อาหารไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://www.51hwzy.com/lehuotaiguo/2019-04-02/3378.html

 

เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนและมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ  ทั้งแม่น้ำ ทะเล ภูเขา และทะเลสาบ ทำให้รูปแบบของอาหารไทยแฝงกลิ่นอายของพืชเขตร้อนที่หลากหลายซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย รูปแบบหลักของอาหารไทยคือการใช้เครื่องปรุงรสจากพืชเขตร้อนที่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และส่งผลต่อรสชาติโดยรวมของอาหาร เช่น โหระพา พริกไทย ตะไคร้ ข่า ใบมะนาว ขิงทราย มะนาวลูกเล็ก และมะขามเปียก ซึ่งเป็นพืช อีกทั้ง อาหารไทยค่อนข้างไม่มีขอบเขตในการกำหนดประเภทของอาหารอย่างชัดเจน มีเมนูมากมายของอาหารไทยที่นำผลไม้มาประกอบอาหาร ทานคู่กับข้าว หรือใส่ในอาหารคาว ซึ่งในสายตาคนจีนนั้น ผลไม้ไม่สามารถนำมาทานคู่กับข้าวได้ อย่างข้าวเหนียวมะม่วงน้ำกะทิ หรือการนำมะนาวผ่าซีก ถั่วงอก แตงกวา และผักกาดมาเป็นองค์ประกอบในเมนูอาหารคาว

 

แม้ว่าอาหารไทยจะเป็นที่รู้จักและเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน แต่ร้านอาหารไทยยังถูกจัดอยู่ในตลาดแบบเฉพาะกลุ่มหรือ Niche market ในตลาดจีน มีราคาที่ค่อนข้างแพงกว่าอาหารประเภทอื่น ๆ ในท้องตลาด แต่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งรสชาติแบบไทยสามารถทำให้ร้านอาหารไทยเข้ามาตีตลาดในประเทศจีนได้ ในช่วงเริ่มแรก ร้านอาหารไทยในจีนมีจำนวนไม่มากนัก ถือเป็นอาหารเฉพาะกลุ่ม หาทานยาก และวางตำแหน่งของตัวเองในระดับ Hi-end ทำให้ร้านต้องทิ้งคุณลักษณะบางประการของอาหารไทยที่ดูบ้าน ๆ ออกเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเมนูอาหาร เช่นใช้การตกแต่งร้านที่หรูหรา อุปกรณ์ทานอาหารประณีต การบริการที่เอาใจใส่ และอาหารไทยที่แปลกใหม่สำหรับชาวจีน โดยในปี 2543 ร้านอาหารไทยอย่างร้าน Banana Leaf (广州蕉叶) และร้าน Taixiangmi (泰香米) มีราคาอาหารต่อคนเฉลี่ยสูงถึง 200 หยวน ด้านร้านอาหารไทยในเซี่ยงไฮ้ที่ราคาสูง นิยมนำอาหารญี่ปุ่นและฝรั่งเศสมาดัดแปลง ใช้เชฟชาวไทย และวัตถุดิบนำเข้ามาสร้างมูลค่าให้อาหาร ทำให้สามารถตั้งราคาได้สูงถึง 300 – 900 หยวนต่อคน ในเวลาต่อมา อาจเนื่องมาจากร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงยึดส่วนแบ่งการตลาดแนว Hi-end ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เลือกวางตำแหน่งของร้านค้าโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่มีระดับรายได้รองลงมาแต่ยังมีพื้นที่ให้เข้าไปแข่งขันได้

 

รูปแบบร้านอาหารไทยในประเทศจีนจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

 

  1. ร้านอาหารไทยแบบดั้งเดิม

ในช่วงเข้าตลาดจีนช่วงแรก จะเป็นรูปแบบร้านอาหารไทยดั้งเดิม มักแบ่งย่อยประเภทอาหาร เช่นร้านขายอาหารไทย ร้านขนมไทย ร้านชาไทย หม้อไฟไทย หรือร้านเหล้าไทยประมาณร้อยละ 90 ของเมนูตั้งแต่สลัด ซุป ของทานเล่น ผัด และอาหารหลักล้วนเป็นอาหารไทยคลาสสิก และเกินครึ่งของชื่ออาหารจะมีคำว่าไทยนำหน้า แต่ถึงแม้ว่าเป็นร้านอาหารไทยแบบดั้งเดิม ก็จะมีเมนูอื่น ๆ ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ปอเปี๊ยะกุ้งสดเวียดนาม และแกงกะหรี่ เนื้อซี่โครง มาขายร่วมกับเมนูอาหารไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของร้านอาหารท้องถิ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเมื่อออกไปนอกพื้นที่ โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็กที่มักเพิ่มเมนูผัดสไตล์จีน ๆ เข้าไปในเมนูของร้าน เนื่องจากอาหารไทยเองยังไม่เป็นที่ต้องการของคนจีนมากนัก จึงต้องเพิ่มเมนูอาหารจีนที่คนจีนมักชอบทานมาเสริมเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

 

  1. ร้านอาหารฟิวชั่น

ร้านอาหารไทยยุคหลัง ๆ พยายามปรับตัวให้เข้ากับอาหารท้องถิ่นของจีน ปรับรสชาติให้เข้ากับรสนิยมการทานและถูกปากชาวจีนมากขึ้น มักใช้ไทยมาเป็นเพียงลูกเล่น โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นไทยเพียง ร้อยละ 10-30 และเป็นขนมสไตล์จีนร้อยละ 70 – 90 เช่นร้านชานม Milk Plus มีเมนูชานมแบบไทยเพียง 1 เมนู โดยใส่ทุเรียน มะม่วง และผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ เข้าไปในชานมเท่านั้น หรือร้าน Thaizhu (泰竺) ร้อยละ 90 ของเมนูเครื่องดื่มจะมีคำนำหน้าเป็นไทยหรือลาว เนื่องจากคนจีนบางส่วนอาจไม่ทราบถึงความแตกต่างของไทยและลาว และใช้ถุงใสในการบรรจุเครื่องดื่ม ซึ่งเมนูเครื่องดื่มแบบไทยที่ขายในจีนนั้น มักไม่มีขายในประเทศไทย สามารถกล่าวได้ว่าฉลากอาหารไทยเป็นเพียงลูกเล่นเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าชาวจีนเพียงเท่านั้น โดยร้านเครื่องดื่มของไทยโดยทั่วไปจะมีช่วงพีคเพียงช่วงเดียว และผ่านไปอย่างรวดเร็ว

 

อาหารไทยในตลาดจีน

อาหารไทยในตลาดจีน

 

และเมื่อค้นหา “หม้อไฟสไตล์ไทย” ในเว็บไซต์ของจีนนั้น ร้านที่ได้รับความนิยมมักไม่ใช่แบรนด์ของไทย เป็นร้านหม้อไฟของจีนที่มีเพียงน้ำจิ้มแบบไทย ซึ่งร้านอาหารจีนลักษณะนี้แย่งส่วนแบ่งการตลาดของร้านอาหารไทยบางส่วนไป

 

เมื่อพิจารณาจำนวนร้านอาหารไทยแบ่งตามเมืองนั้น ร้านอาหารไทยจะกระจายตามเมืองใหญ่ของประเทศจีน เมืองที่มีจำนวนร้านอาหารไทยเยอะที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ฉงชิ่ง ตามลำดับ

 

อาหารไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://www.foodaily.com/articles/30943

ซึ่งกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่นิยมรับประทานอาหารไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางถึงกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงมาก ซึ่งทำให้ทราบถึงการวางตำแหน่งทางการตลาดของร้านอาหารไทยในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เน้นกลุ่มเจาะลูกค้ากลุ่มที่มีจำนวนมากค่อนข้างมากในประเทศจีน และร้านอาหารไทยในปัจจุบันไม่เน้นรูปแบบที่หรูหราและเข้าถึงยากเหมือนสมัยแรกเริ่มเจาะตลาดจีน

 

อาหารไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://www.foodaily.com/articles/30943

 

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

อาหารไทยเป็นอาหารที่ชาวจีนส่วนมากรู้จักและชื่นชอบ โดยร้านอาหารไทยเริ่มเข้ามายังตลาดจีนเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เข้ากับความชอบของชาวจีน เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และสู้กับคู่แข่งในตลาดได้นั้น ในปัจจุบัน ร้านอาหารไทยจึงปรับเปลี่ยนรสชาติอาหารของไทยให้เข้ากับรสนิยมของชาวจีน และนำเมนูของจีนหรือชาติอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาในเมนูของทางร้าน และร้านอาหารไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ แสดงให้เห็นว่าถึงชาวจีนจะชื่นชอบและรู้จักอาหารไทย แต่ยังคงยึดติดกับรสชาติสไตล์จีน หากผู้ประกอบการไทยต้องการบุกตลาดจีน ควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ๆ อย่างละเอียด และอาจต้องเข้าใจถึงรสนิยม และความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารไทยในรูปแบบของชาวจีน และปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้เข้ากับชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของร้านอาหาร ทั้งนี้ หากต้องการมองหาอาหารไทยที่ใช้วัตถุดิบ การปรุงและมีรสชาติที่ค่อนข้างเป็นไทยแท้อาจพิจารณาเลือกร้านที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

________________________________________________________________________________

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

วันที่ 30 มิถุนายน 2566

 

แหล่งที่มา

https://finance.sina.com.cn/jjxw/2023-03-31/doc-imyntrfk4436148.shtml

https://www.foodaily.com/articles/30943

thThai