รัฐบาลตุรกีประกาศขึ้นภาษีบริโภคพิเศษ (Special Consumption Tax : SCT) น้ำมันเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2016 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มรายได้ เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลไปในการบรรเทาผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ผ่านมา และจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566

การขึ้นภาษีน้ำมันดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า (เบนซินเพิ่มจากลิตรละ 2.52 ลีรา หรือประมาณ 0.1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 7.52 ลีรา หรือ 0.3 เหรียญสหรัฐฯ และดีเซล จาก 2.05 ลีรา เป็น 7.05 ลีรา) จะเพิ่มรายรับกว่า 1.12 ล้านล้านลีรา หรือประมาณ 42.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งสูงถึง 263.6 พันล้านลีราในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ 124.6 พันล้านลีรา) อย่างไรก็ดี อาจส่งผลทำให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น จากที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 38.2 ในเดือนมิถุนายน ศกนี้ หลังจากที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี ที่ร้อยละ 85.5 เมื่อเดือนตุลาคม 2565

ตุรกีขึ้นภาษีน้ำมัน

 

ทั้งนี้ เป็นการปรับขึ้น SCT ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 แม้ว่าตุรกีจะเผชิญปัญหาจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราแลกเปลี่ยน โดยเมื่อปี 2016 รายได้จากภาษี SCT คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.58 ของ GDP ขณะที่ในปี 2022 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 โดยสัดส่วนของ SCT ที่เรียกเก็บจากน้ำมัน คิดเป็นร้อยละ 17.84 ของภาษีดังกล่าวทั้งหมดในปี 2022 ลดลงจากร้อยละ 26.23 ในปี 2016 ทั้งนี้ หลังจากขึ้น SCT แล้ว ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะปรับขึ้นจากลิตรละ 26.7 ลีรา (ประมาณ 0.99 เหรียญสหรัฐฯ) เป็น 34.1 ลีรา (1.27 เหรียญสหรัฐฯ)

*หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 26.0953 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 80 ตั้งแต่ปี 2018 และร้อยละ 28 ในปี 2023

ความเห็น สคต.

การขึ้นภาษีน้ำมันในครั้งนี้คาดว่าจะทำให้ภาวะเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอีก เนื่องจากภาคการผลิตภายในประเทศที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและจำเป็นต้องผลักภาระให้กับผู้บริโภคในรูปแบบของการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งย่อมกระทบกับภาคเศรษฐกิจและการบริโภคโดยรวม สำหรับในส่วนของการนำเข้าที่ประสบกับปัญหาเงินลีร่าที่อ่อนค่าลงอย่างมากและต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการต้องชะลอการนำเข้าลงจากทั่วโลกรวมทั้งจากประเทศไทยด้วยเพื่อรอดูการปรับตัวของสถานการณ์ต่อไป

ที่มา :  https://www.hurriyetdailynews.com/special-consumption-tax-on-natural-gas-petrol-hiked-184766

 

thThai