1. สถานการณ์ปัจจุบัน

ขนาดของตลาดค้าปลีกเสื้อผ้าสำหรับทารกและเด็กในประเทศญี่ปุ่น ในปี 2021 (ตามมูลค่าการค้าปลีก) คาดว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 811.8 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 3.1% ของปีก่อนหน้า ตลาดยังคงทรงตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความผันผวนที่ส่งผลให้ขนาดของตลาดเพิ่มขึ้นและลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 ตลาดได้มีขนาดลดลงอย่างมาก อันเนื่องมาจาก การแพร่กระจายของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในปี 2021 แม้ว่าจะมีการฟื้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่กลับสู่ระดับของปี 2019

แม้ว่าจำนวนการเกิดของเด็กในญี่ปุ่น จะมีจำนวนลดลง แต่ขนาดของตลาดก็ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย เนื่องจากจำนวนเงินที่ใช้สำหรับซื้อสิ่งของให้เด็กที่เพิ่มขึ้น และร้านค้าเสื้อผ้าเด็กเฉพาะทางและร้านเสื้อผ้าลำลองต่างมีการรับมือกับวิกฤตค่าครองชีพสูงได้เป็นอย่างดี

ในปี 2022 ราคาของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากผลกระทบของสภาพสังคม ทั้งเงินเยนที่อ่อนค่า และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น แนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปแม้หลังปี 2023 ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่องบประมาณครัวเรือน นอกจากค่าอาหารแล้ว ค่าสาธารณูปโภค ราคาน้ำมัน และการปรับขึ้นราคาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อการซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภคไม่น้อย

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทในตลาดเสื้อผ้าเด็กและทารกกำลังแก้ไขและทบทวนมาตรการรับมือกับการขึ้นราคานี้ มีการทบทวนสินค้าคงคลังของผลิตภัณฑ์ มาตรฐานสินค้า ช่วงเวลาของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาแบรนด์ส่วนตัว (PB) และมุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีการขายตามความเหมาะสม การแยกจำหน่ายเป็นรายผลิตภัณฑ์และการจำหน่ายแบบแพ็ค ไปพร้อมกันกับการคิดค้นวิธีการเพื่อป้องกันไม่ให้มูลค่าสินค้าลดลง

ขนาดของตลาดค้าปลีกเสื้อผ้าสำหรับทารกและเด็กในประเทศในปี 2022 คาดว่าจะเติบโตเล็กน้อยเป็น 820 พันล้านเยน หรือเพิ่มขึ้น 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสาเหตุหนึ่งของการฟื้นตัว คือ การกลับสู่สภาวะปกติหลังวิกฤตโควิด แต่ไม่สามารถคาดหวังการเติบโตจากปีที่ผ่านมาได้มากนัก เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์ทางสังคม และผลกระทบของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าแนวโน้มอัตราการกำเนิดทารกที่ลดลงยังคงดำเนินต่อไปในญี่ปุ่น ทำให้ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับตลาดที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด แต่คาดว่ายังรักษาระดับได้

ตลาดค้าปลีกเสื้อผ้าสำหรับทารกในรายงานฉบับนี้หมายถึง เสื้อผ้าสำหรับทารกและเด็ก รวมถึงเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ผลิตสำหรับทารกและเด็ก

  • เด็กช่วงอายุระหว่าง 2 ถึง 6 ปี ขนาด 80 ถึง 120 ซม.
  • เด็กช่วงอายุระหว่าง 7 ถึง 14 ปี ขนาด 120 ถึง 160 ซม.

ทั้งนี้ ไม่รวมสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นอกเหนือจากเสื้อผ้า

  1. แนวโน้มตลาด

จากผลการสำรวจโดย Market Insights Reports[1] ทราบว่า เครื่องแต่งกายสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ทำจากผ้าฝ้าย ซึ่งซักง่ายและไม่หดตัวหรือสีซีดจาง ผู้ปกครองจะต้องชอบสัมผัสที่นุ่มเป็นธรรมชาติของผ้าฝ้ายสำหรับลูกๆ โดยประเภทของเสื้อผ้าที่ได้รับความนิยม แบ่งเป็นสัดส่วนได้คือ เสื้อผ้าทางการ (30%) ลำลอง (50%) และกึ่งทางการ (20%) ตามเทรนด์และความต้องการในปัจจุบัน ชุดลำลอง (Casual) เป็นหนึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองใส่ใจในสุขภาพของบุตรหลานมากขึ้น และนิยมเสื้อผ้าที่เบาสบายและสวมใส่ง่ายตลอดวัน

สัดส่วนหากจำแนกตามเพศพบว่าหมวดหมู่ของเด็กผู้ชาย (60%) และเด็กผู้หญิง (40%) สาเหตุคือสัดส่วนการกำเนิดของเด็กผู้ชายในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมามากกว่าเด็กผู้หญิงทั่วโลก

ช่องทางการกระจายสินค้าแบ่งเป็นการขายตรง (40%) โดยส่วนมากเป็นเชิงพาณิชย์และเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากการรุกทางอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นและการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องโดยเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ อาทิ Amazon, Flipkart และ Alibaba การขายแบบ B2C (60%) เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าเฉพาะทาง และร้านค้าปลีกออนไลน์

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเต็มใจที่จะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้ได้ความพึงพอใจสูงสุดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง และทำการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์

  1. สถิติ

แผนภาพ 1 : แผนภาพแสดงมูลค่าการค้าปลีกเสื้อผ้าทารก-เด็กภายในญี่ปุ่น

ระหว่างปี 2017-2022 (หน่วย ร้อยล้านเยน)

สถานการณ์ตลาดเสื้อผ้าทารกและเด็กในญี่ปุ่น

หมายเหตุ 1 มูลค่าราคาปลีก

หมายเหตุ 2 มูลค่าปี 2022 เป็นการคาดการณ์

ตาราง 1 : ตารางแสดงสถิติการนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าทารกในญี่ปุ่น ปี 2020-2022 (HS 6111)

สถานการณ์ตลาดเสื้อผ้าทารกและเด็กในญี่ปุ่น

จากสถิติในตารางด้านบนจะเห็นได้ว่ามูลค่าการนำเข้ารวมของสินค้าเสื้อผ้าเด็กทารกในญี่ปุ่นของปี 2022 สูงขึ้นกว่าช่วง 2020 และ 2021 ที่อยู่ในช่วงได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด แต่การนำเข้าจากจีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้ามากเป็นอันดับหนึ่งกลับลดน้อยลง เช่นเดียวกับการนำเข้าจากเวียดนาม แคนาดา และโปแลนด์

 

ตาราง 2 : ตารางแสดงมูลค่ารายจ่ายครัวเรือนสำหรับเครื่องนุ่งห่มรายเดือนของปี 2020

     ช่วงอายุหัวหน้าครัวเรือน

รายจ่าย (เยน)

 

(สามี)

อายุ 25-29

 

(สามี)

อายุ 30-34

 

(สามี)

อายุ 35-39

 

(สามี)

อายุ 40-44

 

(สามี)

อายุ 45-49

①เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 9,685 10,739 11,876 12,469 13,309
②เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเด็ก 2,255 2,514 3,034 2,159 1,427
สัดส่วน ①/② (%) 23.3% 23.4% 25.5% 17.3% 10.7%

ที่มา : การสำรวจครัวเรือนของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารประเทศญี่ปุ่น ปี 2020

แม้ว่าสถิตินี้ไม่ระบุถึงช่วงอายุของเด็ก แต่สามารถเห็นได้ว่าราคาและเปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าสำหรับเด็กจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุของผู้ปกครอง โดยค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มหัวหน้าครัวเรือนที่มีอายุระหว่าง 35 ถึง 39 ปีซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด

 

  1. การนำเข้าและการกระจายสินค้า

4.1  ช่องทางการจำหน่าย

ช่องทางการกระจายสินค้ามีรายละเอียดดังนี้

 

สถานการณ์ตลาดเสื้อผ้าทารกและเด็กในญี่ปุ่น

ช่องทางการกระจายสินค้าโดยหลักคือ จากโรงงานสู่พ่อค้าคนกลางและต่อไปยังจากร้านค้าสู่ผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภค จะมีช่องทางในการซื้อจากห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านจำหน่ายอุปกรณ์เสื้อผ้าเด็ก หรือร้านที่แบรนด์จัดหน้าร้านขายโดยตรง ร้านค้าที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแนะนำสินค้าในร้าน หรือแนวทางการค้าแบบ E-commerce คือการซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ

แนะนำร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะเด็กและทารกที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น

  1. ร้าน Akachanhonpo

จำหน่ายสินค้าหลากหลายตั้งแต่เสื้อผ้าเด็กอ่อน – รถเข็น รวมถึงเครื่องใช้เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กครบวงจร มีราคาจำหน่ายอยู่ในระดับปานกลาง

  1. ร้าน Nishimatsuya

จำหน่ายสินค้าทารก และเด็กเป็นจำนวนมาก มีร้านค้าครอบคลุมทั่วประเทศ มีจุดเด่นคือ สินค้าที่มีราคาย่อมเยา

  1. ร้าน Miki House

เป็นร้านจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าเด็กและเครื่องใช้เด็ก ที่เน้นคุณภพ รวมถึงสไตล์ที่ทันสมัย มีราคาค่อนข้างสูง มีจำนวนสาขาไม่มากนัก มักกระจายตัวอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

5. ผลกระทบต่อไทย/บทวิเคราะห์

– การเปลี่ยนแปลงทางประชากรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับตลาดเสื้อผ้าเด็ก อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของโซเชียลมีเดียที่มีต่อคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม อีกทั้งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วนำไปสู่การขยายธุรกิจค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก นอกจากช่องทางการค้าแบบดั้งเดิมแล้ว การจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ กำลังขยายตัว

– โครงสร้างของจำนวนประชากรเด็กที่ลดลง ส่งผลให้จำนวนการบริโภคสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าเด็กอาจมีจำนวนลดลงได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้คนมีจำนวนบุตรลดลง จึงมีกำลังซื้อต่อเด็กหนึ่งคนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องซื้อหลายชุด ทำให้สามารถซื้อสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น และราคาสูงขึ้นได้

– ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตผ้ารายใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับการตัดเย็บเสื้อผ้าเด็กและส่งออก ในอนาคต แนวโน้มของการจำหน่ายเสื้อผ้าเด็กจะไม่ได้จำกัดเพียงแค่มีราคาต่ำเท่านั้น การศึกษาและเพิ่มคุณค่าของสินค้า รวมถึงวางตำแหน่งแบรนด์จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ในเชิงกลยุทธ์เพิ่มมากขึ้น

 

 

อ้างอิง

https://www.yano.co.jp/press-release/show/press_id/3244

หมายเหตุ 1: ระยะเวลาสำรวจ: ธันวาคม 2565 ถึง มีนาคม 2566

หมายเหตุ 2: วัตถุประสงค์ในการวิจัย: ผู้ค้าปลีก ค้าส่ง ผู้ผลิต และบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในตลาดเสื้อผ้าเด็กและทารก

หมายเหตุ 3: ระเบียบวิธีวิจัย: สัมภาษณ์โดยตรงโดยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญและแบบสำรวจทางไปรษณีย์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา

[1] ผลการสำรวจโดย Market Insights Reports : https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000000263.000084684.html

thThai