จากผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศโคลอมเบียที่ดำเนินการโดย NIQ พบว่า ห้างร้านและซูเปอร์มาร์เก็ตมียอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มียอดขายรวมเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20.8 ซึ่งห้างร้านหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดไม่เกิน 500 ตารางเมตร สามารถเพิ่มยอดการจำหน่ายสินค้าได้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของยอดการจำหน่ายทั้งหมด ในขณะที่ ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่เฉลี่ย 1,000 – 2,500 ตารางเมตร มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่เฉลี่ย 2,500 – 5,000 ตารางเมตร มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.5 และซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลาง ที่มีพื้นที่เฉลี่ย 500 – 1,000 ตารางเมตร มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ทั้งนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กในโคลอมเบียยังคงสามารถแข่งขันกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นได้ตรงจุด สะดวกต่อการเข้าถึง และให้บริการสินค้าสินค้าที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่สามารถให้บริการสินค้าที่หลากหลาย และผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดการผลิต (economies of scale) ที่ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้ รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่มีความสามารถในการเพิ่มจำนวนสาขาการจำหน่ายสินค้า การทำการตลาด และมีการให้ข้อเสนอหรือส่วนลดต่าง ๆ แก่ผู้บริโภคผ่านการเป็นสมาชิก
การจัดจำหน่ายสินค้าในช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของยอดการจัดจำหน่ายสินค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดในโคลอมเบีย ทั้งนี้ E-Commerce ในโคลอมเบียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นของชาวโคลอมเบีย และพฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวโคลอมเบียที่นิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมถึงการให้บริการแพลตฟอร์มขายสินค้าทางอออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น มีความหลากหลายของสินค้า และราคาสินค้าที่ผู้บริโภคส่วนใหหญ่สามารถจ่ายได้
จากข้อมูลการศึกษาของ NIQ ณ เดือนมีนาคม 2566 พบว่า ยอดการจำหน่ายสินค้าอาหาร โดยรวมในประเทศเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 โดยยอดจำหน่ายสินค้า (อาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์) ของซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีก เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ทั้งนี้ สินค้าที่เน่าเสียง่ายเป็นสินค้าสำคัญในการบริโภคของชาวโคลอมเบีย มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.2
สถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในโคลอมเบีย (ร้อยละ 12.41 ณ เดือนมีนาคม 2566) และเงินเปโซโคลอมเบียที่มูลค่าลดลง เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปบริโภคสินค้า Private brand หรือ house brand เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.9 โดยปัจจุบันสินค้า Private brand ในโคลอมเบียมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของสินค้าที่วางจำหน่ายทั้งหมด การบริโภคภายในประเทศในปี 2565 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21 ในทุกช่องทางการบริโภค หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 135,000 ล้านเปโซโคลอมเบีย โดยในส่วนของยอดจำหนายสินค้าของซูเปอร์มาเก็ตภายในประเทศ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 53 ล้านเปโซโคลอมเบีย
บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.
การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของยอดการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารในโคลอมเบีย เป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารของไทย แม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยและโคลอมเบียยังมีมูลค่าไม่สูงมาก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าไปโคลอมเบีย คิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.17 ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากโคลอมเบีย คิดเป็นมูลค่า 2.3 พันล้านบาท นำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.24 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและโคลอมเบียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยส่งออกไปยังโคลอมเบียสูงที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผักกระป๋องและผักแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อย่างไรก็ดี สถานการณ์เงินเฟ้อและราคาพลังงาน ส่งผลกระทบต่อการบริโภคอาหารของชาวโคลอมเบีย โดยผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าที่มีราคาถูกลง ส่งผลให้ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ของไทยดังกล่าวลดลง ในขณะที่การส่งออก ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.33 และ 250.92 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในส่วนของสินค้าเกษตรกรรม ไทยมีการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในส่วนของ ข้าวโพด ข้าว ผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.33, 8.13 และ 0.37 ตามลำดับ
ชาวโคลอมเบียให้ความนิยมรับประทานอาหารไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าเครื่องปรุง และซอสปรุงอาหารไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย โดยหนึ่งในอาหารจานด่วนที่ชาวโคลอมเบียให้ความนิยมในการรับประทาน คือ ผัดไทย นอกจากนี้ โคลอมเบียยังเป็นประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ไปท่องเที่ยวในโคลอมเบียเพิ่มขึ้นทุกปี โดยนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกามีจำนวนมากที่สุด ทำให้สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต มีการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากทุกปี และในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก และร้านอาหาร มีการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและเมนูอาหาร โดยสินค้าอาหารไทยเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่ยอมรับด้านรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภคจากทั่วโลก
ประชากรโคลอมเบียกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด หรือจำนวน 49 ล้านคน อยู่ในกลุ่มผู้บริโภคชั้นกลาง – ล่าง ทำให้สินค้า Private brand ได้รับควานิยมอย่างมากจากผู้บริโภคในกลุ่มนี้ และจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตสินค้าอาหารของไทย เนื่องจากไทยเป็นมีความสามารถและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าอาหารที่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและมาตรฐานในระดับโลก และโคลอมเบียมีการนำเข้าสินค้าอาหารเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ต่อปี โดยสินค้าธัญพืช เป็นหนึ่งในสินค้าอาหารที่มีการนำเข้ามากที่สุด
____________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มิถุนายน 2566