รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีโดยรวม
ช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน เป็นหน้าท่องเที่ยวของอิตาลีและยุโรป ธุรกิจท่องเที่ยวจึงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในช่วงดังกล่าว หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างกำลังเตรียมการกันอย่างคึกคัก และนักท่องเที่ยวต่างเตรียมจัดกระเป๋าเดินทาง ทำให้บรรยากาศความตึงเครียดต่างๆที่อิตาลีต้องเผชิญหน้าอีกยาวนาน เช่น ปัญหาเรื้อรังอย่างการหลบหนีเข้ามาทางเรือของผู้ลี้ภัยจากทางแอฟริกาเหนือ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ภัยธรรมชาติ ฯลฯ ได้ผ่อนคลายลงระยะหนึ่ง ประกอบกับโรงเรียนปิดเทอมยาว 3 เดือน และบริษัทส่วนใหญ่ปิดกิจการโดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม เพื่อให้พนักงานได้ใช้วันหยุดตามกฎหมาย จึงทำให้เป็นช่วงที่มีการเดินทางมากที่สุด และเพื่อใช้เวลาพักผ่อนในช่วงที่อากาศดีที่สุด ช่วงเดียวที่สามารถเล่นน้ำทะเลได้ แหล่งท่องเที่ยวตามทะเลจึงเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยว
ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวแทนของธุรกิจกว่า 220,000 แห่ง ประกอบด้วยโรงแรม โฮสเทลสำหรับเยาวชน หมู่บ้านและบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว เอเย่นต์ท่องเที่ยว สถานที่ตั้งแคมป์ บาร์ ร้านอาหาร สถานบริการเช่าห้องอาบน้ำและเตียงผ้าใบ ดิสโก้ ท่าจอดเรือ บริการเช่าเรือ เป็นต้น มีคนทำงานมากกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 25 พันล้านยูโรต่อปี อิตาลีเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก (อันดับที่ 7 จากข้อมูลของ Mastercard ปี 2565) และภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 14% ของ GDP ของประเทศ ศิลปะวัฒนธรรมและโบราณสถานยังคงเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากที่สุด
รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
เฉพาะในช่วงฤดูร้อนปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในอิตาลี ประมาณ 68 ล้านคน (เป็นชาวอิตาลี 33 ล้านคน และเป็นชาวต่างชาติ 35 ล้านคน) สร้างรายได้ประมาณ 46 พันล้านยูโร สถานที่ท่องเที่ยวที่คนไปมากที่สุดได้แก่ ทะเล (24%) ตามมาด้วยเมืองขึ้นชื่อทางศิลปะและวัฒนธรรม (15%) หมู่บ้าน/เมืองโบราณ (9%) และภูเขา (11%)
หากในปี 2565 ชาวอิตาลี 3 ใน 4 คน (56%) เลือกจุดหมายปลายทางในประเทศ ส่วนผู้ที่เลือกไปเที่ยวพักผ่อนทั้งในอิตาลีและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 43% และระยะเวลาการเดินทางโดยเฉลี่ยสูงขึ้น (7-13 วัน) โดยจุดหมายปลายทางนอกยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และที่มีการจองมากที่สุด ได้แก่ Sharm El-Sheikh (+53%) Cairo (+39%) Amman (+32%) Tel Aviv (+30%) และ กรุงเทพมหานคร (+26%)อย่างไรก็ตาม ประเทศใกล้เคียง เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรีย สโลวีเนีย สเปน กรีซ และสหราชอาณาจักร ก็เป็นจุดหมายสำหรับการท่องเที่ยวระยะสั้นที่สำคัญเช่นกัน ส่วนโปรตุเกสถูกเพิ่มเข้ามาในปีนี้ เนื่องจากมีกำหนดการจัดวันเยาวชนโลกโดยนครรัฐวาติกัน ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงลิสบอน ระหว่างวันที่ 1-6 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นการเดินทางรวมตัวกันครั้งใหญ่ของเยาวชนจากทั่วโลกเพื่อพบพระสันตปาปา
ค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,130 ยูโรต่อคน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูร้อนปี 2565 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 920 ยูโร สำหรับการเที่ยวในเดือนสิงหาคม (ชาวอิตาลีเพียง 20% เลือกเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็น High season ที่ค่าเดินทางและที่พักราคาสูงสุด) ส่วนการท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคมและกันยายน (27%ของชาวอิตาลี) จะอยู่ที่ 700 ยูโร และเดือนมิถุนายน (46% ของชาวอิตาลี) ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 560 ยูโร เพื่อไม่ต้องลดจำนวนการเดินทางหรือระยะเวลาการเข้าพัก ชาวอิตาลี 1 ใน 2 คนเปิดเผยว่าจะระมัดระวังในการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวให้มากขึ้น และ 1 ใน 3 จะยกเลิกกิจกรรมที่ต้องชำระเงินปลายทาง
ในปี 2565 การเดินทางของชาวอิตาลีมีจำนวนทั้งสิ้น 54,811,000 คน (มีจำนวนการจองห้องพัก 346,966,000 ห้อง) เพิ่มขึ้น (+31.6%) เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่ยังต่ำกว่าค่าของปีก่อนเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 (-23% เมื่อเทียบกับปี 2562) วันท่องเที่ยว 4 วันขึ้นไป กำลังฟื้นตัวเกือบกลับสู่ระดับปี 2562 ในขณะที่วันหยุดสั้น “short break” ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดราชการช่วงเทศกาลสำคัญๆ (1-3 วัน) ยังห่างไกลจากสถานการณ์ก่อนเกิดโรคระบาด (-26%) ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงในเดือนกันยายน 2564 มีคนออกท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น +35.7% เทียบกับปี 2564 (+33.9%) ในปี (37.8% ในปี 2562) การท่องเที่ยวในต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 19.7% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นเลขสามหลัก (+143%) นอกจากนี้ยังมีการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (+18.3%)
2. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
2.1 ดัชนีการบริโภค (Consumption index)
ข้อมูลของสมาพันธ์การค้าอิตาลี (Confcommercio) แสดงให้เห็นว่าในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปี 2565 ดัชนีการบริโภคโดยรวมลดลง -0.2% โดยดัชนีการบริโภคด้านบริการเพิ่มขึ้น +2.6% ส่วนดัชนีการบริโภคด้านสินค้าปรับตัวลดลง -1.2% โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม (+12.0%) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสันทนาการในเวลาว่าง (+9.0%) และเกม ของเล่น อุปกรณ์กีฬาและการตั้งแคมป์ (+1.5%) แม้จะมีแนวโน้มเชิงบวกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสำหรับภาคบริการเหล่านี้ (สันทนาการ โรงแรมและร้านอาหาร) แต่ยังกลับมาไม่เท่ากับปีก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 (ปี 2562)
เดือนพฤษภาคม 2566 สินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น มีดังนี้ หมวดโรงแรมและการทานอาหารนอกบ้าน (+2.4%) หมวดการเดินทาง ได้แก่ รถยนต์ส่วนบุคคล มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น (+11.5%) น้ำมันเชื้อเพลิง (0.0%) ค่าโดยสารเครื่องบิน (+16.6%) หมวดสินค้าและบริการสำหรับดูแลส่วนบุคคล (+0.6%) ส่วนสินค้าและบริการที่ลดลงได้แก่ หมวดสินค้าและบริการด้านสันทนาการ (-0.2%) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (-2.0%) หมวดสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับบ้าน (-1.2%) ได้แก่ ค่าไฟฟ้า (-3.6%) เฟอร์นิเจอร์ ผ้าและสินค้าตกแต่งบ้าน (-0.4%) เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน โทรทัศน์และอุปกรณ์ (-1.4%) และสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ (-3.8%) หมวดสินค้าและบริการด้านการสื่อสาร (-0.8%) เภสัชกรรมและการบำบัด (0.0%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปี 2565
2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Consumer and business confidence)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในเดือนมิถุนายน 2566 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับเพิ่มขึ้นจาก 105.1 จุด มาอยู่ที่ 108.6 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นต่ออนาคต เพิ่มขึ้นจาก 112.6 จุด มาอยู่ที่ 118.4 จุด ความเชื่อมั่นส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นจาก 100.1 จุด มาอยู่ที่ 102.2 จุด ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจาก 100.0 จุด มาอยู่ที่ 102.0 จุด ภาคธุรกิจก่อสร้าง เพิ่มขึ้นจาก 159.4 จุด มาอยู่ที่ 162.5 จุด ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เพิ่มขึ้นจาก 119.8 จุด มาอยู่ที่ 127.6 จุด
ในขณะที่ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับลดลงจาก 108.6 มาอยู่ที่ 108.3 ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ลดลงจาก 101.2 จุด มาอยู่ที่ 100.3 จุด ภาคธุรกิจบริการ ลดลงจาก 104.0 จุด มาอยู่ที่ 103.7 จุด ภาคธุรกิจค้าปลีก ลดลงจาก 111.4 จุด มาอยู่ที่ 110.5 จุด
2.3 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2566 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น +7.6% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 และเพิ่มขึ้น +6.4% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 ทั้งนี้ การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาสินค้าและบริการ ได้แก่ สินค้าพลังงานที่ไม่ได้รับการควบคุม (จาก +20.3% เป็น +8.4%) และในระดับที่น้อยกว่า ได้แก่ อาหารแปรรูป (จาก +13.2% เป็น +11.9%) บริการที่เกี่ยวกับการขนส่ง (จาก +5.6% เป็น +3.8%) สินค้าอื่นๆ (จาก +5.0% เป็น +4.8%) และบริการสันทนาการ ด้านวัฒนธรรม และการดูแลส่วนบุคคล (จาก +6.7% เป็น +6.5%) ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารที่ยังไม่แปรรูป (จาก +8.8% เป็น +9.6%) ราคาของอาหาร ของใช้ในบ้าน และของใช้ส่วนบุคคล มีแนวโน้มชะลอตัวลง (จาก +11.2% เป็น +10.7%) เช่นเดียวกับสินค้าที่ซื้อบ่อย (จาก +7.1% เป็น +5.8%)
2.4 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ว่า ในเดือนเมษายน 2566 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง (-1.9%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 ดัชนีการผลิตเดือนเมษายนลดลงเกือบทุกรายการ ได้แก่ สินค้าทุน (-2.1%) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (2.6%) สินค้าอุปโภคบริโภค (-0.4%) และ สินค้าพลังงาน (-0.3) ในขณะที่ ดัชนีโดยรวมลดลง -7.2% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 (ที่มี 18 วันทำการตามปฏิทิน มากกว่าปี 2565 หนึ่งวัน) สินค้าทุน (-0.2%) สินค้าอุปโภคบริโภค (-7.3%) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-11.0%) และลดลงอย่างมากคือสินค้าพลังงาน (-12.6%)
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ การผลิตรถยนต์ขนส่ง (+5.7%) และการผลิตถ่านหินและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่น (+2.1%) การผลิตเภสัชภัณฑ์ขั้นพื้นฐานและการเตรียมเภสัชกรรม (+0.6%) ส่วนการผลิตที่ลดลงมากที่สุดคืออุตสาหกรรมไม้ กระดาษ และการพิมพ์ (-17.2%) ในการจัดหาพลังงานไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และลม (-13.6%) อุตสาหกรรมการเคมี (-10.9%) อุตสาหกรรมถลุงและผลิตภัณฑ์โลหะ (-10.9%)
2.5 การค้ากับประเทศนอกสหภาพยุโรป (Trade exchange with extra EU)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขการค้าระหว่างกลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรปว่า
ในเดือนพฤษภาคม 2566 การนำเข้าลดลง -4.6% และการส่งออกเพิ่มขึ้น +1.2% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 การส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอุปโภคคงทน (+7.0%) และสินค้าไม่คงทน (+3.4%) และสินค้าขั้นกลาง (+3.3%) ในทางกลับกัน การส่งออกที่ลดลงได้แก่ สินค้าพลังงาน (-9.2%) และสินค้าทุน (-1.8%) ลดลง การนำเข้าที่ลดลงมาจากการหดตัวของการนำเข้าสินค้าพลังงาน (-17.7%) โดยเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 การส่งออกมีการเติบโต +4.1% สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ สินค้าทุน (+16.0%) และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่คงทน (+7.2%) ส่วนการนำเข้ามีแนวโน้มลดลง -13.8% สาเหตุหลักมาจากการนำเข้าพลังงานที่ลดลง (-42.7%)
ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีการส่งออกเพิ่มขึ้นไปยังประเทศคู่ค้าหลักนอกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศ OPEC (+28.8%) จีน (+14.8%) และญี่ปุ่น (+14.7 %) ในทางกลับกัน การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง (-5.8%) ส่วนการนำเข้าจากรัสเซียหดตัวมากที่สุด (-86.5%) รองลงมาคือการนำเข้าจากประเทศในกลุ่ม OPEC (-24.3%) และกลุ่มประเทศ MERCOSUR (-20.2%) ในทางกลับกัน การนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ (+28.7%) อินเดีย (+13.2%) สหรัฐอเมริกา (+7.7%) และตุรกี (+4.6%) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565
2.6 การค้าปลีก (Retail Trade)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานการค้าปลีกในเดือนเมษายน 2566 ว่า ตลาดการค้าปลีกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.2% แต่ปริมาณลดลง -0.2%) โดยการค้าปลีกสินค้าบริโภค (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.9% และปริมาณเพิ่มขึ้น +0.6% ) และสินค้าอุปโภค (มูลค่าลดลง -0.4% และปริมาณลดลง -0.7%)
ในเดือนเมษายน 2566 การค้าปลีกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น +3.2% และมีปริมาณลดลง -4.8% การจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้น +6.2% และมีปริมาณลดลง -5.4% ในขณะที่การจำหน่ายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง +0.4% และมีปริมาณลดลง -4.4% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 หมวดสินค้าอุปโภค(ที่ไม่ใช่อาหาร) เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำหอมและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นมากที่สุด (+7.9%) ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมลดลงมากที่สุด (-3.2%)
มูลค่าการขายปลีกเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางการจำหน่ายขนาดใหญ่ (+7.2%) และผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ (+2.7%) ในขณะที่มูลค่าการค้าปลีกลดลงในช่องทางร้านค้าพื้นที่เล็ก และช่องทางการค้านอกร้านค้า (-1.1% ในทั้งสองช่องทาง)
3. สถานการณ์การค้าไทย – อิตาลี
ช่วงห้าเดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-พฤษภาคม) การค้าไทย-โลก มีมูลค่าทั้งสิ้น 239,053.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -3.77% ไทยส่งออกสินค้าไปทั่วโลกมีมูลค่า 116,344.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -5.09% ไทยนำเข้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 122,709.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -2.48% ไทยเสียเปรียบดุลการค้า -6,365.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ -95.96% เมื่อเทียบกับช่วงห้าเดือนแรกของปี 2565 (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับกรมศุลกากร)
3.1 การค้าไทย – อิตาลี
ช่วงห้าเดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-พฤษภาคม) การค้าระหว่างไทย-อิตาลี มีมูลค่า 2,309.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.08% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 986.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.13% และการนำเข้ามูลค่า 1,322.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.05% ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 336.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 6.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับกรมศุลกากร)
รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
3.2 การส่งออกของไทยไปอิตาลี
ช่วงห้าเดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม) การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่า 986.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.13% เมื่อเทียบกับช่วงห้าเดือนแรกของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 920.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับกรมศุลกากร)
3.3 การนำเข้าของไทยจากอิตาลี
ช่วงห้าเดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม) ไทยนำเข้าจากอิตาลีมีมูลค่า 1,322.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.05% เมื่อเทียบกับช่วงห้าเดือนแรกของปี 2565 (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับกรมศุลกากร)
3.4 การนำเข้าของอิตาลีจากทั่วโลก
รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2566 อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 188,561.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -18.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 (ที่มีมูลค่า 230,909.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี มูลค่า 26,586.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-20.02%) จีน มูลค่า 16,450.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-18.95%) ฝรั่งเศส มูลค่า 12,895.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-26.33%) เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 10,461.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-20.94%) สเปน มูลค่า 9,522.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (-13.06%)
โดยประเทศคู่แข่งของไทยที่สำคัญในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย (อันดับที่ 14) มูลค่า 3,198.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-9.55%) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 24) มูลค่า 1,918.41 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.52%) เกาหลีใต้ (อันดับที่ 25) มูลค่า 1,907.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-12.38%) เวียดนาม (อันดับที่ 32) มูลค่า 1,466.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-8.99%) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 37) มูลค่า 1,092.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-2.31%) ไต้หวัน (อันดับที่ 39) มูลค่า 1,023.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-21.05%) และ ไทย อยู่ในอันดับที่ 44 มูลค่า 781.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-5.34%)
3.5 การนำเข้าอิตาลีจากไทย
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าอิตาลีนำเข้าสินค้าจากไทย ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2566 มีมูลค่า 781.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -5.34% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-เมษายน 2565 (ที่มีมูลค่า 825.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยสินค้านำเข้าจากไทยที่สำคัญ 5 อันดับแรก มีดังนี้
รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกของไทยที่อิตาลีนำเข้าจากประเทศคู่แข่งในทวีปเอเชียในปี 2566 มีดังนี้
1) สินค้าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลก มีมูลค่า 16,554.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-18.29%) นำเข้าจาก จีน (อันดับ 2) มีมูลค่า 3,626.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-17.26%) ญี่ปุ่น (อันดับ 9) มีมูลค่า 427.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-14.55%) อินเดีย (อันดับ 15) มีมูลค่า 251.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-7.68%) ไต้หวัน (อันดับ 20) มีมูลค่า 185.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+2.22%) จากไทย (อันดับ 21) มีมูลค่า 178.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+10.04%) เกาหลีใต้ (อันดับ 22) มีมูลค่า 176.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-11.05%) และ ตามลำดับ
2) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลก มีมูลค่า 15,938.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-6.37%) นำเข้าจากจีน (อันดับ 1) มีมูลค่า 4,040.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-6.04%) อินเดีย (อันดับ 9) มีมูลค่า 395.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+43.02%) เวียดนาม (อันดับ 11) มีมูลค่า 332.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-3.41%) ไต้หวัน (อันดับ 17) มีมูลค่า 188.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+27.73%) ไทย (อันดับ 21) มีมูลค่า 148.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+36.25%) และ เกาหลีใต้ (อันดับ 22) มีมูลค่า 143.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-14.59%) ตามลำดับ
3) ยานบก และอุปกรณ์และส่วนประกอบ อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลก มีมูลค่า 15,675.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+1.96%) นำเข้าจากจีน (อันดับ 5) มีมูลค่า 771.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+3.59%) ญี่ปุ่น (อันดับ 8) มีมูลค่า 560.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+66.97%) เกาหลีใต้ (อันดับ 19) มีมูลค่า 165.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-15.82%) ไต้หวัน (อันดับ 21) มีมูลค่า 128.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-28.12%) อินเดีย (อันดับ 22) มีมูลค่า 116.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+11.43%) ไทย (อันดับ 24) มีมูลค่า 88.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-10.93%) และ เวียดนาม (อันดับ 25) มีมูลค่า 85.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+0.22%) ตามลำดับ
4) ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง หินมีค่าหรือกึ่งมีค่า โลหะมีค่า โลหะหุ้มโลหะมีค่า ของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องประดับเทียม เหรียญกษาปณ์ นำเข้าจากทั่วโลก มีมูลค่า 5,249.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-14.94%) นำเข้าจากจีน (อันดับ 11) มีมูลค่า 107.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+6.54%) อินเดีย (อันดับ 12) มีมูลค่า 90.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+5.81%) ไทย (อันดับ 13) มีมูลค่า 76.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+46.19%) สิงคโปร์ (อันดับ 14) มีมูลค่า 67.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+515.84%) ฮ่องกง (อันดับ 15) มีมูลค่า 66.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+107.87%) ญี่ปุ่น (อันดับ 21) มีมูลค่า 29.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+322.67%) ตามลำดับ
5) ผลิตภัณฑ์ยางและส่วนประกอบ อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลก มีมูลค่า 1,784.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-21.83%) นำเข้าจากจีน (อันดับ 2) มีมูลค่า 172.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-19.32%) ไทย (อันดับ 11) มีมูลค่า 62.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-38.97%) เกาหลีใต้ (อันดับ 12) มีมูลค่า 50.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-19.74%) ญี่ปุ่น (อันดับ 14) มีมูลค่า 46.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-15.64%) อินเดีย (อันดับ 15) มีมูลค่า 43.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-17.68%) และ มาเลเซีย (อันดับ 19) มีมูลค่า 27.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-63.56%) ตามลำดับ
4. การคาดการณ์ของสินค้า
-ความตึงเครียดด้านเงินเฟ้อที่รุนแรงในปี 2565 และยังมีความไม่แน่นอนสูงในต้นปี 2566 วิวัฒนาการของการค้าออนไลน์อีคอมเมิร์ซได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่หดตัวลง แต่ก็ยังมีแนวโน้มดีกว่าช่องทางจำหน่ายอื่นๆ และกลายเป็นช่องทางที่มีโครงสร้างที่มั่นคงขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การซื้อออนไลน์มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้น จนเป็นกระบวนการจัดซื้อเครื่องอุปโภคและบริโภคที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นช่องทางหนึ่งของครัวเรือน เนื่องจากมีจากการปรับปรุงและการขยายข้อเสนอต่างๆ ส่วนลด การจัดโปรโมชั่น ผ่านการลงทุนสร้างแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการปรับปรุงรูปแบบธุรกิจให้น่าสนใจติดตามอยู่ตลอดเวลา
รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
-ตามข้อมูลจากการวิจัยตลาดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเมืองมิลาน (Politecnico di Milano) ผลประกอบการในปี 2565 ของอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าประมาณ 48.1 พันล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2564 การค้าในภาคสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น +8% แม้ว่าจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของช่วงสองปี 2563-2564 (ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ +33% ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 33.2 พันล้านยูโร) ส่วนการค้าในภาคบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง +59% ซึ่งช่วยทดแทนการขาดทุนที่เกิดขึ้นในปีล็อกดาวน์โควิด-19 (ปี 2563) ได้เกือบทั้งหมด การยกเลิกมาตรการการป้องกันโรคระบาด ทำให้บรรยากาศทางสังคมและเศรษฐกิจผ่อนคลายความตึงเครียดลง และกลับมาค่อยๆฟื้นตัวในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการขนส่ง การจองตั๋วดูการแสดงสด (คอนเสิร์ต ฟุตบอล ละคร ฯลฯ เป็นต้น) ในปี 2565 มูลค่าการค้าของภาคบริการอยู่ที่ประมาณ 14.9 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 1.4 พันล้านยูโร เมื่อเทียบกับมูลค่าปีก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562 (ซึ่งมีมูลค่า 13.5 พันล้านยูโร)
-ในภาคสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการค้าออนไลน์สูงสุดได้แก่ สินค้าด้านเทคโนโลยี (Consumer technology) เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ สมาร์ททีวี พีซี สมาร์ทโฟน เครื่องเล่นวิดีโอเกม เครื่องพิมพ์ เครื่องคิดเลข และนาฬิกาดิจิตอล แต่ยังรวมถึงระบบเสียงและวิดีโอ ตู้เย็นอัจฉริยะ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องดูดฝุ่นที่มีเทคโนโลยีไซโคลน เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าที่ทันสมัย รวมถึงอุปกรณ์มัลติมีเดีย เป็นต้น มีมูลค่าการค้า 8.2 พันล้านยูโร เติบโตเพิ่มขึ้น +6% เมื่อเทียบกับปี 2564 รองลงมาคือสินค้าแฟชั่น มีมูลค่า 5.3 พันล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น +4% และภาคที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการค้าปลีก มีมูลค่าที่ 4.7 พันล้านยูโร อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น +15% ภาคเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน มีมูลค่า 3.8 พันล้านยูโร เติบโตเพิ่มขึ้น +12% ภาคสิ่งพิมพ์ มีมูลค่า 1.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +3% และท้ายสุด ผลิตภัณฑ์ด้านเสริมความงาม และเภสัช รวมกันมีมูลค่า 8.6 พันล้านยูโร เติบโตเพิ่มขึ้น +7% เมื่อเทียบกับปี 2564
-ในภาคบริการ การท่องเที่ยวและการขนส่งมีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้น +74% หลังการลดลงอย่างมากในปี 2563 (-61%) ซึ่งเป็นปีล็อคดาวน์โรคไวรัสโควิด-19 การยกเลิกมาตรการป้องกันโรคระบาดดังกล่าว และอากาศที่เป็นใจ ทำให้คนในประเทศเริ่มทยอยกันออกท่องเที่ยวคลายความวิตกกังวล และโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก สาเหตุหนึ่งเพราะค่าเงินยูโรอ่อนค่า และอิตาลีเป็นประเทศเป้าหมายของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว สำหรับภาคธุรกิจอื่นๆ การจองตั๋วสันทนาการต่างๆ ซึ่งได้รับประโยชน์จากโปรแกรมหลากหลายและมากมาย ซึ่งเป็นภาคที่ลดลงในปี 2563 (-37%) นอกจากนี้ ยังมีการฟื้นตัวของการค้าออนไลน์ธุรกิจด้านประกันภัย ที่มีมูลค่า 1.7 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +1% เมื่อเทียบกับปี 2564
-ในปี 2565 อัตราการซื้อขายออนไลน์สำหรับการค้าปลีกอยู่ที่ +12% (+11% ในปี 2564) ส่วนการค้าออนไลน์ในภาคบริการอยู่ที่ +12% (+14% ในปี 2564) มีส่วนแบ่งตลาด 23.3% ของตลาดรวมทั้งหมด (21.7% ในปี 2564) ในทางกลับกัน ช่องทางจำหน่ายดั้งเดิมประสบกับมูลค่าการค้าที่ลดลง (-4%) และเหลือส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 76.7% เนื่องจากมีผู้บริโภคหันมาสนใจและอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ
สินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ได้แก่ โทรศัพท์ (+15.9%) และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (+13.8%) ในทางกลับกัน ที่จำหน่ายได้ลดลงได้แก่ สินค้าไอที (-0.5%) เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (-1.1%) และที่ลดลงมากที่สุดคือ ธุรกิจออนไลน์ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการอุปโภค (Electronics for the consumption) (-6.5%) ซึ่งได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงโดยทั่วไป
5. ข้อคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1) การขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการจัดเลี้ยง มีความคึกคักมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่หนาวและมีแดดดีกว่าช่วงเวลาอื่นของปี ผู้คนจำนวนมากมีวันหยุดยาว จึงออกท่องเที่ยวเพื่อต้องการผ่อนคลาย การเดินทางไกลและระยะเวลายาวขึ้นจะเป็นช่วงฤดูร้อน ทำให้มีการหมุนเวียนรายได้จากสินค้าและบริการเพื่อสร้างสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
2) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในภาคการผลิตทางอุตสาหกรรมและการส่งออกเริ่มชัดเจนขึ้นด้วยการชะลอตัว การนำเข้าก็ลดลง เป็นผลจากความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ที่ยังส่งผลกระทบต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น ที่ราคาถูกลง หรือที่มีโปรโมชั่น สินค้านำเข้าที่ราคาสูงกว่าสินค้าท้องถิ่นจะตีตลาดได้ยากขึ้น เนื่องจากความวิตกกังวลในการใช้จ่าย สินค้าที่สามารถแข่งขันได้จึงต้องมีนวัตกรรม คุณภาพสูง และต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3) สำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความยืดเยื้อ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของอิตาลีไม่น้อย เนื่องจากอิตาลีเป็นฝ่ายสนับสนุนประเทศยูเครน และต้องส่งความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการแบกรับปัญหาและภาระผู้ลี้ภัยสงครามชาวยูเครน นอกจากนี้ ผู้อพยพจากแอฟริกาที่พยายามหลบหนีเข้ามาทางเรืออย่างไม่ขาดสาย และมีทีท่ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในฤดูร้อนที่สภาพอากาศไม่รุนแรง มีส่วนผลักดันการหลบหนี และยังเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันในระดับสหภาพยุโรปแต่ก็หาวิธีแก้ปัญหาและข้อยุติไม่ได้โดยเด็ดขาด การติดตามข่าวความเคลื่อนไหวนโยบายด้านสงคราม การเมือง และการค้าระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทย
4) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการประหยัดพลังงานยังสามารถทำตลาดได้ดี สินค้าที่มีช่องทางดีในช่วงนี้ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ จักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องสร้างจุดเด่นในเรื่องของการประหยัดพลังงาน ผลิตภัณฑ์ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้องศึกษากฎระเบียบสหภาพยุโรปอย่างละเอียด เนื่องจากมีข้อกำหนดของสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในตลาดอิตาลีและยุโรป
ส่วนสินค้าอาหารที่แนวโน้มตลาดยังดี ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผักและผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส อาหารแห้ง เครื่องดื่มและน้ำผลไม้ที่เพิ่มความสดชื่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังความผันผวนของปัจจัยการส่งออกเสมอ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ราคาและระยะเวลาการขนส่ง ภาษีนำเข้า ฯลฯ รวมถึงควรวางแผนการค้ากับคู่ค้าและผู้นำเข้าในอิตาลีล่วงหน้าเป็นเวลานานและทำการค้าอย่างรอบคอบ
—————————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
มิถุนายน 2566

thThai