อาหารนำเข้าหมายถึงอาหารที่ไม่ใช่แบรนด์จีน ซึ่งรวมถึงอาหารที่ผลิตจากประเทศอื่น และมาบรรจุแยกบรรจุภัณฑ์ในจีน ซึ่งที่ผ่านมาเนื่องจากชาวจีนมีความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ตลาดอาหารนำเข้าขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดในปี ค.ศ. 2021 พบว่าตลาดอาหารนำเข้าของจีนมีมูลค่าถึง 134,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.58 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ผู้บริโภคจีนมีการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารด้านการเกษตร การรับรู้ช่องทางการซื้อขายที่หลากหลาย การเปรียบเทียบคุณประโยชน์และราคา และการเลือกอาหารนำเข้าที่ชื่นชอบ ตลอดจนมีช่องทางโลจิสติกส์ที่เอื้อต่อการนำเข้าที่สะดวกยิ่งขึ้น (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 34 บาท)

ปัจจุบันจีนมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าจำนวนมาก เช่น มาตรการบริหารความปลอดภัยของอาหารนำเข้า ข้อบังคับเกี่ยวกับการจดทะเบียนและข้อจำกัดเกี่ยวกับผู้ผลิตอาหารนําเข้าในต่างประเทศ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญต่ออาหารนำเข้าเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันพบว่าจีนมีบริษัทที่เกี่ยวกับอาหารนำเข้าจำนวน 215,000 ราย โดยมณฑลที่มีจำนวนบริษัทมากที่สุดในประเทศ ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง จำนวน 32,000 ราย รองลงมา ได้แก่ มณฑลซานตง และมหานครเซี่ยงไฮ้ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ยังพบว่ามีบริษัทที่จดทะเบียนเกี่ยวกับอาหารนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20,000 รายต่อปี

สืบเนื่องจากนโนบายการนำเข้าอาหารของจีน และการรับรู้ถึงการบริโภคอาหารนำเข้าที่มีคุณภาพของชาวจีนที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดอาหารนำเข้าของจีนมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และมีการคาดการณ์ว่าในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาทองของอาหารนำเข้าของจีน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสำรวจตลาดเชิงลึกตลาดอาหารนำเข้าของจีนปี ค.ศ. 2021 – 2026 ที่แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ และนม ยังคงครองแชมป์อาหารนำเข้าของจีน โดยในที่นี้การนำเข้าอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าการนำเข้ากว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.6 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.2 ของมูลค่าการนำเข้าอาหารรวมทั้งหมดของจีน และผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากธัญพืช และผลไม้มีมูลค่าการนำเข้าทะลุ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 340,000 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาด้านรูปแบบการซื้อสินค้านำเข้า พบว่าจะมีการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์และดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากช่องทางออนไลน์สามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปสงค์และอุปทานผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการห่วงโซ่อุปทานของการนำเข้าแบบดั้งเดิม และลดต้นทุนของพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้ช่องทางออนไลน์หรือการซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางที่สำคัญในการเลือกซื้ออาหารนำเข้าของผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบัน

สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 2021 พบว่าคือ ชีส ถูกนำเข้ามากที่สุดคิดเป็นปริมาณกว่า 2.23 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ นมพร่องมันเนย 1.51 ล้านตัน เนื้อวัว 9.91 ล้านตัน เนื้อหมู 11.63 ล้านตัน ข้าวสาลี 196.40 ล้านตัน และข้าว 52.87 ล้านตัน ตามลำดับ แต่สำหรับประเทศจีนอาหารนำเข้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและขายดีมากที่สุดคือ ผลไม้นำเข้า โดยเฉพาะเชอร์รี เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดผู้บริโภคเชอร์รีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และปัจจุบันจีนนำเข้าเชอร์รีกว่าร้อยละ 80 มาจากประเทศชิลี นอกจากนี้ จีนยังมีการนำเข้าอาหารประเภทอื่น เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ นม น้ำมันพืช เป็นจำนวนมากเป็นประจำทุกปี

หลายปีที่ผ่านมานี้ ตลาดอาหารนำเข้าของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลดภาษีศุลกากรของจีนอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับช่องทางการจำหน่ายอย่างช่องทางอีคอมเมิร์ซก็มีส่วนในการผลักดันการเติบโตของอาหารนำเข้าในจีนอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติจากแพลตฟอร์ม JD.com ที่มีการเปิดเผยว่า ในปี ค.ศ. 2017 มีแบรนด์สินค้าอาหารนำเข้าบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 (YoY) เช่นเดียวกับผลประกอบการของบริษัทนำเข้าอาหารขนาดใหญ่ของจีนในปี ค.ศ. 2020 ที่มีมูลค่าทะลุ 15 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 45 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ จีนยังมีการกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการติดฉลากอาหารที่บรรจุภัณฑ์ และการจัดการฉลากอาหารนำเข้าและส่งออกของจีน โดยระบุว่า อาหารนำเข้าต้องติดฉลากภาษาจีนเพื่อให้สามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากหันมาสนใจอาหารนำเข้า จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดกฎระเบียบสำหรับอาหารนำเข้าจากต่างประเทศที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภคชาวจีน และเพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนได้มีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลายจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นด้วย

อาหารนำเข้าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น โดยพบว่า ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายต่างมีการแข่งขันในการนำเข้าอาหารจากผู้ค้าในต่างประเทศอย่างรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศต้องมีปริมาณขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดจึงจะสามารถนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งจากข้อกำหนดนี้ทำให้ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายรายย่อยต่างเผชิญปัญหาเดียวกัน กล่าวคือ หากจำนวนความต้องการอาหารนำเข้าไม่ถึง 1 ตู้คอนเทรนเนอร์ ก็ไม่สามารถนำเข้าได้ จึงทำให้ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายมีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าจากบริษัทนำเข้าเพื่อมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง ซึ่งวิธีการนำเข้าและจำหน่ายอาหารในรูปแบบนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูง และนำมาจำหน่ายต่อในราคาที่สูงกว่าเพื่อให้ได้กำไรที่เหมาะสม แม้ว่าจะมีกำไรน้อยกว่าที่ควรจะได้ก็ตาม ซึ่งรูปแบบการนำเข้าดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้ราคาสินค้านำเข้าในตลาดจีนมีราคาที่สูงและมีการแข่งขันสูงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนยังคงมีความต้องการอาหารนำเข้าอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ในอนาคต อาหารนำเข้าของจีนจะยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แต่มีการคาดการณ์ว่าจะเปลี่ยนจากการเน้นปริมาณการนำเข้าและเม็ดเงินจากผลกำไรที่ได้รับ เป็นการจัดหาสินค้าคุณภาพและราคาที่ดีให้แก่ผู้บริโภคชาวจีนได้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

สืบเนื่องจากระดับรายได้ของผู้บริโภค และโครงสร้างการบริโภคอาหารที่ขยายตัวและมีการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีทำให้ตลาดอาหารนำเข้าของจีนยังคงมีประสิทธิภาพ และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความความต้องการอาหารของผู้บริโภคชาวจีนที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้ง แนวคิดการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนได้รับการยกระดับจากความต้องการอาหารเพื่อกินให้อิ่มท้องเป็นความต้องการอาหารที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและการบริโภคเพื่อสุขภาพจะกลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตของตลาดอาหารนำเข้าของจีน ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกอาหารของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีสินค้าไทยวางจำหน่ายมากขึ้นในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีน นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในภูมิภาคจีนทั้ง 7 แห่ง จัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์แนะนำสินค้าไทย และจำหน่ายสินค้าไทยทั้งในเมืองหลวง และเมืองรองทางเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสินค้าไทย และกระตุ้นความต้องการในการบริโภคสินค้าไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น จึงทำให้นับวันยิ่งมีสินค้าอาหารไทยหลากหลายประเภทวางจำหน่ายในตลาดจีนมากขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่ไม่หยุดนิ่ง แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนแต่ละมณฑล/ เมือง และแต่ละช่วงวัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าตามความต้องการของตลาด และแต่ละกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึง ต้องพิจารณาที่จะใช้ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียชื่อดังของจีนอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อสร้างกระแสความนิยม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าอาหารของไทย ไม่เพียงเท่านั้น การเร่งแสวงหาพันธมิตรและขยายช่องทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้สินค้าอาหารของไทยสามารถเจาะตลาดจีน และเข้าไปครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างง่ายดายมากขึ้น อันจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอาหารนำเข้าในจีนในอันดับต้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

แหล่งที่มา: https://www.chinairn.com/hyzx/20230613/141312334.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai