ธนาคารกลางบังกลาเทศและธนาคารกลางของอินเดียได้บรรลุการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมาชำระค่าสินค้าและธุรกรรมข้ามพรมแดน
แหล่งข่าวรายงานว่า เครื่องมือการทำธุรกรรมใหม่นี้น่าจะเปิดตัวในสัปดาห์ที่สองของเดือนกรกฎาคม 2566
อย่างไรก็ตาม ระบบธุรกรรมหลักๆ จะยังคงใช้สกุลเงินดอลลาร์
ธนาคารกลางบังกลาเทศได้อนุญาตให้ Sonali Bank และ Eastern Bank เปิดบัญชี nostro ใน State Bank of India (SBI) และ ICICI Bank ของอินเดีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าทวิภาคีสกุลรูปี บัญชี nostro หมายถึงบัญชีธนาคารที่รับฝากสกุลเงินต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและธุรกรรมการค้า
นายอาลี เรซา อิฟเตคาร์ กรรมการผู้จัดการของ Eastern Bank Limited กล่าวว่า ธุรกรรมนี้โฟกัสไปที่การค้าสินค้าระหว่างบังกลาเทศและอินเดีย โดยชำระค่าสินค้าระหว่างกันเป็นสกุลเงินรูปีของอินเดีย
ธนาคารกลางของอินเดีย – Reserve Bank of India (RBI) – ได้อนุญาตให้ Eastern Bank ของบังกลาเทศเปิดบัญชี nostro แล้ว ในขณะที่ Sonali Bank ของบังกลาเทศคาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในไม่กี่วันข้างหน้า
แหล่งข่าวจากธนาคารกลางบังกลาเทศเปิดเผยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับการเปิดบัญชี vostro ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารที่ถือโดยธนาคารหนึ่งในนามของธนาคารอื่นในสกุลเงินต่างประเทศนั้นยังไม่ได้รับการพิจารณาในขณะนี้ แต่อยู่ในแผนงานการเจรจาแล้ว
จากข้อมูลของธนาคารกลางบังกลาเทศ ในปีงบประมาณ 2564-2565 บังกลาเทศนำเข้าสินค้ามูลค่าจากทั่วโลกรวม 7.560 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากอินเดียกว่า 1.369 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วงเวลาเดียวกันบังกลาเทศส่งออกสินค้าไปยังอินเดีย มูลค่าเพียง 1.99 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น การค้าโดยรวมระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่าถึง 1.568 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในปีงบประมาณ 2565-2566 ที่กำลังจะมาถึง แนวโน้มการค้าน่าจะไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก
นาย Taskeen Ahmed อดีตประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย-บังกลาเทศ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสำรวจทางเลือกอื่นแทนดอลลาร์สหรัฐเมื่อเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้น และให้ความเห็นว่า การส่งออกไปยังอินเดียคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบังกลาเทศอาจทำธุรกรรมนี้ด้วยสกุลเงินรูปี กล่าวเสริมว่าสินค้าที่จำเป็น รวมถึงอาหาร ควรได้รับความสำคัญก่อน
การริเริ่มการใช้เงินสกุลท้องถิ่น
เมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าระหว่างบังกลาเทศและอินเดียจัดขึ้นที่กรุงเดลี โดยฝ่ายอินเดียเสนอให้ใช้ตากาและรูปีเป็นสื่อกลางในการค้าทวิภาคีระหว่างกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการพึ่งพาเงินดอลล่าร์สหรัฐมากเกินไปท่ามกลางวิกฤตเงินดอลลาร์อย่างรุนแรง ที่ส่งผลกระทบจากการค้าโลกหดตัวและสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ต่อมา ผู้ว่าการธนาคารกลางของทั้งสองประเทศได้พบปะกันระหว่างการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการกลุ่มประเทศ G-20 ที่เมืองเบงกาลูรูเมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2566 และตกลงที่จะเร่งรัดการดำเนินการจัดการการซื้อขายสินค้าแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่น
ผลที่อาจจะกระทบ
สกุลเงินอินเดียยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนั้น บังกลาเทศยังมีการขาดดุลการค้ากับอินเดียมากกว่า 10 เท่า เมื่อมีการนำระบบนี้มาใช้ มีแนวโน้มว่าจะขยายธุรกรรมระหว่างอินเดียและบังกลาเทศออกไปนอกเหนือการค้าสินค้าและขยายไปยังด้านต่างๆ เช่น การเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และการศึกษา เป็นต้น
ท่ามกลางฉากหลังดังกล่าว บังกลาเทศมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นที่จากการซื้อขายในรูปแบบเงินรูปี-ตากา
ในขณะเดียวกันผู้ว่าการธนาคารกลางบังกลาเทศได้ประกาศเปิดตัวบัตรเดบิตใหม่ (Taka Pay Card) สำหรับการทำธุรกรรมในสกุลรูปีและตากา ตามประกาศนโยบายการเงินใหม่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
นอกเหนือจากการทำธุรกรรมในท้องถิ่นแล้วโดยผู้ถือบัตร Taka Pay Card จะได้รับความสะดวกในการใช้จ่ายมูลค่าเทียบเท่า 12,000 เหรียญสหรัฐฯ กับเงินสกุลท้องถิ่นขณะเดินทางไปอินเดีย
นายมุสตาฟิซูร์ เราะห์มาน ผู้ทรงคุณวุฒิของ Center for Policy Dialogue (CPD) เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการทำธุรกรรมทวิภาคีกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยอาจจะจำกัดผลเสียหายโดยการเริ่มจากส่วนน้อยก่อน โดยกล่าวว่า บังกลาเทศอาจเริ่มการค้าทวิภาคีโดยใช้เงินรูปี-ตากาเทียบเท่ากับมูลค่าการส่งออกไปยังอินเดียมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผู้ทรงคุณวุฒิรายนี้ ยังเรียกร้องให้ (หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) ระมัดระวังในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน และกล่าวว่าบังกลาเทศไม่ควรประสบความสูญเสียในแง่นี้ และเสริมว่า การค้าต่างประเทศผ่านการทำธุรกรรมที่อิงกับเงินรูปี เป็นการพัฒนาในเชิงบวก
ความเห็นสำนักงานฯ
- บังกลาเทศเผชิญปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เนื่องจากได้รับจากผลกระทบจากการจ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และกระทบจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีการคว่ำบาตรทางการค้าทำให้ไม่สามารถหาซื้อสินค้าอาหารจากแหล่งผลิตที่มีราคาถูกได้ และประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียนำมาตรการจำกัดปริมาณส่งออกสินค้าอาหาร รวมทั้งการขึ้นภาษีสินค้าอาหาร
- รายได้หลักของบังกลาเทศในรูปสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มาจาก 2 แหล่งใหญ่ ได้แก่ การส่งออกสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป (ประมาณร้อยละ 80) และจากการโอนเงินเข้าประเทศจากแรงงานโพ้นทะเล ซึ่งทั้ง 2 แหล่งรายได้ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
- ผลจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้บังกลาเทศออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการไหลออก เช่น การกำหนด L/C Margin สินค้านำเข้าที่รัฐบาลมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟีอย และเมื่อเงินไหลออกมาขึ้น รัฐบาลถึงกับปรับขึ้น L/C Margin กับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและสินค้าวัตถุดิบที่ใช้อุตสาหกรรมด้วย นอกจากนั้นเมื่อสถานการณ์บีบรัดมากขึ้น รัฐบาลยังจำกัดการออก L/C สินค้าที่จำเป็นต่อระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถ่านหิน น้ำมัน สำหรับป้อนให้กับโรงไฟฟ้า เมื่อโรงไฟฟ้าไม่มีเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องมีการตัดกระแสไฟฟ้าทุกพื้นที่ทั่วประเทศเป็นระยะๆ ส่งผลต่อภาคส่วนต่างๆ โดยรวม ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม การศึกษา สาธารณสุขและเศรษฐกิจการค้า
- ผลจากการกระทบต่อระบบเศรษฐกิจบังกลาเทศ ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและบังกลาเทศช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ลดลงร้อยละ 30.14 การส่งออกลดลง ร้อยละ 33.84 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.33 และลดลงเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้น ข้าว เส้นใยประดิษฐ์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 47) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 50) และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10)
- การค้าระหว่างประเทศของบังกลาเทศยังคงมีปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และคาดว่าจะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ส่งออกทำการค้ากับผู้นำเข้าบังกลาเทศอย่างระมัดระวัง ต้องติดตามทวงถามขั้นตอนการรับมอบส่งมอบสินค้า กำหนดการชำระเงิน และต้องเจรจากับผู้นำเข้าอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสำนักงานฯ ตามที่อยู่ที่ระบุท้ายเอกสารนี้
ที่มา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Pathom Alo, The Business Standard
——————
สคต. ณ กรุงธากา
กรกฎาคม 2566