การแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจ E-Commerce ทำให้ Yahoo! ไต้หวัน ประกาศปิดตัว Yahoo! Super Mall

วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 Yahoo! Kimo Search Engine ชื่อดังของไต้หวัน ประกาศหยุดให้บริการของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ Yahoo! Super Mall และแจ้งเลิกสัญญาของร้านค้าทั้งหมดภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 โดยจะปิดให้บริการแพลตฟอร์มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

Yahoo! Kimo ให้เหตุผลของการปิดให้บริการในครั้งนี้ว่า ต้องการบูรณาการบริการด้านอี-คอมเมิร์ซของธุรกิจในเครือทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยจะหันมาเน้นการให้บริการผ่าน Yahoo! Shopping Mall และ Yahoo! Auction มากขึ้น พร้อมมีโปรโมชั่นและบริการพิเศษที่มากยิ่งขึ้นสำหรับร้านค้าในการย้ายแพลตฟอร์ม โดย Yahoo! Kimo ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 ถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดอี-คอมเมิร์ซของไต้หวัน เริ่มตั้งแต่การก่อตั้ง Yahoo! Auction ที่เป็นบริการแบบ C2C โดยใช้สโลแกนที่ว่า “มีขายทุกอย่าง อะไรก็ไม่แปลก” จนทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซของไต้หวันคึกคักเป็นอย่างมาก ก่อนจะเปิด Yahoo! Shopping Mall ที่เป็นบริการแบบ B2C และต่อยอดมาเป็น Yahoo! Super Mall ที่เน้นการเปิดร้านออนไลน์เป็นหลักด้วยบริการแบบ B2B2C ซึ่งเปิดตัวในปี 2552 โดยในยุครุ่งเรืองของแพลตฟอร์มแห่งนี้ บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทั้ง ห้างสรรพสินค้าฮั่นเสิน ร้านหนังสือ King Stone ร้าน Watsons’ ต่างก็มีร้านออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Yahoo! Super Mall โดยมีจำนวนร้านค้ามากกว่า 3,000 แห่ง อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่สูงในตลาดอี-คอมเมิร์ซของไต้หวัน โดยมีคู่แข่งรายใหญ่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้ง momo และ PChome ที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น รวมไปจนถึง Shopee ที่เป็นแบรนด์ต่างชาติ อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับแพลตฟอร์มข้ามพรมแดนยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Taobao แม้ทาง Yahoo! Kimo จะพยายามควบกิจการของบริษัทในเครือทั้ง Yahoo! Auction, Yahoo! Shopping Mall และ Yahoo! Super Mall เข้าด้วยกันเพื่อบูรณาการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้จนต้องตัดสินใจปิดบริการของ Yahoo! Super Mall ในที่สุด

จากการวิเคราะห์ของนักการตลาดในไต้หวันชี้ว่า การเข้าสู่ตลาดของ Shopee ในปี 2558 ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแข่งขันในตลาดอี-คอมเมิร์ซทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยกลยุทธที่เน้นบริการส่งสินค้าฟรี (รับส่งของที่ร้านสะดวกซื้อและร้านของ Shopee) และแจกคูปองลดราคา ทำให้สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดมาครองได้อย่างรวดเร็ว จนในปี 2565 App ของ Shopee กลายเป็น App อันดับ 1 ของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในไต้หวันไปในที่สุด แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ในปัจจุบัน Shopee จะประสบภาวะขาดทุนก็ตาม

ที่มา : Business Next / Economic Daily News (July 5, 2566)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

การเข้ามาของ Shopee ที่ทำให้การแข่งขันในตลาดอี-คอมเมิร์ซของไต้หวันทวีความดุเดือดมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการ E-commerce ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจเพื่อให้แข่งขันได้ โดยปัจจัยสำคัญคือการให้บริการที่มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยในธุรกิจ E-Commerce บริการ C2C มีแนวโน้มที่น่าสนใจ ทำให้หลายแพลตฟอร์มเริ่มหันกลับมาเน้นบริการในส่วนนี้มากขึ้น เช่น Ruten ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในเครือของ PChome ก็เริ่มหันมาโปรโมทการจำหน่ายสินค้ามือสอง แบบ C2C ให้โอกาสผู้บริโภคได้ส่งต่อสินค้าใช้แล้วต่อกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ต้องการให้มีการใช้งานสิ่งของต่างๆ อย่างยิ่งยืน โดยเฉพาะหนังสือมือสองที่ถือเป็นสินค้ามือสองที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง นอกจากนี้ PChome ยังเห็นโอกาสจากการที่ชาวไต้หวันชอบมาเที่ยวเมืองไทยจึงเปิดแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าไทยขึ้นโดยเฉพาะ คือ PChome Thai Shopping ที่ให้บริการในแบบ B2B2C และเพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงต้นปี 2565 อันถือเป็นช่องทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการขยายมายังไต้หวัน ในขณะที่ Coupang แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ที่เพิ่งสู่ตลาดไต้หวันได้ไม่นาน ก็พยายามแย่งส่วนแบ่งตลาดด้วยกลยุทธการส่งของเร็ว (สั่งวันนี้ ได้รับของพรุ่งนี้) และเน้นจุดแข็งในการเป็นแพลตฟอร์มเกาหลีใต้ ด้วยการจำหน่ายสินค้าข้ามพรมแดนจากเกาหลีใต้เป็นหลัก โดยที่หากผู้บริโภคเปรียบเทียบราคาจากเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาแล้วจะพบว่า ราคาสินค้าจากเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ของ Coupang จะมีราคาถูกที่สุด จึงทำให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไต้หวันเป็นอย่างมาก ทำให้มีโอกาสที่จะกลายเป็น Player รายสำคัญในตลาดเช่นกัน

thThai