อัตราเงินเฟ้อในเขตเมืองของอียิปต์พุ่งสูงถึง 35.7 เปอร์เซ็นต์

อัตราเงินเฟ้อในเขตเมืองของอียิปต์พุ่งสูงถึง 35.7 เปอร์เซ็นต์

หน่วยงานสถิติกลางของอียิปต์ หรือ Central Agency for Public Mobilization and Statistics (CAPMAS) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเขตเมือง (urban inflation) ของอียิปต์เพิ่มสูงขึ้นเป็น 35.7 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยอัตราเงินเฟ้อของทั้งประเทศในเดือนมิถุนายน 2566 ได้ขยับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ 36.8 เปอร์เซ็นต์ สูงขึ้นจาก 33.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤษภาคม 2566 และสูงขึ้นกว่าเท่าตัวหากเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งอยู่ที่ 14.7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เนื่องจากราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกหมวด ได้แก่ (1) เครื่องอุปโภคบริโภค เช่น เนื้อสัตว์และสัตว์ปีกเพิ่มขึ้น 3.3 เปอร์เซ็นต์ ปลาและอาหารทะเล 2.9 เปอร์เซ็นต์ ผลไม้ 5.7 เปอร์เซ็นต์ กาแฟ ชา โกโก้ 4.4 เปอร์เซ็นต์ น้ำดื่มและน้ำผลไม้ 3.3 เปอร์เซ็นต์ (2) สิ่งทอ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป 2.1 เปอร์เซ็นต์ บริการซัก ซ่อม และเช่าเสื้อผ้า 2.1 เปอร์เซ็นต์ (3) สินค้าภายในบ้าน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า 4.9 เปอร์เซ็นต์ แก้ว ช้อน ส้อม 1.6 เปอร์เซ็นต์ และ (4) ค่าเดินทาง 0.5 เปอร์เซ็นต์

 

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอียิปต์ได้พยายามใช้นโยบายด้านการเงินการคลังเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยตรึงอัตราเงินฝากไว้ที่ 18.25 เปอร์เซ็นต์ และอัตราเงินกู้ไว้ที่ 19.25 เปอร์เซ็นต์ แต่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางอียิปต์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอัตราเงินฝากในอนาคตอันใกล้  ทั้งนี้ รัฐบาลอียิปต์ยังมองในแง่ดีและคาดว่าเศรษฐกิจอียิปต์ในปีนี้จะยังคงเติบโตต่อไป โดย GDP จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ IMF ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 ของอียิปต์ลงเหลือประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์

อัตราเงินเฟ้อในเขตเมืองของอียิปต์พุ่งสูงถึง 35.7 เปอร์เซ็นต์

 

ความคิดเห็น/ข้อสังเกต

อัตราเงินเฟ้ออียิปต์ในช่วง 10 ปี

 

การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของอียิปต์ในครั้งนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นผลของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นในภาพรวม อันเนื่องมาจากผลกระทบของค่าเงินปอนด์อียิปต์ที่อ่อนค่าลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์  โดยแนวโน้มนี้เคยเกิดขึ้นกับอียิปต์มาแล้วในช่วงปี 2560 ซึ่งอียิปต์ได้ประกาศลดค่าเงินตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ที่ทำให้ไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 32.95 เปอร์เซ็นต์   อย่างไรก็ดี เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา อียิปต์ได้ทำสัญญาเงินกู้ชุดใหม่กับ IMF เพื่อแลกกับเงินกู้จำนวน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยเงื่อนไขสำคัญ คือ การประกาศลอยตัวค่าเงินปอนด์อียิปต์ ซึ่งปัจจุบัน อียิปต์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้คาดการณ์ได้ว่า หากอียิปต์ปล่อยลอยตัวค่าเงินในท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอียิปต์ในวงกว้าง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่อาจพุ่งสูงขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน

ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ค่าเงินปอนด์อียิปต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังอียิปต์ ทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้นเมื่อคิดเป็นเงินปอนด์อียิปต์ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น เช่น ค่าขนส่ง ค่าแรง ฯลฯ

——————————————–

 

ที่มา:

https://www.dailynewsegypt.com/2023/07/10/egypts-annual-urban-inflation-increases-to-35-7-in-june-2023-capmas/

https://www.reuters.com/markets/egypts-headline-inflation-climbs-all-time-high-357-june-2023-07-10/

https://www.egypttoday.com/Article/3/125531/Egypt%E2%80%99s-annual-urban-inflation-soars-to-record-35-7-CAPMAS

https://english.ahram.org.eg/NewsContentP/50/504594/AlAhram-Weekly/Egypt-delivering-on-economic-promises.aspx

thThai