ตามรายงานข่าวของสำนักข่าว China Daily ระบุว่า สินค้าระดับไฮเอนด์ได้รุกเข้าสู่เมืองชั้น 3 – 5 ของจีนมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการสินค้าระดับไฮเอนด์ในตลาดจีน โดยสถาบันวิจัยเมืองหยุนเหอ ได้มีการรวบรวมดัชนีแบรนด์สินค้าหรูระดับนานาชาติในจีน ระบุว่า นครเซี่ยงไฮ้เป็นที่ตั้งของร้านค้าหรูหราสูงสุด รองลงมาคือปักกิ่ง

แม้ว่าปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง จะยังคงเป็นกลุ่มตลาดชั้นนำ แต่เมืองเกิดใหม่ อย่างเช่น เมืองเฉิงตู ในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเมืองหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน กำลังได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมสินค้าระดับไฮเอนด์มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน เมืองเฉิงตู ได้กลายเป็นเมืองที่มีแหล่งช้อปปิ้งและไลฟ์สไตล์ที่มีความคึกคัก ทั้งยังมี GDP ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้รับความสนใจจากผู้บริหารของแบรนด์หรูต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยปี 2565 บริษัท Louis Vuitton ได้เปิดร้าน Louis Vuitton Maison และร้านอาหารแห่งแรกที่ The Hall at Taikoo Li และร้านบูติกที่ SKP ในเฉิงตู ส่วนเมืองอื่นๆ ในมณฑล 10 อันดับแรก ได้แก่ นครเทียนจิน มณฑลฉงชิ่ง  มณฑลเจ้อเจียง มณฑลส่านซี มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเหลียวหนิง และมณฑลหูเป่ย มีจำนวนร้านค้าแบรนด์หรูในเมืองของมณฑลเหล่านี้ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 54  ของจำนวนร้านค้าแบรนด์หรูทั้งหมดในจีน ส่วนภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีซึ่งเป็นกลุ่มเมือง มีแบรนด์หรูมากที่สุดถึงร้อยละ 26.8 จาก 30 อันดับแรกของเมืองที่จำนวนร้านค้าแบรนด์หรูมากที่สุด

ตามรายงาน Luxury Industry Illustrated Report ปี 2564 ระบุว่า ร้อยละ 55 ของร้านค้าแบรนด์หรูที่เพิ่งเปิดใหม่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองชั้นสองขึ้นไป และค่อยๆ ขยายไปยังเมืองชั้น 3 – 5 อาทิ เมือง Changchun เมือง Kunming เมือง Changzhou เมือง Guiyang เมือง Changsha เมือง Zhengzhou เมือง Dongguan เป็นต้น นอกจากนี้ สัดส่วนของร้านค้าแบรนด์หรูในเมืองระดับ 3 – 5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 46 ซึ่งการที่แบรนด์หรูได้ขยายตัวไปยังเมืองชั้น 3 – 5 ของจีนมากขึ้น ด้านหนึ่งมีปัจจัยมาจากผู้คนในเมืองชั้น 3 – 5 มีค่าครองชีพต่ำ มีความสามารถในการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ ผู้บริโภคหลักในเมืองชั้น 3 – 5 ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยผู้บริโภครุ่นใหม่ เนื่องจากแนวคิดการบริโภคที่เปลี่ยนไป  ส่งผลผู้บริโภคในเมืองชั้น 3 – 5 ยอมรับแบรนด์หรูมากกว่าที่ผ่านมา

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

จากการที่เมืองชั้น 3 – 5 ของจีนมีจำนวนร้านของแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบัน กลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการบริโภคสินค้าของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในอนาคต เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลางของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และแนวคิดการบริโภคของคนรุ่นใหม่ในจีนที่เปลี่ยนไป จะผลักดันให้การบริโภคในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของจีนจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในจีนมีการแข่งขันระหว่างแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์ของต่างประเทศสูงมาก อีกทั้งผู้บริโภคในจีนมีความเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้าเหล่านี้สูง ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดจีน ควรศึกษาตลาดและพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนในเชิงลึก นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคจีนมักจะบริโภคตามสื่อโซเซียลมีเดียของผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOL) หรือดาราคนดัง ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านดาราไทยที่มีชื่อเสียง รวมถึงสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดสินค้าระดับไฮเอนด์ของจีนได้ ผลักดันสินค้าระดับไฮเอนด์ของไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้ต่อไป

ที่มา: http://www.chinadaily.com.cn/a/202307/06/WS64a609d7a310bf8a75d6d7f0.html

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

7  กรกฎาคม  2566

thThai