ตลาดอาหารสหรัฐฯสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของเชื้อชาติประชากรสหรัฐฯ ที่ทำให้มีอาหารจากหลากหลายเชื้อชาติจำนวนมากวางจำหน่ายในทุกรูปแบบและในทุกช่องทางธุรกิจค้าปลีกให้เลือกบริโภค อาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐฯและสามารถหาได้ทั่วไปมาจาก 6 เชื้อชาติคือ อาหารอิตาเลียน ญี่ปุ่น เม็กซิกัน อาหารไทย อินเดีย และจีน
การเก็บข้อมูลของ CivicScience Inc. บริษัทวิจัยตลาดในเมือง Pittsburgh, Pennsylvania พบว่า คนอเมริกันแต่ละกลุ่มอายุและในแต่ละพื้นที่อยู่อาศัยจะนิยมบริโภคอาหารที่แตกต่างกัน อาหารหลัก 2 ประเภทที่คนอเมริกันโดยทั่วไปนิยมรับประทาน คือ อาหารอิตาเลียนและอาหารเม็กซิกัน เมื่อให้เลือกอาหารที่ตนนิยมบริโภค สามในสี่ของคนอเมริกันเลือกอาหารเม็กซิกันเป็นอันดับหนึ่ง เกินกว่าหนึ่งในสามหรือร้อยละ 35 เลือกอาหารอิตาเลียน ร้อยละ 14 เลือกอาหารจีน และร้อยละ 5 เลือกอาหารไทย เมื่อแยกตามกลุ่มอายุ คนอเมริกันโดยทั่วไปที่อายุต่ำกว่า 55 ปีนิยมรับประทานคืออาหารเม็กซิกัน คนอเมริกันกลุ่ม Baby Boomers โดยทั่วไปนิยมอาหารอิตาเลียน ผลการสำรวจพบว่าคนอเมริกันกลุ่ม Gen Z และ Millennial นิยมบริโภคอาหารที่หลากหลายชาติพันธุ์มากกว่ากลุ่มอื่น
ความแตกต่างของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และขนาดของเมืองที่อยู่อาศัยส่งผลกระทบต่อความนิยมบริโภคอาหารเช่นกัน ส่วนใหญ่ของคนที่อยู่อาศัยในเขตตะวันออกเฉียงเหนือนิยมบริโภคอาหารอิตาเลียน ขณะที่ส่วนใหญ่ของคนอเมริกันในเขตตะวันตกนิยมอาหารเม็กซิกัน ส่วนใหญ่ของคนในเมืองนิยมบริโภคอาหารเม็กซิกัน คนที่อยู่ชานเมืองและในชนบทนิยมบริโภคอาหารอิตาเลียน อาหารไทยได้รับความนิยมบริโภคบนฝั่งตะวันตกและในเขตเมืองใหญ่
ชนิดของอาหารที่นิยมรับประทานเป็นตัวกำหนดประเภทของร้านอาหารและร้านโกรเชอรี่ที่คนอเมริกันใช้บริการ
ทางเลือกอันดับแรกของ supermarket ขนาดใหญ่ที่คนอเมริกันที่นิยมบริโภคอาหารเม็กซิกันคือ supercenter เช่น Walmart หรือ Target ทางเลือกอันดับแรกของคนอเมริกันที่นิยมอาหารอิตาเลียนคือโกรเชอรี่ที่เป็นธุรกิจเครื่อข่ายขนาดใหญ่ระดับภาคพื้น เช่น Safeway คนอเมริกันที่นิยมซื้อสินค้าที่ร้านค้าประเภท membership clubs เช่น Costco และ specialty store เช่น Whole Foods เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความนิยมบริโภคอาหารหลากหลายมากกว่า การสำรวจพบว่าร้อยละ 15 ของคนอเมริกันที่ซื้อสินค้าที่ membership clubs ซื้อสินค้าอาหารอินเดีย ร้อยละ 20 ของคนอเมริกันที่ซื้อสินค้าที่ specialty store ซื้ออาหารจีน ร้อยละ 8 ของคนที่ซื้ออาหารไทยจะซื้อที่ specialty natural/organic grocery chain เช่น Trader Joe’s, Whole Foods และร้อยละ 6 จะซื้อที่ membership club เช่น Costco หรือ Sam’s Club
ข้อมูลเพิ่มเติม และ ข้อคิดเห็นจาก สคต ลอสแอนเจลิส
1. ข้อมูลที่ CIVID Science จัดทำขึ้นข้างต้น เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า โอกาสที่จะประกันความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นในการทำธุรกิจในสหรัฐฯ ประการแรกคือการศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจในประเทศสหรัฐฯและคนอเมริกันที่จะช่วยให้สามารถกำหนดตลาดเป้าหมาย กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่เหมาะสมกับสินค้า และช่องทางที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค
เป้าหมายได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากตลาดสหรัฐฯเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก มีตัวแปรหลากหลายที่สร้างความแตกต่างของความต้องการบริโภคสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสจำนวนมากเช่นกัน คือ
(1) สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 19 เท่า ที่ประกอบไปด้วยลักษณะภูมิประเทศ 8 ประเภทและโซนอากาศที่แตกต่างกัน 10 โซน
(2) จำนวนประชากรมากกว่า 300 ล้านคน แยกเป็น 5 กลุ่มตามเชื้อพันธุ์หลักคือ คนผิวขาว คนฮิสแปนิก คนเอเซีย คนพื้นเมืองดั้งเดิมบนแผ่นดินใหญ่และอลาสก้า และคนพื้นเมืองดั้งเดิมบนเกาะฮาวาย ที่มีภาษาพูดที่ใช้ในสหรัฐฯแตกต่างกันระหว่าง 350 – 450 ภาษา
2. การสำรวจของ Civic Science เป็นการสำรวจในภาพรวมของทั้งประเทศ ทำให้อาหารไทยดูเหมือนได้รับความนิยมบริโภคน้อยกว่าอาหารเม็กซิกัน เหตุผลหลักน่าจะมาจากอาหารไทยสำเร็จรูปส่วนใหญ่เน้นวางจำหน่ายในร้านค้ากลุ่มชาติพันธุ์เอเซีย ที่วางจำหน่ายในตลาด mainstream สหรัฐฯมีจำนวนจำกัด อาจเป็นเพราะความเชื่อที่ว่ากลุ่ม mainstream ไม่มีศักยภาพซึ่งไม่ถูกต้อง และจำนวนร้านอาหารไทยในสหรัฐฯมีไม่แพร่หลายมากนัก ประมาณการณ์ในปี 2018 ระบุว่ามีร้านอาหารไทยในสหรัฐฯที่สำรวจได้ 5,342 ร้าน (ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า) ซึ่งถ้าพิจารณาว่าสหรัฐฯมีประชากรเชื้อชาติไทยประมาณ 300,000 คน ถือได้ว่าสหรัฐฯมีร้านอาหารไทยจำนวนมากและเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งชี้ศักยภาพและโอกาสการเติบโตของสินค้าอาหารไทยในสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับร้านอาหารเม็กซิกันที่มีอยู่ประมาณ 54,000 แห่ง แต่สหรัฐฯมีประชากรเชื้อชาติเม็กซิกันประมาณ 36 ล้านคน
3. โอกาสของสินค้าอาหารไทยในสหรัฐฯ
3.1 อาหารไทยสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่เป็นอาหารแห้ง บรรจุกระป๋องหรือถุง (pouch) หรือแช่เยือกเข็ง หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปที่พร้อมที่จะนำไปปรุงแต่งได้โดยง่ายและใช้เวลาน้อย เหมาะกับผู้บริโภคสหรัฐฯที่ไม่คุ้นเคยกับการปรุงแต่งอาหารไทย และผู้บริโภคกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีศักยภาพสูงที่จะเป็นลูกค้าเป้าหมายหลัก สินค้าเหล่านี้เริ่มมีปรากฎแพร่หลายมากขึ้นในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ตลาดยังคงมีโอกาสอยู่มากสำหรับผู้ผลิตรายใหม่ๆและสินค้าใหม่ๆจากประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความแปลกใหม่น่าสนใจกว่าผัดไทย
3.2 โอกาสของตลาดไม่ได้อยู่เฉพาะในรูปของอาหารสำเร็จรูป แต่รวมถึงในรูปของวัตถุดิบในการปรุงแต่งอาหาร โดยเฉพาะสำหรับการปรุงแต่งอาหารของ 6 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับความนิยมบริโภคในสหรัฐฯ อาหารอิตาเลียน ญี่ปุ่น เม็กซิกัน อาหารไทย อินเดีย และจีน ที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าข้าวไทยทุกชนิด ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวเมล็ดกลางและสั้น เครื่องปรุงรส และเครื่องเทศหลากหลายชนิด เป็นต้น การจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับปรุงแต่งอาหาร ไม่จำเป็นต้องเป็นสำหรับธุรกิจร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังสามารถผลิตในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเพื่อผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม mainstream ใช้สำหรับการปรุงแต่งอาหารไทยได้โดยง่ายเป็นครั้งคราว ประเภทเติมเนื้อเติมผัก ก็สามารถออกมาเป็นอาหารไทยได้ ปัจจุบันสินค้าประเภทนี้ของผู้ผลิตไทยยังมีจำนวนน้อยมาก
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส | ข่าวประจำสัปดาห์ | 10 – 14 กรกฏาคม 2566
หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้