สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลกระทบต่อการค้าโลก รวมถึงการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ จากรัสเซียและยูเครน ของหลายประเทศ เปรูเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าปุ๋ย ในช่วงก่อนเกิดสงครามฯ เปรูนำเข้าปุ๋ยเคมี (synthetic fertilizers) จากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมด และภายหลังจากเกิดสงครามฯ เปรูสามารถนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียได้เพียงร้อยละ 40 จากการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมดในปัจจุบัน และมีการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 29) จากจีน (ร้อยละ 21) ตามลำดับ
ในช่วง 4 เดือนแรกของสถานการณ์สงครามฯ การนำเข้าปุ๋ยของเปรูลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูกสินค้าเกษตรกรรมของเปรู ปริมาณปุ๋ยที่มีไม่เพียงพอในประเทศส่งผลให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าของราคาเฉลี่ย ทั้งนี้ ราคาปุ๋ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตปุ๋ย ได้แก่ ในช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ราคาเฉลี่ยของปุ๋ยในเปรู อยู่ที่ 250 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการระบาดอย่างรุนแรง ราคาเฉลี่ยของปุ๋ยในเปรู อยู่ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน และในช่วงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาเฉลี่ยของปุ๋ยในเปรู อยู่ที่ 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน นอกจากนี้ การเพาะปลูกสินค้าเกษตรกรรมของเปรูได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างมาก และพื้นที่หลักที่ทำการเกษตรกรรม (13 แห่ง จากทั้งหมด 24 แห่ง) จำเป็นต้องลดขนาดพื้นที่เพาะปลูกลง เนื่องจากการขาดแคลนปุ๋ยภายในประเทศ จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาการเกษตรและการชลประทาน (Ministry of Agrarian Development and Irrigation: MIDAGRI) ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 พบว่า พื้นที่เกษตรกรรมของเปรูลดลงประมาณร้อยละ 4 ปริมาณผลผลิตสำคัญทางการเกษตรของเปรู อาทิ มันฝรั่ง ควินัว ลดลงร้อยละ 30
วิกฤติการขาดแคนปุ๋ยในเปรูยังเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของเปรูเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 8.45 ในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปี ของเปรู ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรยังคงมีการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เลือกที่จะลดการใช้ปุ๋ยหรือลดพื้นที่ทำการเกษตร ทั้งนี้ การนำเข้าปุ๋ยของเปรูเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เนื่องจากราคาปุ๋ยที่เริ่มลดลงอย่างช้า ๆ
ตั้งแต่ปี 2565 รัฐบาลเปรูพยายามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความต้องการใช้ปุ๋ยโดยเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก) มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง กระทรวงการพัฒนาการเกษตรและการชลประทาน (MIDAGRI) ได้จัดตั้งสมาคมผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยแห่งชาติ (National Guild of Manufacturers of Organic Fertilizers and Fertilizers: GRENTAFO) ซึ่งสมาคมฯ สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์เม็ดแข็งมากกว่า 58,000 ตันต่อเดือน และปุ๋ยอินทรีย์เหลว ประมาณ 1,200,000 ลิตรต่อเดือน นอกจากนี้ หอการค้าเปรูของผู้ผลิตและผู้ค้าปุ๋ยอินทรีย์ (the Peruvian Chamber of Producers and Marketers of Organic Fertilizers: CAPEFO) ได้เพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็น 160,000 ตัน ที่ผลิตมากขึ้น (Customization) และยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงรองรับระบบการเกษตรสมัยใหม่ (Smart farming) ซึ่งต้องการปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะ (Tailor-made) ทั้งยังสอดรับกับสถานการณ์ที่ราคาปุ๋ยอาจผันผวนในทิศทางปรับสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการใช้ปุ๋ยลดลงแต่ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้นจากการได้รับสารอาหารตรงตามความต้องการจริง ซึ่งการใช้ปุ๋ยที่มีสูตร ปริมาณ และเวลาเหมาะสมจะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มยอดขายและลดภาระการสต็อกสินค้า ในการนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดสินค้าปุ๋ยไปยังเปรู สามารถติอต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก จากโรงงานประมาณ 50 แห่งในเปรู โดยวัตถุดิบในหารผลิตส่วนใหญ่มาจากสาหร่ายทะเลภายในประเทศ
ภาครัฐบาลมีแผนในการให้การอุดหนุนเกษตรกรรายย่อย และการเพิ่มโรงงานผลิตปุ๋ยยูเรียในประเทศ (ทางชายฝั่งตอนใต้ของเปรู) ที่คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 ปี ในการก่อสร้างโรงงานและเริ่มการผลิต ทั้งนี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขเกษตรกรรมแห่งชาติ (National Agrarian Health Service: Senasa ) ได้ริเริ่มดำเนินแผนงานเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้า การผลิต การขายและการจำหน่ายปุ๋ยภายในเปรู
ปัจจุบัน การนำเข้าปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยอินทรีย์รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีสามารถดำเนินการได้เสรีมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองจาก Seanasa ทำให้ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ภายในประเทศมีความกังวล เกี่ยวกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากแผนงานการควบคุมการนำเข้า การผลิต การขายและการจำหน่ายปุ๋ยภายในเปรูของ Senasa ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลให้ผู้นำเข้า ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบด้านสาธารณสุข การเก็บรักษา การขาย และการจัดตั้งร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่าย ทั้งนี้ การดำเนินการตามเงื่อนไขด้านสาธารณสุขเป็นเป็นเงื่อนไขบังคับที่ผู้ค้าจะต้องดำเนินการ มิเช่นนั้นจะไม่สามารถขายสินค้าปุ๋ยในเปรูได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการปุ๋ยจะต้องรายงานผลต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการนำเข้าปุ๋ย รวมถึงสูตรการผลิต ปริมาณการจำหน่าย และรายชื่อผู้ถือหุ้น ทุก 6 เดือน ภายใน 30 วันแรกหลังจากสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือน
บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.
ความต้องการใช้และการผลิตปุ๋ยเคมีในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกในหลายประเทศลดลง ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและภาคอุตสาหกรรม และในส่วนของเปรูเนื่องจากการขาดแคลนปุ๋ยภายในประเทศ ประกอบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้มีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ส่งผลให้หลายประเทศต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีการทยอยขยายพื้นที่เพาะปลูกและสำรองปุ๋ยเพื่อใช้ในประเทศมากขึ้น
จากข้อมูลของ International Fertilizer Association (IFA) พบว่าการใช้ปุ๋ยเคมีทั่วโลก (รวม N+P205+K2O) เพิ่มขึ้นจาก 176 ล้านตันธาตุอาหารในปี 2554 เป็น 202 ล้านตันในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 1.8 ต่อปี ส่วนการผลิตปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นจาก 190 ล้านตันเป็น 218 ล้านตันในช่วงเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.7% ต่อปี โดยจีนเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่สุดของโลก (ข้อมูลปี 2563) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.5 และร้อยละ 23.4 ของการบริโภคและการผลิตปุ๋ยเคมีในตลาดโลก ตามลำดับ ขณะที่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) มีสัดส่วนการบริโภคและการผลิตสูงสุดประมาณร้อยละ 58 ของการบริโภคและการผลิตปุ๋ยเคมีทุกประเภท ประเทศที่มีปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมีมากที่สุดคือ รัสเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 15.7 ของปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมีในตลาดโลก รองลงมาคือ แคนาดา จีน เบลารุส และสหรัฐฯ ตามลำดับ ส่วนประเทศที่นำเข้าปุ๋ยเคมีมากที่สุด คือ บราซิล มีสัดส่วนร้อยละ 13.7 ของปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีในตลาดโลก รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และจีน ตามลำดับ สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 50 ของโลก (เพียงร้อยละ 0.1) และเป็นผู้นำเข้าอันดับ 7 ของโลก (ร้อยละ 2.6)
โดยในส่วนของเปรู ปุ๋ยยูเรีย (ammonium nitrate) เป็นปุ๋ยหลักที่เปรูนำเข้า โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของปุ๋ยที่นำเข้าทั้งหมด รองลงไปคือ ปุ๋ย diammonium phosphate (ร้อยละ 18) ปุ๋ย mono ammonium phosphate (phosphorite) (ร้อยละ 13) ปุ๋ย triple superphosphate (ร้อยละ 9) ปุ๋ย potassium (ร้อยละ 6) ปุ๋ย zinc (ร้อยละ 3) และ ปุ๋ย boron (ร้อยละ 2) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เปรูยังไม่มีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากไทย ซึ่งความต้องการปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของเปรู และการนำเข้าปุ๋ยและวัตถุดิบการผลิตที่เสรีมากขึ้น จะเป็นโอกาสของไทยในการส่งปุ๋ยหรือวัตถุดิบไปยังเปรู ซึ่งการสร้างเครือข่ายกับผู้นำเข้า ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายในเปรู มีความสำคัญมาก เนื่องจากจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของไทยไปเปรูมีความสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้กลยุทธ์เข้าถึงลูกค้า อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยสั่งตัด ในรูปแบบของการลงทุนใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ดินเพื่อพัฒนาปุ๋ยสูตรเฉพาะรายพื้นที่ ที่สามารถเพิ่มคุณสมบัติของปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรในลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (Customization) และยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงรองรับระบบการเกษตรสมัยใหม่ (Smart farming) ซึ่งต้องการปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะ (Tailor-made) ทั้งยังสอดรับกับสถานการณ์ที่ราคาปุ๋ยอาจผันผวนในทิศทางปรับสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการใช้ปุ๋ยลดลงแต่ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้นจากการได้รับสารอาหารตรงตามความต้องการจริง ซึ่งการใช้ปุ๋ยที่มีสูตร ปริมาณ และเวลาเหมาะสมจะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มยอดขายและลดภาระการสต็อกสินค้า ในการนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดสินค้าปุ๋ยไปยังเปรู สามารถติอต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
____________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มิถุนายน 2566