ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 19-23 มิถุนายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก SIRHA BUDAPEST
งานแสดงสินค้าและบริการสำหรับธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ค้าปลีก (Retail) และ HORECA (โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่-จัดเลี้ยง) ที่ใหญ่ที่สุดของฮังการีและภูมิภาคยุโรปกลาง ได้แก่ งาน SIRHA BUDAPEST จะจัดขึ้นในรูปแบบนิทรรศการ On-site ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้า HUNGEXPO Budapest Congress and Exhibition Center กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี
งาน SIRHA BUDAPEST เป็นเวทีสำคัญที่ตั้งเป้าส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร การค้าปลีก และธุรกิจ HoReCa ในภูมิภาคยุโรปกลางให้แข็งแกร่ง เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อที่มีศักยภาพจากทั่วโลก ทั้งนักธุรกิจชาวฮังการีและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า โรงเรียนสอนทำอาหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มาทำความรู้จักผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย พร้อมเจรจากับผู้ผลิตรายใหม่แบบ B2B ขยายคอนเนกชั่นทางธุรกิจ ตลอดจนเป็นเวทีที่ผู้ประกอบการจะได้ชมนวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิต การบรรจุภัณฑ์ และอัปเดตเทรนด์สำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อใช้เป็นไอเดียต่อยอดแนวคิดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
นอกจากจะมีการจัดแสดงสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว ภายในงานฯ ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย เช่น กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ กิจกรรมสัมมนาวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เวิร์คช็อปอบรมด้านความยั่งยืนของธุรกิจและทักษะการสื่อสารการตลาด ซุ้ม Future Store ของนิตยสาร Trade Magazine เพื่อแสดงแนวโน้มการใช้งานโซลูชั่นและบริการในธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญ ตลอดจนกิจกรรมแข่งขันการประกอบอาหารระดับโลกหลายรายการ อาทิ การแข่งขันเชฟระดับโลก Bocuse D’or, การประกวดเค้กประจำปีของฮังการีประจำปี 2566 (Hungary’s Cake 2024) โดยสมาคมอุตสาหกรรมขนมหวานประเทศฮังการี เป็นต้น
เมื่อพิจารณาข้อมูลหลังการจัดงานในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายดี ยังมีผู้เข้าร่วมออกคูหาแสดงสินค้าจำนวนถึง 376 บริษัท จาก 17 ประเทศ อาทิ ออสเตรีย เยอรมนี อิตาลี สเปน เป็นต้น และมีผู้เข้าร่วมงานตลอด 3 วันราว 24,000 คนจาก 44 ประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นเชฟอาหารคาวและอาหารหวานราว 3,800 คน ผู้จัดงานฯ จึงคาดว่าในปี 2567 จะมีจำนวนผู้ออกบูธและผู้เข้าชมงานมากขึ้น เนื่องจากพ้นช่วงการระบาดใหญ่ไปแล้ว
งานแสดงสินค้า SIRHA BUDAPEST มีกำหนดจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการจัดงานแสดงสินค้าและบริการในธุรกิจบริการอาหาร SIRHA International Network ที่จัดขึ้นในเมืองอื่นๆ ในทวีปยุโรปด้วย เช่น กรุงปารีสและเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส และนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เป็นต้น
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ SIRHA BUDAPEST (https://sirha-budapest.com/en/) หรือติดต่อ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ เพื่อประสานงานกับผู้จัดงานต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จองบูธภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 จะได้รับส่วนลดพิเศษจากราคาปกติ (Early-bird Discount)
บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็นของ สคต.
คต. ณ กรุงบูดาเปสต์ เห็นว่าการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหาร บริการค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจ HORECA ในไทย ทั้งในด้านการเริ่มสร้างเครือข่ายธุรกิจ การสำรวจตลาด และการเข้าสู่ตลาดยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก (Central and Eastern Europe) ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ (Emerging Markets) เพราะนอกจากผู้ประกอบการไทยจะได้พบคู่ค้าที่มีศักยภาพในฮังการีและทดลองประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการของตนในฮังการีแล้ว ยังอาจได้มีโอกาสติดต่อกับบริษัทที่มาออกบูธในงานนี้ที่มาจากประเทศอื่นๆ อีกด้วย
จุดเด่นที่สำคัญของการทำการค้ากับประเทศฮังการี คือการที่ฮังการีเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และอยู่ภายใต้สหภาพศุลกากรเดียวกัน ทำให้สามารถโยกย้ายปัจจัยการผลิตและเข้าถึงตลาดในอีก 26 ประเทศสมาชิกได้โดยใช้กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าและบริการเหมือนกัน รวมถึงมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โดยฮังการีมีที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคยุโรปกลาง มีพรมแดนติดต่อกับหลายประเทศ เป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายถนนนานาชาติที่สำคัญ เชื่อมกับภูมิภาคยุโรปตะวันตกเข้าถึงตลาดยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการียังเร่งพัฒนาระบบเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป
ด้านการลงทุนรายย่อยของไทยในประเทศฮังการี มีการลงทุนประกอบธุรกิจในหมวด HoReCa และ Spa & Wellness จำนวนมาก ทั้งโดยคนไทย คนฮังกาเรียน และนักธุรกิจสัญชาติอื่นๆ เนื่องจากอาหารไทยและการนวดแผนไทยเป็นที่นิยมในฮังการี มีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสุขภาพและราคาไม่แพงเกินเอื้อม ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2566 สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ พบว่าในประเทศฮังการี มีร้านอาหารไทย 55 ร้าน และร้านนวดไทย 151 ร้าน เฉพาะในกรุงบูดาเปสต์ มีร้านอาหารไทย 46 ร้าน ร้านนวดไทย 100 ร้าน โรงแรมที่ตกแต่งด้วยธีมศิลปะไทย 1 แห่ง และร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าเอเชียโดยเฉพาะ 16 ร้าน ดังนั้น กรุงบูดาเปสต์จึงเป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ ด้วยปัจจัยสำคัญ คือระดับรายได้ของคนในเมืองหลวงที่สูงกว่าต่างจังหวัด และผู้อยู่อาศัยทั้งชาวฮังการีและชาวต่างชาติมีแนวโน้มเปิดรับรสชาติอาหารที่แปลกใหม่
ด้านแนวโน้มการบริโภคสินค้าอาหารในฮังการี ผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางถึงระดับล่าง มักพิจารณาเลือกสินค้าจากราคาขายและความคุ้มค่าเป็นปัจจัยสำคัญ และนิยมซื้อสินค้าแพ็คใหญ่หรือทีละมากๆ เนื่องจากราคาต่อหน่วยจะถูกกว่าการซื้อทีละน้อยๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ไม่เกี่ยงที่จะซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หากจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าสินค้าในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไป มักไม่พิจารณาเลือกซื้อสินค้าที่มีข้อดีเพียงแค่ราคาถูกเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืน มีคุณภาพสูง ปราศจาก GMO และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ตรายี่ห้อที่ตั้งเป้าหมายจะเจาะตลาดบน มักจะสนับสนุนความยั่งยืน (Sustainability) อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการระบุข้อมูล ส่วนผสม สรรพคุณอย่างชัดเจนในฉลากผลิตภัณฑ์ โดยสินค้าลักษณะนี้ส่วนมากจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ แม้ว่าฮังการีเป็นประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เอง แต่ก็ต้องนำเข้าอาหารบางส่วนที่ผลิตเองไม่ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ เช่น ผักผลไม้เมืองร้อน อาหารทะเล ธัญพืช กาแฟ โกโก้ อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงวิเคราะห์ว่า ผู้ประกอบการไทยที่มีแนวทางการผลิตสินค้าอาหารที่ต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่ทำจากพืช ใช้ส่วนประกอบจากสมุนไพร และอาหารสำหรับผู้ที่มีความเฉพาะเจาะจงทางโภชนาการ รวมถึงวัตถุดิบ Novel Food เช่น แมลง สามารถเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคชาวฮังการี โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางขึ้นไป
ในปัจจุบัน สินค้าไทยที่มีอยู่แล้วในตลาดฮังการี มักเป็นสินค้าอาหารพื้นฐานสำหรับผู้บริโภคที่เริ่มเปิดรับรสชาติอาหารไทย อาทิ กะทิ ข้าวหอมมะลิ น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง เส้นผัดไทย น้ำมะขามเปียก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง และซอสพริก โดยพริกแกงสำเร็จรูปที่เป็นที่นิยมของคนฮังกาเรียน อาทิ พริกแกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และแกงกะหรี่
รูปภาพที่ 1-3: ตัวอย่างสินค้าไทยที่มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Tesco สาขาเมืองแซแกด (Szeged) และห้างสรรพสินค้า Auchan สาขาเขต 10 กรุงบูดาเปสต์
รูปภาพที่ 4-7: ตัวอย่างสินค้าไทยที่มีจำหน่ายในร้านจำหน่ายสินค้าเอเชียในกรุงบูดาเปสต์
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในการเข้าถึงตลาดฮังการี คือการเริ่มธุรกิจในเมืองหลวงอย่างกรุงบูดาเปสต์ก่อน และการมีพันธมิตรผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และเครือข่ายการขนส่งสินค้าในท้องถิ่นที่เชื่อถือได้ โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า SIRHA BUDAPEST เป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการสำรวจตลาดยุโรปกลาง นำเสนอสินค้า และเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าที่มีศักยภาพ
เนื่องจากฮังการีเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป การนำเข้าสินค้าอาหารจึงต้องใช้ระเบียบของสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อนพิจารณาส่งออกมายังฮังการี อาทิ
- ระเบียบทั่วไปว่าด้วยอาหาร (General Food Law) ของสหภาพยุโรป (Regulation (EC) No 178/2002 of 28 January 2002)
- ระเบียบว่าด้วยฉลากสินค้าอาหาร (Regulation (EC) No. 1169/2011)
- ระเบียบว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ และของเสียที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ (Directive 94/62/EC)
- ระเบียบว่าด้วยสุขอนามัยอาหาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องการจัดการอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ (Commission Regulation (EU) 2021/382) เป็นต้น
- ด้านอัตราภาษี ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบว่าสินค้าของตนอยู่ภายใต้พิกัดศุลกากร (Harmonized Code) ประเภทใด แล้วนำข้อมูลดังกล่าวไปตรวจสอบอัตราศุลกากรในเว็บไซต์สำนักงานศุลกากรของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ประเทศฮังการีมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยทั่วไป 27% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ฮังการีก็มีอัตรา VAT พิเศษสำหรับสินค้าและบริการ บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการผลิตอาหารและ HORECA ดังนี้
- อัตราภาษี 18% สำหรับอาหารบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธัญพืชและแป้ง และอาหารที่ห่อกลับบ้านหรือส่งถึงบ้าน (Take Away)
- อัตราภาษี 5% สำหรับอาหารประเภทเนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีก นมสด และไข่ รวมทั้งภาคบริการที่เกิดขึ้นในร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง
- ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าอาหารมิใช่สินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ผู้ประกอบการจะต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกําเนิดสินค้า (Certificate of Origin) จากกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อใช้ในการรับรองสินค้าของผู้ส่งออกว่าส่งออกมาจากประเทศใด และปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎที่ว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ (Certificate of Free Sale) และใบอนุญาตการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
- ด้านคุณภาพสินค้า ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาการใช้สารกันบูดหรือวัตถุเจือปนอาหาร โดยศึกษาข้อมูลได้จากระเบียบสหภาพยุโรป เช่น Regulation (EC) No 178/2022 ว่าด้วยความปลอดภัยของอาหารและการใช้สารกันเสีย (Preservative) ในผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสินค้ามายังตลาดสหภาพยุโรปจำนวนหนึ่ง สคต. จึงแนะนำว่า สินค้าไทยที่ส่งออกมาตลาดสหภาพยุโรป ควรมีอายุอย่างน้อย 1.5 ปี เนื่องจากต้องเผื่อเวลาสำหรับการขนส่งทางเรือ และการเก็บสินค้าในโกดังด้วย