ธุรกิจกาแฟได้รับความสำคัญในมณฑลหูหนาน

หลายปีที่ผ่านมา มณฑลหูหนานของประเทศจีนได้มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจกาแฟ โดยหน่วยงานภาครัฐได้จัดการประชุมฟอรัมเกี่ยวกับกาแฟและกิจกรรมประชาสัมพันธ์หลายครั้ง รวมถึงได้สนับสนุนการสร้างแบรนด์กาแฟท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เครื่องดื่มกาแฟได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตลาดเกาเฉียว เมืองฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน มีการสร้างถนนกาแฟขึ้นมาจนกลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมและได้ดึงดูดผู้บริโภคที่ชื่นชอบกาแฟจากทั้งประเทศจีน

มณฑลหูหนานตั้งอยู่ทางภาคกลางของจีน ไม่มีพื้นที่ติดกับชายแดนและทะเล เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ผลิตกาแฟ กาแฟในท้องตลาดต้องพึ่งพาการนำเข้ามาทั้งหมด เมื่อปี 2565 มูลค่าการนำเข้าเมล็ดกาแฟของมณฑลหูหนานอยู่ที่ 5,626,817 หยวน โดยนำเข้ามาจาก 6 ประเทศ ได้แก่ เอธิโอเปีย เคนยา รวันดา แทนซาเนีย ยูกันดา และเนเธอร์แลนด์

รัฐบาลหูหนานได้สร้างศูนย์การค้ากาแฟแอฟริกาที่ตลาดเกาเฉียวขึ้นเมื่อปี 2563  เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้ากับกลุ่มประเทศแอฟริกาและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจกาแฟอย่างครบวงจร ปัจจุบัน มณฑลหูหนานมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมของกาแฟแอฟริกาอย่างครบถ้วนในเบื้องต้นแล้ว กล่าวคือ มณฑลหูหนานนำเข้ากาแฟจากแอฟริกาโดยตรง นำมาแปรรูปในมณฑล และสร้างแบรนด์กาแฟท้องถิ่น เพื่อนำมาทั้งจำหน่ายในมณฑลและตลาดทั่วประเทศจีน ส่งผลให้ต้นทุนกาแฟประเภทเดียวกันในตลาดลดลง 30%

สำหรับต้นน้ำของห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟแอฟริกาในมณฑลหูหนาน หน่วยงานบริหารศูนย์การค้ากาแฟแอฟริกาได้จัดตั้งศูนย์บริหารการจัดซื้อกาแฟที่แอฟริกา และได้ร่วมมือกับสถาบันวิชาชีพในการประสานงานกับผู้ประกอบการกาแฟของแอฟริกาและควบคุมคุณภาพจากแหล่งที่มา รวมทั้งได้ร่วมมือกับบริษัทดำเนินธุรกิจกาแฟในการนำกาแฟมาแปรรูปที่นิคมอุตสาหกรรม โดยผลักดันให้การเก็บสินค้าในโกดัง การแปรรูป และการวิจัยผลิตภัณฑ์รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในด้านการเงินของห่วงโซ่อุปทาน มีการสร้างระบบเครดิตบัญชีสำหรับบริษัทนำเข้าที่ดำเนินการตามมาตรฐานของข้อกำหนดและอำนวยความสะดวกในการจัดหาเงินให้กับบริษัทในระบบดังกล่าว สำหรับปลายน้ำ ได้สนับสนุนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีแบรนด์

ภายใต้โมเดลธุรกิจดังกล่าว เมื่อปี 2565 ตลาดเกาเฉียวของหูหนานได้จำหน่ายกาแฟมากกว่า 2,000 ตัน มูลค่าการจำหน่ายสูงถึง 1,000 ล้านหยวน เติบโต 26% เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับกาแฟที่นำเข้าจากแอฟริกามียอดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วน 40% นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในตลาดเกาเฉียวยกระดับธุรกิจ โดยการใช้วัตถุดิบกาแฟจากแอฟริกามาเป็นพื้นฐานในการสร้างแบรนด์กาแฟท้องถิ่น เช่น แบรนด์ “Xiaokazhu” ได้เปิดสาขาร้านกว่า 20 ร้านทั่วจีน ซึ่งเป็นแบรนด์กาแฟที่ริเริ่มมาจากผู้ประกอบการในตลาดเกาเฉียว

ความเห็น สคต. ปี 2565 ปริมาณการบริโภคกาแฟของจีนอยู่ที่ 280,000 ตัน ปริมาณการบริโภคกาแฟ/คน/ปี อยู่ที่ 12.3 แก้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วนับว่าปริมาณยังน้อยมาก (การบริโภคของบราซิลอยู่ที่ 376 แก้ว สหรัฐอเมริกา 288.9 แก้ว และญี่ปุ่น 207.4 แก้ว) สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพตลาดกาแฟของจีนที่ยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก โดยมณฑลหูหนานได้เล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าว จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจกาแฟอย่างมาก ถึงแม้ปัจจุบันจะเน้นการพัฒนากาแฟจากแอฟริกาเป็นหลัก นอกจากนี้ มณฑลหูหนานเป็นมณฑลที่มีเศรษฐกิจดี GDP อยู่อันดับที่ 9 ของจีน เป็นตลาดที่มีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงเครื่องดื่มกาแฟยังได้รับความนิยมอย่างมากอีกด้วย ตลาดหูหนานจึงเป็นโอกาสในการนำเข้ากาแฟจากประเทศอื่นด้วย รวมถึงกาแฟจากประเทศไทย

ในปี 2566 มณฑลหูหนานไม่ได้นำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศไทย แต่ได้นำเข้าเครื่องดื่มกาแฟจากไทย คิดเป็นมูลค่า 21,840 หยวน ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่มาก จึงเป็นโอกาสในการขยายการค้าเมล็ดกาแฟและเครื่องดื่มกาแฟจากไทย ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์นำสินค้ากาแฟมาทดลองในตลาดจีน สามารถพิจารณาเลือกเจาะตลาดที่มณฑลหูหนานได้ เนื่องจากมีรากฐานธุรกิจกาแฟที่ดีอยู่แล้ว  หากผู้ประกอบการต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ สคต. ทางอีเมล thaitcnanning@ditp.go.th

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

แหล่งที่มา:
http://www.hn.chinanews.com.cn/news/cjxx/2023/0320/469127.html

https://www.sohu.com/a/692143740_121687414

https://hunan.voc.com.cn/article/202206/20220608162328848356.html?mobile

 

thThai