมื่อเทียบกับปี 2564

จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 66 ของผู้บริโภคใช้ในปี 2565 ในขณะที่ร้อยละ 70 ใช้การชำระเงินออนไลน์หรือในแอปพลิเคชั่นผ่านโมบายวอลเล็ต เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 32 ในปี 2564

การชำระเงินแบบดิจิทัลยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคในเวียดนาม โดยข้อมูลของ VisaNet ซึ่งเป็นเครือข่ายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่าปริมาณการชำระเงินผ่านวิธีการชำระเงินของวีซ่าทั้งหมดในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบเป็นรายปีในปี 2565 มูลค่าการชำระเงินผ่านธุรกรรมออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ในขณะที่ ปริมาณการชำระเงินข้ามพรมแดนเติบโตมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ 2564

นอกจากนี้ ในปี 2565 การชำระเงินผ่านระบบ QR payments ยังมีการเติบโตอย่างมาก
ในการใช้งาน โดยร้อยละ 61 ของผู้บริโภคใช้วิธีนี้ เทียบกับในปี 2564 ที่มีการใช้งานระบบนี้เพียงร้อยละ 35 จากข้อมูลสิ่งนี้บ่งชี้ว่าผู้บริโภคต่างใช้เงินสดน้อยลง เห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้บริโภคถือเงินสดน้อยลงในปี 2565 และใช้เงินสดเพื่อการชำระเงินที่น้อยลง

จากการศึกษาสาเหตุที่พบมากที่สุด 2 ประการที่ทำให้การชำระเงินด้วยเงินสดน้อยลง ได้แก่ ลดความเสี่ยงในการถูกขโมย และความจริงที่ว่าปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่สนับสนุนวิธีการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด การใช้ตัวเลือกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นนั้นเห็นได้ชัดนอกเหนือจากวิธีการชำระเงิน และร้อยละ 90 ของผู้บริโภคชาวเวียดนามให้ความสนใจธนาคารเสมือนจริง

พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิดก็กำลังได้รับความสนใจเช่นกัน การศึกษาพบว่าเทรนด์ใหม่ๆ
ที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในพื้นที่ค้าปลีกและวิธีที่ผู้บริโภคเข้าถึงการเงินโดยรวมแสดงให้เห็นว่าชาวเวียดนามยอมรับการซื้อสินค้าผ่านช่องออนไลน์โดยส่งสินค้าถึงบ้านและการชำระเงินล่วงหน้าทางออนไลน์ที่รองรับเทคโนโลยีเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยรวมแล้วร้อยละ 85 ของผู้บริโภคลองใช้บริการจัดส่งถึงบ้านเป็นครั้งแรกในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ และในอนาคต พวกเขาคาดว่า 8 ใน 10 ของการซื้อจะสั่งซื้อทางออนไลน์และจะได้รับบริการจัดส่งถึงบ้าน

การเสนอการชำระเงินออนไลน์และการจัดส่งถึงบ้านให้กับผู้บริโภคเป็นความจำเป็นสำหรับธุรกิจที่กำลังเติบโต นอกจากนี้พฤติกรรมการจับจ่ายแบบใหม่ก็เกิดขึ้นเช่นกัน โดยร้อยละ 64 ของผู้บริโภคซื้อยาและวิตามินมากขึ้นเพื่อรักษาสุขภาพของพวกเขา ในขณะที่คนกลุ่มเดียวกันนี้ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ขนาดใหญ่

พฤติกรรมการใช้จ่ายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มทั่วโลกหลังโควิด ซึ่งอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังทดลองการซื้อสินค้าในรูปแบบใหม่

แนวโน้มการออมและการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรม
ที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคร้อยละ 80 กล่าวว่าพวกเขากำลังออมเงินมากขึ้นสำหรับอนาคต ในขณะที่ร้อยละ 78 ตั้งเป้าที่จะวางแผนและติดตามค่าใช้จ่ายรายเดือนอย่างใกล้ชิด สิ่งนี้บ่งชี้ถึงการมีความรับผิดชอบทางการเงินอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับการตั้งค่างบประมาณรายเดือนสำหรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดการใช้จ่ายในบางรายการซึ่งธุรกิจต้องคาดการณ์ไว้

ในทางกลับกัน ยังมีธุรกิจบางประเภทสามารถย้ายไปเจาะกลุ่มตลาดที่ผู้บริโภควางแผนจะเพิ่มการใช้จ่าย ซึ่งรวมถึงร้านขายของชำ แฟชั่นและเสื้อผ้า และที่พักหรือการเดินทางภายในประเทศ

จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

วิเคราะห์ผลกระทบ

จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเวียดนามพบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นที่เปลี่ยนจากการใช้เงินสดเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยเลือกใช้วิธีการชำระเงินออนไลน์หรือในแอปพลิเคชั่นผ่านโมบายวอลเล็ตมากถึงร้อยละ 70 และการชำระเงินผ่านบัตรออนไลน์ร้อยละ 66  นอกจากนี้ปริมาณการชำระเงินข้ามพรมแดนเติบโตขึ้นมากกว่าสองเท่า แสดงถึงความนิยมในการจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งซื้อสินค้าภายในประเทศและซื้อสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคชาวเวียดนามเลิกถือเงินสดและใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องสั่งสินค้าในรูปแบบการจัดส่งถึงหน้าบ้าน และอีกสาเหตุคือความกลัวที่จะทำเงินสดหายหรือถูกขโมย ความนิยมในการสั่งสินค้าและชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสินค้าที่มีปริมาณการสั่งผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นคือกลุ่มยาและวิตามิน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่วางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง มีการออมเงินเพิ่มมากขึ้น จำกัดงบประมาณในการซื้อสินค้า ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาขยายตลาดสินค้าและบริการในประเทศเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการในรูปแบบใด ควรให้ความสำคัญกับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยวิธีการชำระเงินแบบดิจิทัลทั้งวิธีการชำระเงินด้วยบัตรหรือโมบายวอลเล็ตเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างความสะดวกให้กับผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคชาวเวียดนามมีแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านเงินสดน้อยลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าควรจะมีการนำสินค้าวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ให้ผู้บริโภคได้เลือกสั่งซื้อและจัดส่งถึงหน้าบ้านเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก เนื่องจากผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19  ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ควรจะมีการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า วางแผนการตลาดให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีผู้บริโภคบางกลุ่มวางแผนออมเงินเพิ่มขึ้นและลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

thThai