“ปัจจุบันชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีพฤติกรรมให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกันกับมนุษย์ หรือ Pet Humanization”
สัตว์เลี้ยง (Pets) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริโภคชาวอเมริกันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงระยะที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ผ่านมาเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่หันไปเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสำหรับคลายเหงาเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ชาวอเมริกันในปัจจุบันเอง ยังมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกันกับมนุษย์ หรือ Pet Humanization มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ เช่น กลุ่ม Millennials และ Generation Z ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่มีรายได้และกำลังการซื้อสูงในปัจจุบันทำให้ตลาดสัตว์เลี้ยงและสินค้าสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัท Forbes Advisor ผู้ให้บริการคำปรึกษาทางธุรกิจได้จัดทำรายงานการศึกษาวิจัยเชิงลึกข้อมูลตลาดสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกา พบข้อมูลทางสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้
- ในปี 2566 มีชาวอเมริกันจำนวน 86.9 ล้านครัวเรือนเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างน้อยหนึ่งชนิดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดของชาวอเมริกันขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 56 ในปี 2531 (35 ปีที่ผ่านมา) ร้อยละ 78 ของกลุ่มประชากรตัวอย่างรับสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19
- กลุ่มประชากร Millennials เป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ (ร้อยละ 33) รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประชากร Generation X (ร้อยละ 25) กลุ่มประชากร Baby Boomers (ร้อยละ 24) กลุ่มประชากร Generation Z (ร้อยละ 16) และกลุ่มประชากรอื่นๆ (ร้อยละ 2) โดยสัตว์เลี้ยงที่กลุ่มประชากร Millennials เลี้ยงมาก ได้แก่ สุนัข (ร้อยละ 66) แมว (ร้อยละ 59) กระต่าย (ร้อยละ 19) หนู (ร้อยละ 15) ปลา (ร้อยละ 12) เต่า (ร้อยละ 7) และสัตว์เลื้อยคลาน (ร้อยละ 2)
- สัตว์เลี้ยงที่ชาวอเมริกันนิยมเลี้ยงมากที่สุด คือ 1. สุนัข ประมาณ 65.1 ล้านครัวเรือน รองลงมา ได้แก่ 2. แมว ประมาณ 46.5 ล้านครัวเรือน ปลาน้ำจืด ประมาณ 11.1 ล้านครัวเรือน 4. สัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก (เช่น หนู กระต่าย) ประมาณ 6.7 ล้านครัวเรือน 5. นก ประมาณ 6.1 ล้านครัวเรือน 6. สัตว์เลื้อยคลาน ประมาณ 6 ล้านครัวเรือน 7. ม้า ประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน และ 8. ปลาทะเล ประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน
- ครอบครัวชาวอเมริกันที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากที่สุด โดยร้อยละ 64 ของครอบครัวกลุ่มนี้นิยมเลี้ยงสุนัข และร้อยละ 40 นิยมเลี้ยงแมว นอกจากนี้ ประชากรที่มีบ้านเป็นของตัวเองนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากกว่ากลุ่มประชากรที่ยังต้องเช่าบ้านอยู่
- ในปี 2565 ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.68 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็น 1. ค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารและของทานเล่น ทั้งสิ้น 5.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 44) 2. ค่าใช้จ่ายสัตวแพทย์ ทั้งสิ้น 3.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 26.22) 3. ค่าสัตว์เลี้ยงของใช้ ยาและเวชภัณฑ์ ทั้งสิ้น 3.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 23.01) และ 4. ค่าบริการอื่นๆ ทั้งสิ้น 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 8.33)
- ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลสุนัขเฉลี่ยต่อปี แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาล 367 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าอาหาร 339 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าอาบน้ำตัดขน 99 ดอลลาร์สหรัฐ
- ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลแมวเฉลี่ยต่อปี แบ่งเป็น ค่าอาหาร 310 ดอลลาร์สหรัฐ ค่ารักษาพยาบาล 253 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าของเล่น 50 ดอลลาร์สหรัฐ
- กลุ่มประชากร Generation Z (อายุ 18 – 25) เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมตามใจสัตว์เลี้ยงมากที่สุด เช่น การซื้อของขวัญวันเกิดให้สัตว์เลี้ยง (ร้อยละ 39) การซื้อเค้กวันเกิดให้สัตว์เลี้ยง (ร้อยละ 34) และการซื้อเสื้อผ้าให้สัตว์เลี้ยง (ร้อยละ 32) นอกจากนี้ กลุ่มประชากรดังกล่าวยังเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงสุดด้วย เช่น การซื้ออาหารพิเศษ (ร้อยละ 44) การนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับบริการฝึกอบรม (ร้อยละ 41) การใช้บริการรับฝากสัตว์เลี้ยง (ร้อยละ 35) และการใช้บริการพาสุนัขเดินเล่น (ร้อยละ 31)
- รัฐที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงอุทิศตนให้กับสัตว์เลี้ยงมากที่สุด เช่น การย้ายที่พักอาศัยเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีพื้นที่มากขึ้น การย้ายงานเพื่อสามารถทำงานที่บ้านและได้อยู่กับสัตว์เลี้ยง การประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวสำหรับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ รัฐโคโลราโด รัฐเวอร์จิเนีย รัฐจอร์เจีย รัฐแอลาสกา และรัฐเนวาดา ตามลำดับ
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
แม้ว่าปัจจุบันสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติทำให้อัตราการขยายตัวของจำนวนสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ชะลอตัวลงบ้างแต่โดยรวมด้วยจำนวนสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในอัตราสูงก่อนหน้านี้ประกอบกับแนวโน้มพฤติกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนมนุษย์ของชาวอเมริกันยังน่าจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดสินค้าอาหารและของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยในปี 2566 ตลาดสินค้าอาหารและของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ มีมูลค่าทั้งสิ้น 7.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อละ 8.5 แบ่งเป็นมูลค่าตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งสิ้น 5.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงทั้งสิ้น 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าตลาดจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 9.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2571 คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)
กลุ่มสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขและแมวเป็นกลุ่มสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดในสหรัฐฯ แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศพอสมควรแต่ด้วยปัจจัยด้านปริมาณวัตถุดิบสำหรับการผลิตและค่าแรงงานในตลาดทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอสำหรับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากประเทศผู้ผลิตที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เช่น ไทย แคนาดา จีน เยอรมนี และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
ในระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2566 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอาหารสุนัขและแมวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 501.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 18.03 หลังจากที่ในปีก่อนหน้านี้มีอัตราการนำเข้าขยายตัวสูงขึ้นผิดปกติถึงเกือบร้อยละ 40 เนื่องจากปัจจัยด้านภาวะความผันผวนด้านวัตถุดิบการผลิตและการขนส่งในอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยสหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารสุนัขและแมวสูงสุดจากไทยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 202.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัวลงร้อยละ 19 ตามแนวโน้มตลาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.43 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด
ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสุนัขและแมวรายใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐฯ ติดต่อกันมาแล้วกว่า 6 ปี (ระหว่างปี 2560 – 2565) เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตไทยมีจุดแข็งในการเข้าถึงวัตถุดิบการผลิตซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ (Byproduct) จากอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญขนาดใหญ่ของไทยประกอบกับความพร้อมทั้งด้านกำลังแรงงานและต้นทุนค่าแรงที่ยังคงสามารถแข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนตลาดในสหรัฐฯ สูงแต่ผู้ประกอบไทยก็ควรให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ การพัฒนายกระดับการผลิตโดยเฉพาะการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceable System) ในระบบห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะการคัดเลือกวัตถุดิบการผลิตจากผู้ประกอบการที่มีความโปร่งใสเชื่อถือได้ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก และแรงงานทาสซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากในปัจจุบัน
อีกทั้ง การพัฒนาสินค้าตามกระแสนิยมของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายในปัจจุบัน เช่น อาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพเทียบเท่าอาหารสำหรับมนุษย์ (Human Grade) อาหารสัตว์เลี้ยงโปรตีนจากพืช อาหารสัตว์เลี้ยงจากโปรตีนแมลง และอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น ก็น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรักษาสัดส่วนตลาดส่งออกสินค้าอาหารสุนัขและแมวในตลาดสหรัฐฯ ได้ในอนาคตด้วย
กระแสความนิยมและความทุ่มเทในการดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดในปัจจุบันยังเป็นโอกาสในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์เลี้ยงอีกหลายรายการ เช่น กรงและที่อยู่สำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet Enclosures) เบาะที่นอน เสื้อผ้า ปลอกคอ ของตกแต่งที่อยู่สัตว์เลี้ยง ของเล่น แปรง แชมพูอาบน้ำ และอุปกรณ์ให้อาหารโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีอัจฉริยะ รวมถึงการขยายโอกาสในการส่งออกกลุ่มสัตว์เลี้ยงซึ่งไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ อยู่บ้างแล้วในปัจจุบัน เช่น ปลากัด ปลาทอง และปลาสวยงาม เป็นต้น
“ตัวอย่างสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงไทยที่น่าจะมีโอกาสในตลาดสหรัฐฯ”
ที่มา: Forbes Advisor
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก