แม้ชาวฮังกาเรียนจะนิยมสินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ก็เปิดใจรับรสชาติอาหารใหม่ๆ จากต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าจากไทยด้วย

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 17-21 กรกฎาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
ภาพประกอบ โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์

 

ผู้แทนจากซูเปอร์มาร์เก็ต SPAR ซึ่งมีสาขาทั่วทั้งประเทศฮังการี 632 สาขา เปิดเผยว่าราคาของสินค้าผักและผลไม้ ทั้งสดและแปรรูป ในตลาดฮังการี ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอกคือภาวะตลาดโลกที่จะส่งผลต่อต้นทุนราคาพลังงาน ระบบการขนส่ง และปุ๋ย ปัจจัยภายใน คือสภาพอากาศ ระดับค่าจ้างแรงงาน อายุการเก็บรักษาสินค้าแต่ละประเภท และฤดูการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ฮังการีประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำสำหรับการทำการเกษตร ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภค สินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรบางประเภทจึงขาดตลาด และมีราคาสูงขึ้น บางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน มันฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวโพด เป็นต้น

 

ส่วนผู้แทนจากซูเปอร์มาร์เก็ต PENNY ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ต REWE สัญชาติเยอรมัน มีสาขาทั้งประเทศ 190 สาขา ระบุว่าราคาค้าปลีกสินค้าผักและผลไม้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 20-25% (YoY) โดยเฉพาะผักตระกูลกะหล่ำ ราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 40% (YoY)

 

อัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ เนื่องจากช่วงแรกของสงครามรัสเซีย-ยูเครน อัตราแลกเปลี่ยน เงินสกุลโฟรินท์อ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก กระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหาร เนื่องจากผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศต้องชำระค่าสินค้าในสกุลยูโร อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันเงินสกุลโฟรินท์กลับมาแข็งค่าขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มมีการขยายตัวและเข้มแข็งมากขึ้น

 

กลยุทธ์หนึ่งของซูเปอร์มาร์เก็ต อย่าง Spar คือการส่งเสริมการจำหน่ายผักและผลไม้ประจำท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวฮังการี หากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศมีปริมาณเพียงพอที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในด้านคุณภาพและราคา บริษัทฯ จะเลือกวางจำหน่ายสินค้าในประเทศก่อนสินค้านำเข้า เช่นเดียวกับ ซูเปอร์มาร์เก็ต PENNY ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดผักและผลไม้ เช่น ช่วงฤดูใบไม้ร่วง จะจัดแคมเปญส่งเสริมแอปเปิ้ลคุณภาพดีที่ปลูกในฮังการี เป็นต้น ณ ปัจจุบัน สินค้าราว 2 ใน 3 ที่บริษัทฯ วางขายหน้าร้าน (จำนวนสินค้าทั้งหมดประมาณ 2,500 รายการ) มาจาก Supplier ในฮังการี และบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะขยายสัดส่วนนี้ให้สูงขึ้นต่อไปในอนาคต

 

สอดคล้องกับความเห็นจากผู้แทนจากซูเปอร์มาร์เก็ต Lidl ซึ่งมองว่าความมั่นคงของระบบห่วงโซ่อุปทานเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จึงเน้นการสร้างความร่วมมือระยะยาวกับผู้ผลิตในฮังการี และการรักษาราคาภายในประเทศในระดับผู้ผลิตมีระดับที่เหมาะสม เพื่อให้มีสินค้าผักและผลไม้สดที่คัดสรรจากแหล่งผลิตในท้องถิ่นในร้านสาขาทั่วประเทศตลอดปี ทั้งนี้ Lidl มีสาขาทั่วประเทศ 120 สาขา

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบไทยก็มีโอกาสในการส่งออกสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ในฮังการีเข้ามาทดลองวางขายในตลาดฮังการีได้ เช่น ผลไม้ตระกูลส้มและมะนาว ผลไม้เมืองร้อน เช่น สับปะรด มะม่วง และกล้วย

 

ทั้งนี้ สินค้าที่เป็นผักผลไม้ตามฤดูกาล สามารถปลูกในประเทศได้ และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ มะเขือเทศ พริกปาปริกา แตงกวา และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น แครนเบอรืรี่ ราสป์เบอร์รี่ และแบล็กเบอร์รี่ ส่วนสินค้านำเข้าที่เป็นที่นิยมในฤดูร้อน เช่น มะม่วง สับปะรด ส้ม ทับทิม มะพร้าว เมล่อน อะโวคาโด ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ต้นรูบาร์บ เป็นต้น

 

ผู้บริโภคในฮังการีมีแนวโน้มที่จะซื้อผักและผลไม้บ่อยครั้งขึ้น แต่ปริมาณการซื้อแต่ละครั้งลดน้อยลง เป็นผลจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ กลยุทธ์หนึ่งของซูเปอร์มาร์เก็ต PENNY คือ การลดราคาสินค้าผักผลไม้ที่รูปลักษณ์ไม่สวยงาม มีรอยตำหนิที่เห็นได้ชัด เพื่อลดปัญหาการสูญเปล่าของทรัพยากรอาหาร และช่วยให้เกษตรกรในประเทศยังพอมีรายได้ เช่นเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ต Lidl มีกลยุทธ์ภายใต้แคมเปญ Mentsük meg (Let’s save it!) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อลดปัญหาอาหารที่กลายเป็นขยะ นอกจากนี้ ยังมีการจัดชุดผักผลไม้ที่รูปลักษณ์ไม่สวยงาม แต่ยังคงบริโภคได้ และจำหน่ายในราคาถูก โดยแต่ละถุงประกอบด้วยผักผลไม้คละชนิดกัน ประมาณ 3.5 กิโลกรัม ซึ่งก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย

 

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้รับข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Point Marketing ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้า และจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค (FMCG) โดยเฉพาะสินค้าอาหารแปรรูปและบรรจุกระป๋องให้กับร้านค้าปลีกและธุรกิจ HORECA ในฮังการี และประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สโลวาเกียและโรมาเนีย ว่า เนื่องจากผู้บริโภคส่วนมากในฮังการีมีระดับรายได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในสหภาพยุโรป จึงให้ความสำคัญกับราคาขาย ทั้งนี้ บริษัทฯ แนะนำว่าสินค้าอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศควรมีอายุการเก็บรักษาอย่างน้อยในช่วง 1-2 ปี เนื่องจากต้องเผื่อเวลาสำหรับการขนส่งและสต็อกสินค้าในโกดังด้วย

 

ผู้บริหารบริษัท Point Marketing ยังระบุว่าสินค้าจากไทยที่ขายดีในตลาดฮังการี คือ สับปะรดกระป๋อง และฟรุตสลัดรวมมิตร เนื่องจากนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น รับประทานเปล่าๆ ใส่ในสลัดผลไม้ ทำเครื่องดื่มคั้นสดหรือสมูตตี้ปั่น ทำขนม เช่น เค้ก มัฟฟิน เค้กโรล พาย พุดดิ้ง ไอศกรีมโยเกิร์ต เป็นต้น ส่วนสับปะรดนั้น สามารถใช้เป็นท็อปปิ้งพิซซ่าและเบอร์เกอร์ รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมในอาหารคาวนานาชนิด ส่วนมากจะเป็นเมนูฟิวชั่น เช่น ไก่อบสับปะรด ข้าวผัดสับปะรด และผัดเปรี้ยวหวาน เป็นต้น ทั้งนี้ ฤดูกาลไม่มีผลต่อยอดขายของสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคในฮังการีมีความต้องการซื้อผลไม้กระป๋องตลอดปี

 

สำหรับแนวโน้มการบริโภคสินค้าประเภทรักสุขภาพ ออร์แกนิค หรือผลิตภัณฑ์จากพืช แม้ว่าจะเป็นแนวโน้มที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป แต่สำหรับฮังการี กลุ่มผู้บริโภคในส่วนนี้ยังมีสัดส่วนไม่มากในตลาด เนื่องจากมีราคาแพง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงจะเป็นคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งต้องการอาหารเฉพาะทาง เช่น ไม่ใช้สารกลูเตน ไม่ใช้น้ำตาลแลคโตส เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่บริษัทฯ และ สคต. เห็นว่าสามารถสร้างช่องทางให้กับสินค้าไทย คือการทำให้ผู้บริโภคชาวฮังการีมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเครื่องปรุงอาหารไทย รวมทั้งผลไม้เมืองร้อน และรู้จักวิธีการนำไปใช้ปรับแต่งในเมนูต่างๆ ที่บริโภคในท้องถิ่น บริษัทฯ จึงแนะนำให้ผู้ส่งออกไทยติดต่อกับบริษัทผู้นำเข้าในฮังการี รวมทั้งร้านค้าปลีกต่างๆ โดยโปรโมททั้งคุณภาพของสินค้า ความหลากหลายของการเป็นส่วนผสมของเมนูท้องถิ่นในฮังการี รวมทั้ง การเสนอส่วนลดพิเศษ เพื่อช่วยลดต้นทุนของบริษัทไทยที่ต้องการขยายตลาดมายังฮังการีและอาณาบริเวณใกล้เคียง

 

แม้ชาวฮังกาเรียนจะนิยมสินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ก็เปิดใจรับรสชาติอาหารใหม่ๆ จากต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าจากไทยด้วย

รูปภาพที่ 1: ตัวอย่างสินค้าผลไม้กระป๋องที่ผลิตในประเทศไทย และบริษัท Point Marketing นำเข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศฮังการี

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

 

แม้ว่าสินค้าผักผลไม้ที่ผลิตในประเทศ จะเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งสำหรับผู้บริโภคในฮังการี ทว่าผู้บริโภคก็ยังคงเปิดรับอาหารและผลไม้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้านอกฤดูกาล สินค้าแปรรูป และสินค้าที่ปลูกในประเทศไม่ได้ แต่เป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารหรือเครื่องดื่มยอดนิยม ซึ่งจะช่วยตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มองหารสชาติแปลกใหม่ หรือตัวเลือกที่ไม่ซ้ำเดิม

 

ข้อมูลล่าสุดประจำปี 2564 จาก The Observatory of Economic Complexity มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารในหมวดผักและผลไม้ (พิกัดศุลกากร 07 และ 08) คิดเป็น 1.48% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดในประเทศฮังการี มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 2.026 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.91 หมื่นล้านบาท) โดยผู้นำเข้าในฮังการีมักนำเข้าผักผลไม้ ทั้งสดและแปรรูป จากคู่ค้าหลักในสหภาพยุโรป ได้แก่ สเปน เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในการลดต้นทุนภาษีนำเข้า และใช้เวลาขนส่งน้อยกว่าการนำเข้าจากนอกสหภาพยุโรป ส่วนคู่ค้ารายสำคัญอื่นนอกสหภาพยุโรป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซอร์เบีย จีน ตุรกี อินเดีย อียิปต์ แคนาดายูเครน แอลเบเนีย มอลโดวา ชิลี เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย

 

ทั้งนี้ ผู้นำเข้าในฮังการีไม่นิยมนำเข้าผักผลไม้สดจากไทยโดยตรง เนื่องจากมีต้นทุนสูง และเสียเปรียบทางกำแพงภาษี ส่วนใหญ่จะนำเข้าผ่านผู้นำเข้ารายใหญ่ในเยอรมนีหรือเนเธอร์แลนด์ แต่หากพิจารณาทางด้านความพึงพอใจของสินค้าไทย ชาวฮังการียังคงวางใจในคุณภาพสินค้าผักผลไม้แปรรูปจากไทย สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก International Trade Centre ประจำปี 2564 ที่ระบุว่าสินค้าผักผลไม้แปรรูปจากไทยที่ฮังการีนำเข้าเป็นหลัก ได้แก่ น้ำผลไม้ ผลไม้ในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง (โดยเฉพาะสับปะรด และฟรุตสลัดรวมมิตร) และผลไม้อบแห้ง/แช่อิ่ม/เชื่อม/ฉาบ มีมูลค่าการนำเข้าจากไทยมาฮังการีประมาณ 4.126 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 140 ล้านบาท) แม้สัดส่วนการนำเข้าเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ยังอยู่เพียงแค่ 3.66% แต่หากพิจารณาการนำเข้าสินค้าไทยผ่านประเทศในยุโรปตะวันตก ก็นับว่ามีมูลค่าและความต้องการสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี สินค้าไทยที่ต้องการจะส่งออกมายังฮังการี รวมทั้งประเทศในสหภาพยุโรป จะต้องผ่านการตรวจสารเคมีตกค้าง และตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นสากลต่างๆ เช่น GMP, HACCP และมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิต เนื่องจากประเทศในสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าควบคุมพิเศษที่มีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ฮังการียังมีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ และให้ความสำคัญกับการรับรองความปลอดภัยของอาหารและสิทธิผู้บริโภค สินค้าเกษตรกรรมของฮังการีจึงเป็นสินค้าปลอด GMO อันเป็นจุดขายที่สำคัญของฮังการี ฉะนั้น สินค้าไทยที่ได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าปลอด GMO ก็จะมีโอกาสมากขึ้นในการแข่งขันกับสินค้าในท้องถิ่น

 

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าอาหาร

ระดับสหภาพยุโรป

 

ระดับชาติ

 

ที่มาของข้อมูล

 

 

thThai