สหภาพแรงงานการท่าเรือรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ประกาศวานนี้ (28 มิ.ย.) ว่าจะหยุดงานการให้บริการขนถ่ายสินค้า ณ ท่าเรือในรัฐบริติชโคลัมเบียจำนวนกว่า 30 แห่ง เริ่มวันเสาร์ที่ 1 ก.ค.เป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกสินค้า จากผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนอย่างมาก
โดยคำแถลงจากสหภาพ International Longshore and Warehouse Union Canada (ILWU) เผยว่า พนักงานการท่าเรือในรัฐบริติชโคลัมเบียจำนวนทั้งสิ้นกว่า 7,400 ราย มีมติร้อยละ 99.24 จะทำการประท้วงหยุดงาน หลังการเจรจากับสมาคมนายจ้างการเดินเรือรัฐบริติชโคลัมเบีย (BCMEA) ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพนธ์ 2566 และได้ยุติลงในปลายเดือนมีนาคม โดยปราศจากข้อตกลงคลี่คลายปัญหาใดๆ เนื่องจากพนักงานท่าเรือกล่าวว่า ในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา พนักงานจำนวนมากต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงในการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ นานา เพื่อให้ชาวแคนาดาทั่วประเทศสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยและดีที่สุด
การประท้วงหยุดงานพนักงานสหภาพรอบนี้ เพื่อเรียกร้องข้อตกลงที่ดีขึ้นในประเด็น ดังนี้
- ขอให้ยกเลิกวิธีการจ้างเหมาบริการ (contracting out)
- มีสวัสดิการคุ้มครองดูแลพนักงานการท่าอย่างเป็นธรรม จากการนำระบบการจัดการท่าเรือ (Port Automation) ที่ใช้คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานเพิ่มขึ้น
- ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ด้านสมาคมนายจ้าง BCMEA ยังไม่มีความเห็นของการประท้วงหยุดงานที่กำลังมาถึง แต่แจ้งว่า ทางสหภาพแรงงานและสมาคมฯ จะมีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายเข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกร่วมกันในสัปดาห์หน้า
ด้านศาสตราจารย์ Werner Antweiler อาจารย์จากสถาบันธุรกิจ Sauder มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ในแคนาดา เห็นว่า ผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าและส่งออกในแคนาดาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมูลค่าการขนส่งสินค้าที่ผ่านท่าเรือแวนคูเวอร์และพริ้น-รูเพิร์ต มีมูลค่าประมาณ 800 ล้านดอลลาร์แคนาดาต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของปริมาณการนำเข้าส่งออกทั้งประเทศ
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประท้วงหยุดงานของพนักงานท่าเรือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่ไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า ถึงแม้ว่าการประท้วงครั้งนี้อ้างว่าจะเกิดขึ้นเพียง 72 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีระยะเวลานานกว่านั้นก็ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งไทยและแคนาดาจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์การค้าและร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิด และมีแผนสำรองในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดความเสียหายจากการทำงานได้มากที่สุด
ที่มา https://globalnews.ca/news/9798865/bc-port-cargo-loaders-72-hour-strike-notice
โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา