หนุ่มญี่ปุ่นขอสาวแต่งงานด้วยอสังหาริมทรัพย์แทนแหวนหมั้น ปัจจุบัน เริ่มมีคู่บ่าวสาวที่ฝ่ายชายขอฝ่ายหญิงแต่งงานด้วยการมอบอสังหาริมทรัพย์แทนแหวนหมั้น ด้วยเหตุผลเพื่อใช้เงินกับการใช้ชีวิตคู่มากกว่าใช้เงินซื้อแหวนหมั้นที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสสวมใส่หรือการจัดงานแต่งงานใหญ่โตเพียง 1 วัน บริษัท Open House Group Co., Ltd. (บริษัทด้านการเคหะและอสังหาริมทรัพย์) จึงนำเสนอรูปแบบการขอแต่งงานรูปแบบใหม่คือการมอบบ้านเพื่อเป็นทางเลือกให้กับหนุ่มสาวสายติดดินที่เน้นการใช้เงินอย่างคุ้มค่า (cost performance)
 พนักงานหญิงวัย 24 ปี ให้ความเห็นว่า “แหวนหมั้นไม่ได้สวมใส่เป็นประจำ แถมยังมีราคาแพง เลยรู้สึกเสียดายเงินที่นำมาทุ่มกับการขอแต่งงาน และจะดีใจกว่าถ้าได้รับสิ่งของหรืออะไรที่ใช้ได้จริง”
หนุ่มญี่ปุ่นขอสาวแต่งงานด้วยอสังหาริมทรัพย์แทนแหวนหมั้น 
ที่ผ่านมาเคยว่ากันว่า ราคาแหวนหมั้นเท่ากับเงินเดือน 3 เดือนทำให้มีคนใฝ่ฝันอยากได้จำนวนมาก แต่ปัจจุบัน หลายคนคิดว่าแหวนหมั้นเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้น้อย จากการสำรวจของเว็บไซต์ข่าวสารการแต่งงาน “Minna no Wedding” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า มีเจ้าสาวที่ไม่ขอรับแหวนหมั้นร้อยละ 31 .1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยกองบรรณาธิการข่าวสารของเว็บไซต์ฯ เปิดเผยว่า “ยังคงมีเจ้าสาวที่ใฝ่ฝันอยากได้แหวน แต่ก็มีเจ้าสาวที่อยากใช้เงินกับบ้านใหม่หรือไปท่องเที่ยวมากกว่าแหวน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีคู่บ่าวสาวที่จัดพิธีมอบสินสอดตามประเพณีลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 และมีการมอบเป็นสร้อยคอ นาฬิกาที่สามารถสวมติดตัวได้เพิ่มขึ้น และที่เพิ่มขึ้นอีกอย่าง คือ การมอบอสังหาริมทรัพย์”
หนุ่มญี่ปุ่นขอสาวแต่งงานด้วยอสังหาริมทรัพย์แทนแหวนหมั้น 
ชายอายุ 27 ปี เพิ่งมอบเฟอร์นิเจอร์และกรรมสิทธิ์บ้านส่วนหนึ่งซึ่งจะเป็นเรือนหอให้กับภรรยา เพราะภรรยาได้บอกว่า ไม่อยากได้แหวนหมั้นแต่ขอให้ใช้เงินกับซึ่งที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันแทน เงินที่เหลือก็นำมาซื้อกระจกบ้านใหญ่ กระเบื้องราคาแพง สั่งตัดผ้าม่านราคา 5 แสนเยน (ประมาณ 120,000 บาท) เป็นการอัพเกรดที่อยู่อาศัย เพราะทั้งคู่มีความชอบเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าและทำงานนอกบ้านทั้งสองคนจึงให้ความสำคัญกับบ้านและที่อยู่อาศัย
ปัจจุบัน เริ่มมีบริการที่เจาะกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มขอแต่งงานด้วยอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัท Open House Group Co., Ltd. ได้เริ่มให้บริการ “คำสัญญาซื้อบ้านใหม่” ตอนขอแต่งงานโดยอยู่ในความดูแลของทนายความ ซึ่งได้เริ่มให้บริการในเดือนมิถุนายน 2566 โดยเจ้าหน้าที่ที่นำเสนอบริการนี้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากรอบตัวมีคู่บ่าวสาวที่ไม่ต้องการแหวนหมั้นแหวนแต่งงาน และแค่อยากจัดพิธีแต่งงานเล็กๆ เพิ่มขึ้น จึงพยายามคิดบริการที่สามารถตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้ และเห็นว่า เมื่อแต่งงานกันคู่บ่าวสาวมักคิดถึงเรื่องที่อยู่อาศัยหลังใหม่ จึงนำเสนอทางเลือก “การมอบบ้าน” ให้กับคนกลุ่มนี้ โดยจะร่วมมือกับบริษัท TIPLOG  ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแต่งงาน จัดเตรียมสถานที่สำหรับบ่าวสาวเพื่อทำพิธีสาบานรักด้วยคำสัญญาการมอบ เรือนหอ มีการจัดเตรียม Chapelle เป็นสถานที่จัดพิธี และเตรียมร้านอาหารให้กับคู่บ่าวสาว และมีแผนเริ่มให้บริการนี้ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือฤดูร้อนของญี่ปุ่นในปีนี้
สังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ความคิดของคู่รักเปลี่ยนไป ซึ่งกองบรรณาธิการข่าวสารเว็บไซต์ Minna no Wedding ให้ความเห็นว่า “กลุ่มคนรุ่นนี้เป็นกลุ่มที่มีความคิดว่า เงินที่หาด้วยกันจะใช้ด้วยกันอย่างไร” ท่ามกลางอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงและค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่คู่บ่าวสาวจะให้ความสำคัญกับการเลือกสิ่งที่จะลงทุนมากขึ้น
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวญี่ปุ่นคิดและตริตรองในการใช้เงินกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่กำลังสร้างครอบครัว พฤติกรรมการบริโภคหรือการใช้เงินกับการแต่งงานที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเน้นความคุ้มค่า สมเหตุสมผล มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา และไม่ยึดติดกับแบรนด์ต่างๆ อาจเป็นโอกาสให้กับธุรกิจใหม่รวมถึงสินค้าไทย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน หรือการตกแต่งภายใน เป็นต้น
จากข้อมูลของบริษัท Yano Research Institute พบว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์ของญี่ปุ่น (ทั้งที่ใช้ในบ้านและสำนักงาน) ในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 1.03 ล้านล้านเยน(ประมาณ 257,500 ล้านบาท) โดยคาดว่าในปี 2566 จะขยายตัวเป็น 1.04 ล้านล้านเยน (ประมาณ 260,000 ล้านบาท) เนื่องจากมีการก่อสร้างใหม่หรือปรับปรุงที่อยู่อาศัย/สำนักงานเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มากนักเนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยน และความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

ข่าวเด่นฉบับที่ 40 ประจำวันที่ 1 – 7 กรกฎาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

อ้างอิงและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2566
เว็บไซต์ https://www.yanoresearch.com/
เว็บไซต์ https://jfa-kagu.jp/
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUC164IN0W3A610C2000000/
thThai