ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น คาดเสี่ยงถดถอยลดลง

อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมิถุนายนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยอยู่ที่ 3% นับว่าได้ลดลงมาอย่างมาก เหลือเพียงหนึ่งในสามของอัตราเงินเฟ้อเมื่อกลางปีก่อน (อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 9.1%) นอกจากนี้ ยังพบว่าราคาของแต่ละสินค้าได้ลดลงมามากกว่าที่ตลาดได้คาดไว้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมวันที่ 26 กรกฏาที่จะถึงนี้ โดยคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในปีนี้จะหยุดอยู่ที่เพียง 5.5% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปัจจุบันนั้น อยู่ที่ 5-5.25%

ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น คาดเสี่ยงถดถอยลดลง

หากเจาะรายสินค้า จะพบว่าในเดือนที่ผ่านมา ราคาของสินค้าหลายประเภทได้ลดลงอย่างมากจากปีก่อน ราคาสินค้าที่ลดลงมากที่สุด ได้แก่ ค่าโดยสารการบินลดลง 18.9% ราคาพลังงานลดลง 16.7% โทรศัพท์มือถือลดลง 16.1% และราคารถยนต์มือสอง ซึ่งราคาได้เพิ่มสูงมากในช่วงที่ผ่านมาได้ลดลง 5.2% สำหรับกลุ่มสินค้าที่ราคายังคงเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอาหารเพิ่มขึ้น 5.7% ราคาที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้น 7.8% อนึ่ง แม้จะยังเพิ่มขึ้น แต่นับว่าอยู่ในระดับที่ลดลงมามากแล้วจากช่วงกลางปีก่อน ทั้งนี้ หากคิดตามรายประเภทของสินค้า พบว่าราคาของสินค้าคงทนโดยเฉลี่ยลดลง 0.8% และราคาสินค้าไม่คงทนลดลง 1.3% ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงในปัจจุบัน ประการหนึ่งมาจากการที่ยอดใช้จ่ายของผู้บริโภคผันเปลี่ยนจากภาคสินค้ามายังภาคบริการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุมของธนาคารกลาง ตลอดจนการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ล้วนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลงมา

 

ในด้านของตลาดแรงงาน พบว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างมาก แต่ยังคงอยู่ในระดับดี ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนมีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น 209,000 งาน อัตราว่างงานสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.6% และค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อน นอกจากนี้ จากการสำรวจเงินไหลเวียนของชาวอเมริกัน 9 ล้านคน โดยธนาคาร JPMorgan Chase ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ของสหรัฐฯ พบว่าจำนวนเงินในบัญชีเงินหมุนเวียนและบัญชีเงินออมของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นถึง 10-15% ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าชาวอเมริกันจะยังคงมีกำลังซื้อในระดับดี

 

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักปรับมุมมองเกี่ยวกับโอกาสความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยสหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs บริษัทด้านการเงินใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ประกาศปรับลดความเสี่ยงคาดการณ์ของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยจาก 35% ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ให้เหลือเพียง 20% เมื่อสัปดาห์ก่อน นอกจากนี้ จากการสำรวจนักลงทุนใหญ่ในสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมโดยธนาคาร Bank of America ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ของสหรัฐฯ อีกแห่งหนึ่ง ยังพบว่า 68% ของนักลงทุนสหรัฐฯ เชื่อว่าเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอตัวในปีหน้า แต่คาดว่าจะไม่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น คาดเสี่ยงถดถอยลดลง

ในด้านของผู้บริโภค พบว่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากการสำรวจผู้บริโภค โดย University of Michigan มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ นั้นสูงขึ้นสูงสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ อยู่ที่ 72.6 จุด นับว่าสูงที่สุดนับแต่เดือนกันยายน 2564 นอกจากนี้ การสำรวจผู้บริโภคกว่า 6,000 คน โดยบริษัท Morning Consult ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาและวิจัยปรึกษาด้านธุรกิจ ก็เป็นไปในแนวโน้มเดียวกัน โดยพบว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตนั้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะไม่ลดกำลังซื้อลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 นี้

ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น คาดเสี่ยงถดถอยลดลง

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

ดัชนีทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับการส่งออกสินค้าไทย เนื่องจากคาดว่าชาวอเมริกันจะมีกำลังซื้อที่มากขึ้น รวมถึงมีอุปสงค์สินค้าที่เพิ่มมากขึ้น อนึ่ง ตัวเลขเงินเฟ้อที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งสัญญาณให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ระงับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ (US Dollar Index) ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 99.97 ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในรอบหนึ่งปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินนี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกไทย

thThai