งานแสดงสินค้า Summer Fancy Food Show จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2566 ณ Jacob K. Javits Center นครนิวยอร์ก เป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มประเภท B2B ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในปีนี้ มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในงานกว่า 23 ราย  สำหรับเทรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าสนใจ มีดังนี้

  1. เทรนด์อาหารประจำชาติ อาทิ แบรนด์ Xinca เป็นผู้นำตัวอย่างที่ดีของ

เทรนด์นี้ Xinca จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารประจำชาติเอลซัลวาดอร์ ภายในงานนำเสนอผลิตภัณฑ์แช่แข็ง อาทิ Pupusas (ปูปูซา) ขนมปังจากเอลซัลวาดอร์ไส้ข้าวโพดและชีสที่เป็นอาหารหลักของชาวเอลซัลวาดอร์ นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ Chakalaka จากอเมริกาใต้ ที่นำเสนอ Chakalaka (ชาคาลากะ) ผลิตภัณฑ์ประเภทถั่วที่มีรสเผ็ดหวานที่เป็นอาหารหลักประจำชาติของชาวแอฟริกาใต้ ที่มีส่วนผสมของเครื่องแกง พริกไทย ผักสด และถั่ว เป็นต้น

  1. ขนมหวานเพื่อสุขภาพ: ภายในงานฯ แบรนด์ Edie’s for Everybody ที่

นำเสนอขนมปังกรอบเคลือบช๊อคโคแลต ซึ่งไม่เพียงแต่นำเสนอผลิตภัณฑ์วีแก้น ออแกนิค ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากโปรตีนกลูเตน ปราศจากถั่ว นม และการปรุงแต่งใดๆ แล้ว ยังรวมเอารสชาติของเอเชียมาเป็นส่วนผสม อย่าง รสกาแฟเวียดนาม รสช็อคโกแลตชาเขียวและรสช็อคโกแลตชาอินเดีย (Chai) นอกจากนี้ แบรนด์ อย่าง Superfoods ที่นำเสนอช๊อคโคแลตอัดก้อน ที่เป็นผลิตภัณฑ์วีแก้นปราศจากน้ำตาล โดยใช้ความหวานของผลไม้ทดแทนน้ำตาล เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพแต่ต้องการรับประทานของหวาน

  1. อาหารบรรจุภัณฑ์ไอเดียสร้างสรรค์: การออกแบบบรรจุภัณฑ์ คือกลยุทธสำคัญที่ตอบโจทย์การตลาดกระแสหลัก เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค อันนำไปสู่การสร้างแบรนด์ ภายในงานฯ มีแบรนด์ที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่างแบรนด์ SoSo ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกลือสมุทร (Sea Salt) ในบรรจุภัณฑ์รูปไข่ และแบรนด์ Greenomic ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เส้นพาสต้าภายใต้ชื่อ Good Hair Day Pasta บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่จับคู่รูปลักษณ์ของพาสต้าชนิดต่างๆ เข้ากับทรงผม อย่างเช่น สปาเก็ตตี้เป็นผมยาวตรง และแน่นอนว่ามันคือบรรจุภัณฑ์พาสต้าที่โดดเด่นที่สุดภายในงานฯ
  2. ขนมขบเคี้ยวให้พลังงานสูงและดีต่อสุขภาพ: แบรนด์ที่โดดเด่นในงานในหมวดประเภทของขนมขบเคี้ยว ได้แก่ แบรนด์ Mamame Whole foods ที่นำเสนอ Tempeh Chips ขนมกรุบกรอบที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังและถั่วเหลืองหมักที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ เป็นวีแก้น ปราศจากกลูเตน และมีโปรตีน 5 กรัมและไฟเบอร์ 6 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค รวมทั้ง แบรนด์ Naera ที่นำเสนอ Fish Jerky Crunch ขนมปลากรอบ ที่ปราศจากการปรุงแต่ง มีโอเมก้า 3 และแคลเซียม 2 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และแบรนด์ Cornhusker Kitchen ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ถั่วอัลมอนด์คั่วไขมันเป็ดบริสุทธิ์ (Duck Fat Roasted Almonds) ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันดี ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอี และมีหลากหลายรสชาติ เป็นของว่างที่ดีต่อสุขภาพสำหรับคนรักถั่ว
  3. ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลดขยะอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการ (Upcycled Foods):

Angie Crone CEO ของสมาคมอาหารอัพไซเคิลหรือ UFA คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์อาหาร Upcycled กำลังขยายตัวมากขึ้นด้วยความตระหนักถึงความยั่งยืนจากผู้บริโภค พบว่าในปัจจุบันผู้บริโภคอาหารส่วนใหญ่มักจะคำนึงถึง 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) การลดของเสีย 2) การรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม สองปัจจัยนี้กำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจรักษ์โลกมากขึ้น และ Upcycled กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงทุกอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมอาหาร โดยภายในงานฯ มีแบรนด์ Atoria นำเสนอขนมปังแฟลตเบรด (Flatbread) หรือขนมปังแบน ที่ใช้วัตถุดิบแป้งอัพไซเคิลเกือบ 20% และเป็นที่สนใจของผู้เยี่ยมชมงาน

  1. อาหารจากพืช: เทรนด์ความต้องการผลิตภัณฑ์จากพืชยังคงอยู่ ในปีนี้ นอกเหนือจากโซน Plant-Based food Pavilion ที่ภายในงานฯ ได้จัดขึ้นแล้ว ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ของตน ที่มีตัวเลือกทั้งเนื้อสัตว์หรือเนื้อจากพืช  ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Prime Roots ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ Koji meat ที่ทำจากเห็ดรา (Fungi) ของญี่ปุ่น แบ่งเป็น เนื้อแฮม (Ham) เนื้อไก่งวง (Turkey) เปปเปอโรนี (Pepperoni) และซาลามิ (Salami) ที่ทำจากเห็ดรา โดยมีการแจกชิมภายในงานฯ ด้วย
  1. เทรนด์การยอมรับความหลากหลาย: ผู้บริโภคให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของความหลากหลาย ความเห็นต่างและความแตกต่าง (Diversity) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ เพศกำเนิด ศาสนา เชื้อชาติ ความพิการ และรสนิยมทางเพศมากขึ้น สิ่งนี้กำลังเป็น new normal ในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านธุรกิจที่มีความหลากหลาย โดยภายในงานฯ มีโซน Diversity Pavilion ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์จาก 1) Women-Owned ธุรกิจที่มีผู้หญิงตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปถือหุ้นและบริหารอย่างน้อย 51% 2) Minority-Owned ธุรกิจที่มีชนกลุ่มน้อยตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นเจ้าของหรือบริหารอย่างน้อย 51% ประกอบด้วยชาวเอเชีย ผิวดำ ลาตินอเมริกา เป็นต้น 3) LGBT-Owned Business ธุรกิจที่มีบุคคลที่ระบุว่าตัวเองเป็น LGBT ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นเจ้าของและบริหารอย่างน้อย 51% 4) Disability-Owned ธุรกิจที่มีผู้พิการตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นเจ้าของและบริหารอย่างน้อย 51% 5) Veteran-Owned ธุรกิจที่มีทหารผ่านศึกตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นเจ้าของและบริหารอย่างน้อย 51% โดยโซน Diversity Pavilion ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีในสหรัฐฯ กำลังเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากชาวอเมริกันหันมาใส่ใจด้านอาหารการกินโดยเฉพาะอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี นักธุรกิจเเละนักลงทุนจึงหันมาทำธุรกิจเชิงอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือกลุ่มผู้บริโภคมิลเลียนเนียล (Millennials) และพบว่าการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่สมัยใหม่นั้นนิยมเลือกสินค้าที่ปลอดการใช้สารเคมีให้กับลูกและครอบครัว ถือว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะส่งออกสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพมาขายในตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิต การจัดการ ให้เข้ากับหลักเกณฑ์การเป็นสินค้าออร์แกนิค พร้อมควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามกฎของ USDA และต้องทำการขอใบรับรองจากผู้ที่สามารถออกใบรับรองให้ได้ตามกฏหมาย เพื่อให้สามารถปิดฉลากอย่างถูกกฎหมายว่าเป็นสินค้าออร์แกนิคได้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ams.usda.gov/about-ams/programs-offices/national-organic-program

 

แหล่งที่มา: https://progressivegrocer.com/big-ideas-and-trends-summer-fancy-food-show

สคต. นิวยอร์ก

มิถุนายน 2566

 

thThai