มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 23.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566

 

  • จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา ระบุว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ 23.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
  • ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566 มูลค่าการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่ารวม 11.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 11.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ด้านการนำเข้าของกัมพูชาลดลงร้อยละ 22.9 ซึ่งมีมูลค่ารวม 12.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2565 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 15.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การขาดดุลการค้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 อยู่ที่ 764.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ที่ 4,485.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • นาย Hong Vanak นักวิจัยเศรษฐกิจแห่งราชบัณฑิตยสถานประจำกัมพูชา เปิดเผยว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้ลดมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่กลางปี ​​2565 ถึงต้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม การส่งออกของกัมพูชายังเติบโตจากกำลัง  การผลิตและคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
  • ทั้งนี้ คาดว่า การส่งออกของกัมพูชาจะยังคงเติบโตต่อไป โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาต้องมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศต่อไป และสำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาจยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกำลังการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยให้กัมพูชาลดการนำเข้าได้อีกระดับหนึ่ง
  • ด้าน นาย Te Taingpor ประธานสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกัมพูชา เปิดเผยว่า การปรับปรุงกฎหมายการลงทุนอย่างต่อเนื่องของกัมพูชา พร้อมกับมีแรงงานจำนวนมากและราคาไม่แพงรวมทั้งผลการบังคับใช้ของข้อตกลงทางการค้าเสรีกับหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ ได้ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศลงทุนในกัมพูชามากขึ้น ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้น ยืนยันถึงการเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศและการคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า การส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศจะดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม

ข้อมูลที่น่าสนใจจากข่าว

  1. ในปี 2565 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่ารวม 52.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีมูลค่า 48.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกของกัมพูชา มีมูลค่า 22.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และการนำเข้าของกัมพูชา มีมูลค่า 29.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3
  2. สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกัมพูชา โดยการนำเข้าใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีประมาณ 4.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.9 รองลงมาคือ เวียดนาม ซึ่งนำเข้าสินค้าจากกัมพูชามีมูลค่า 1.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7
  3. คู่ค้าอันดับต้นๆ ของกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อันดับหนึ่งเป็นจีน ซึ่งมีมูลค่าการค้า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.80 รองลงมาคือสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้า 4.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.57 ตามมาด้วยเวียดนาม มีมูลค่าการค้า 3.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.25 และไทย มีมูลค่าการค้า 1.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.99 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565
  4. สินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จักรยาน เครื่องหนัง ธัญพืช เฟอร์นิเจอร์ ยาง ผลไม้ ผัก ไข่มุก และของเล่นเด็ก เป็นต้น
  5. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทาง เป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยภาคนี้มีโรงงานประมาณ 1,300 แห่ง ซึ่งมีพนักงานประมาณ 840,000 คน ซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

  1. แม้ว่าสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศปีนี้ยังมีแนวโน้มที่ไม่สดใส แต่การส่งออกของกัมพูชายังมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศที่มีต่อกัมพูชา พร้อมทั้ง การเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากกัมพูชามีข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลีใต้ และอื่นๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมสินค้ากัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศและทำให้สินค้ากัมพูชาน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในระยะยาว
  2. ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอาจพิจารณามาลงทุนโดยใช้กัมพูชาเป็นฐานผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งแรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่ถือว่ามีทักษะในด้านนี้ รวมทั้งค่าแรงงานในกัมพูชาที่ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และภาครัฐมีมาตรการสนับสนุน รวมทั้งผู้ประกอบการยังได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีจากรัฐบาลกัมพูชาด้วย

—————————

ที่มา: Phnom Penh Post & Khmer Times

กรกฎาคม 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา

thThai