ภาพรวมตลาด

รายงานจาก Korea Rural Economic Institute ให้ข้อมูลว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงซึ่งรวมทั้งอาหารและบริการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้ เติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 1.9 ล้านล้านวอนในปี 2558 เป็น 4.1 ล้านล้านวอนในปี 2565 โดยมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงจำนวนมากเข้าสู่ตลาดสัตว์เลี้ยง ซึ่งคาดว่าการแข่งขันภายในตลาดจะเพิ่มขึ้น และภายในปี 2570 ขนาดของตลาดสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้จะมีมูลค่าประมาณ 6 ล้านล้านวอน

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

รายงานสัตว์เลี้ยงเกาหลีปี 2564 โดยสถาบันวิจัยการจัดการของกลุ่ม KB Financial Group กล่าวว่า ประชาชนในเกาหลีใต้จำนวน 14.48 ล้านคนหรือ 6.04 ล้านครัวเรือนมีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน โดยในปี 2565 คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรสัตว์เลี้ยงมีประมาณ 8 ล้านตัว ในจำนวนนั้น คิดเป็นสุนัข 5.45 ล้านตัว และแมว 2.54 ล้านตัว รวมถึง สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น เช่น ปลา นก เต่า แฮมสเตอร์ด้วยและในเกาหลี อาหารสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะผลิตโดยบริษัทขนาดใหญ่ แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง จะมีผู้ผลิตจากหลากหลายแห่งในตลาด เช่น บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงสถาบันวิจัย

 

  • อาหารสัตว์เลี้ยง

ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของเกาหลีสามารถแบ่งออกได้เป็นหมวดหมู่ตามประเภทของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมว ผลิตภัณฑ์ เช่น อาหารแห้ง อาหารเปียก สารเสริมในอาหารและอาหารว่าง การกำหนดราคา ส่วนผสมที่ใช้ และวิธีการจัดจำหน่าย เช่น ร้านค้าเฉพาะทาง ซุปเปอร์มาร์เก็ต และช่องทางออนไลน์

ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศเติบโตทุกปี จาก 8.54 แสนล้านวอนในปี 2559 เป็น 1.33 ล้านล้านวอนในปี 2563 ซึ่งอาหารสุนัขมีมูลค่า 5.88 แสนล้านวอน คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดจากสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมดอยู่ ตามด้วยอาหารแมวแบบแห้งที่ 25.1% หรือมูลค่า 3.35 แสนล้านวอน นอกจากนี้ แบรนด์ต่างประเทศ เช่น Royal Canin, ANF, Hill’s และ Ciao เป็นต้น มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศทั้งหมดด้วย

< ขนาดตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้ >

                                                                                                (หน่วย: แสนล้านวอน)

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

  • สินค้าสำหรับดูแลสัตว์เลี้ยงและบริการอื่นๆ

แนวโน้มของพฤติกรรม Pet humanization หรือการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว ได้สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ให้กับตลาดสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยงเฉพาะทาง อย่างเช่น ร้านเสริมสวยสุนัข ที่เปิดโอกาสให้กับเจ้าของได้ใช้จ่ายกับสัตว์เลี้ยงของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าผู้บริโภคในยุคนี้เต็มใจใช้จ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้น

 

สถานะการนำเข้าสินค้ามายังเกาหลีใต้

อาหารสุนัข อาหารแมว และสินค้าอื่นๆ เช่น สายจูง เบาะรองนั่ง เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ได้มีการนำเข้า สินค้ามาจากจีน สหรัฐอเมริกา ไทย และแคนาดาเป็นส่วนใหญ่

    • อาหารสุนัข (HSK 2309101000)

                                                                              (หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ, %)

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

    • อาหารแมว (HSK 2309102000)

                                                                               (หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ, %)

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

  • สำหรับสินค้าสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่อาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากไม่มีการกำหนดรหัส HSK จึงไม่สามารถคำนวณสถิติการค้าได้
  • จากจำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงและความตระหนักในสังคม (Social awareness) ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดออร์แกนิกและอาหารสัตว์ชนิดอาหารฟังก์ชัน (Functional pet food) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากมีคุณภาพสูงและส่งผลดีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง

ระเบียบและขั้นตอนการนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงมายังเกาหลีใต้

การยื่นคำร้องเพื่อขึ้นทะเบียนส่วนผสมอาหารสัตว์เลี้ยง

    • ผู้นำเข้าจะต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนส่วนผสมกับศาลากลางจังหวัดหรือเมืองตามที่อยู่บริษัท หากนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นครั้งแรก
    •  เอกสารที่ต้องใช้
      1. ใบยื่นคำร้อง
      2. คู่มือกระบวนการผลิต
      3. เอกสารที่ระบุชื่อของวัตถุดิบที่ใช้
      4. ฉลากวิเคราะห์ส่วนผสมหรือใบรับรองการทดสอบ

 การแจ้งนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงหลัง

        • จากการลงทะเบียนส่วนผสมอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้นำเข้าจะต้องนำรายงานการนำเข้าไปยังสมาคมส่วนผสมอาหารเกาหลี (Korea Feed Ingredients Association) หรือสมาคมอาหารเกาหลี (Korea Food Association)
        •  เอกสารที่ต้องใช้
          1. สำเนาใบรับรองการลงทะเบียนส่วนผสมอาหารสัตว์เลี้ยง
          2. บรรจุภัณฑ์หรือฉลากที่ทำเครื่องหมายเป็นภาษาเกาหลี
          3. Commercial Invoice
          4. B/L
          5. เอกสารที่รองรับสำหรับการป้องกันโรคของสัตว์ เช่น BSE หรือ ใบรับรองการบำบัดความร้อน

การยื่นคำร้องสำหรับการกักกันโรคกับหน่วยงาน Animal and Plant Quarantine Agency

    • ผู้นำเข้าต้องยื่นคำร้องขอการกักกันกับหน่วยงาน Animal and Plant Quarantine Agency และผ่านขั้นตอนการกักกันโดยเจ้าหน้าที่
    • เอกสารที่ต้องใช้
      1. ใบยื่นคำร้อง
      2. ใบรับรองการกักกันจากประเทศผู้ส่งออก (ตัวจริง)
      3. ใบรับรองการอนุญาตนำเข้า (กรณีเป็นสินค้าที่มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามในการนำเข้า)

สำแดงสิ่งของต่อศุลกากร

    • ผู้นำเข้าจะต้องส่งหนังสือรับรองรายงานการนำเข้าและใบรับรองการกักกันไปยังกรมศุลกากรและดำเนินการรายงานการนำเข้าไปยังสำนักงานศุลกากรที่มีความสามารถ
    • เอกสารที่ต้องใช้
      1. ใบรับรองการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง
      2. ใบรับรองการกักกันโรคของสินค้าปศุสัตว์นำเข้า
      3. เอกสารการจัดส่งอื่นๆ เช่น BL ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับหีบห่อ ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า

แนวโน้มของสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

อาหารสัตว์เลี้ยง

    • Human-graded หรือ Premium food
      • ผู้ผลิตอาหารในประเทศเกาหลีจำนวนมากได้หันมาเริ่มผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงออกมา โดยมีผู้ผลิตอาหารชั้นนำ เช่น Harim, Dongwon F&B, hy, KGC Ginseng Corporation และ Pulmuone นอกจากนี้ ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมี่ยมยังเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งการจำหน่ายสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงบนช่องทางออนไลน์ก็ได้ผลตอบรับที่ดี เนื่องจากมีส่วนลดในการชำระเงิน สะดวกในการขนส่ง และความรวดเร็วในการรับสินค้า
      • KGC Ginseng Corporations ได้เริ่มพัฒนาและจำหน่ายอาหารพรีเมี่ยมภายใต้ยี่ห้อ “Ginipet” สำหรับสุนัขและแมว
      • Harim ก็ได้เปิดตัวอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในชื่อ “The Real” ซึ่งทางผู้ผลิตกล่าวว่าเป็นอาหารที่คุณภาพของวัตถุดิบเทียบเท่ากับอาหารของมนุษย์และไม่มีการใส่สารกันบูด

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

      • ตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง มีการนำเสนออาหารทางเลือก เช่น อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ผ่านการคำนวณสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์เลี้ยง ซึ่งคำนวนโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น สัตวแพทย์
      • การเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับสัตว์เลี้ยงยังเป็นที่นิยมสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากมีอาหารหลากหลายประเภทและมีสูตรโดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงในแต่ละช่วงอายุ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับวัยมากที่สุด

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

    • อาหารว่างสำหรับสัตว์เลี้ยง
      • Daewoong Pet เปิดตัว “Aniworm” แบรนด์ขนมขบเคี้ยวโดยใช้แมลงเป็นส่วนผสมหลัก โดยเปิดตัว 3 รสชาติภายใต้แบรนด์ “Aniworm Treats” ได้แก่ มันหวาน ฟักทอง และปลาแซลมอน
      • อาหารว่างแบรนด์ “Amio” จาก Pulmuone ซึ่งใช้วัตถุดิบหลัก อย่าง ไก่ เต้าหู้และแมลงที่กินได้ มาผลิต
      • จากแนวโน้มของ Pet humanization บริษัทหลายแห่งได้สร้างขนมสัตว์เลี้ยงที่ไม่เหมือนใคร เช่น เค้กวันเกิดสำหรับสัตว์เลี้ยงและได้รับความสนใจจากกลุ่มช่วงอายุ 20-30 ปี

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

  • อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง
    • ผู้ผลิตอาหารและบริษัทเภสัชกรรมได้ขยายการผลิตมายังสินค้าดูแลสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยในขณะนี้ ถือว่าเป็นช่วงกำลังบุกเบิกตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสัตว์ และมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีสรรพคุณแตกต่างจากอาหารทั่วไปและอาหารว่าง เช่น
      • Kwang Dong Pharmaceutical ที่ออกสินค้าอาหารเสริมชนิดของเหลว สำหรับการบำรุงภูมิคุ้มกันของสุนัข
      • Labivet จาก Chongkundang เป็นโพรไบโอติกส์สำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อช่วยปรับสมดุลให้ลำไส้
      • Foodis ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพออกมา เน้นการดูแลสุขภาพสายตาของสุนัขและแมวโดยเฉพาะ

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

สินค้าสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

    • การเติบโตของตลาดที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ให้ความสนใจในการผลิตสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยสามารถแบ่งสินค้าออกได้หลายประเภท เช่น
    • สินค้าของเล่น
      • มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตุ๊กตาหรือเชือก จนถึงของเล่นเพื่อส่งเสริมทักษะให้กับสุนัขและแมว เช่น ของเล่นที่สามารถซ่อนขนมหรืออาหาร (Nosework Toy) ได้ เพื่อฝึกให้สัตว์เลี้ยงมีสมาธิมากขึ้นและเป็นการฝึกประสาทการดมกลิ่น
    • ผลิตภัณฑ์ดูแลความสะอาด
      • จากการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว การดูแลด้านสุขอนามัยก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยปัจจุบัน มีสินค้าในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อผิวหนังของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เพื่อป้องกันการระคายเคือง
    • เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง
      • อุตสาหกรรมเสื้อผ้าก็กำลังแข่งขันกันตั้งแต่แบรนด์หรูระดับโลกไปจนถึงแบรนด์สตรีท เพื่อครอบครองพื้นที่สำหรับ Pet ware ในตลาดสัตว์เลี้ยง เช่น การจำหน่ายเสื้อผ้าคู่ให้เข้ากับเจ้าของเป็น Family look
    • ผลิตภัณฑ์ Pet Outdoor
      • กิจกรรมกลางแจ้งกับสัตว์เลี้ยงได้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่สัตว์เลี้ยงมีส่วนร่วมกับกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจาก COVID-19 จึงส่งผลให้ยอดจำหน่ายอุปกรณ์กลางแจ้งสำหรับสัตว์เลี้ยงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น รถเข็นและเบาะรอง สายจูง และขวดน้ำ

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

 

 ธุรกิจและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยง

    • ร้านจำหน่ายสินค้าสัตว์เลี้ยง 24 ชั่วโมง พัฒนาโดยสตาร์ทอัพ
      • จากข้อมูลของ Shinhan Card แสดงให้เห็นว่า จำนวนแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงที่เพิ่งก่อตั้งเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 48% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นร้านสินค้าและบริการของสัตว์เลี้ยงในรูปแบบที่สามารถจัดการด้วยตนเองได้ (Self-service) เช่น ขั้นตอนการชำระเงินผ่านตู้ Kiosk และมีการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
      • ปัจจุบัน ได้มีธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่มีการเข้ารับบริการอยู่แล้ว เช่น บริการอาบน้ำด้วยตนเอง (Self-shower services) และร้านสะดวกซื้อสินค้าสัตว์เลี้ยง ซึ่งคาดว่าจะมีบริการที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต

ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

    • Pet Tech
      • เครื่องให้น้ำสุนัขและแมวอัตโนมัติ เครื่องป้อนอาหารอัตโนมัติ และที่เป่าตัวของสัตว์เลี้ยงได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงรู้จักกันอย่างดีแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีการปล่อยสินค้าออกมาเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค
      • Lotte Hi-Mart นำเสนอสินค้า “Pet Foot Cleaner & Massager” ผ่านแบรนด์ของตัวเอง โดยเป็นผลิตภัณฑ์ไร้สายที่สามารถทำความสะอาดและนวดเท้าสัตว์เลี้ยง เมื่อกลับมาจากข้างนอก
      • “Bisfork Cubes Pet Care Air Purifier” จาก Samsung Electronics เป็นอุปกรณ์ช่วยกำจัดกลิ่นและเส้นผมของสัตว์เลี้ยงผ่านฟังก์ชัน “pet-tailored clean”
      • บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำทั้ง 3 แห่งในเกาหลีก็กำลังขยายบริการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงโดย SK Telecom ได้พัฒนาบริการสำหรับวินิจฉัยภาพสุนัขและแมว โดยใช้ AI ที่เรียกว่า “X Caliber” ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2566 คลินิกสัตวแพทย์ประมาณ 150 แห่งจะได้ใช้เทคโนโลยีนี้

ช่องทางการจำหน่าย

จำนวนรายการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในหมวดสินค้าสัตว์เลี้ยงในไตรมาสแรกของปี 2565 อยู่ที่ 2.273 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นถึง 241% หรือ 2.41 เท่าจากไตรมาสแรกของปี 2562 โดยเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของขนาดตลาดและความนิยมในการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งสำหรับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง 63.0% เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และ 36.4% ผ่านช่องทางออฟไลน์ ซึ่งได้แก่ ร้านขายสินค้าสัตว์เลี้ยงและไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

E-Commerce

เนื่องจากตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างรวดเร็ว กลยุทธ์ต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดสัตว์เลี้ยง เช่น การจัดตั้งช่องทางสำหรับหมวดสัตว์เลี้ยงบน E-Commerce รวมถึง การเปิดตัวสินค้าภายใต้แบรนด์ตนเอง

    • Zigzag เตรียมผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ สินค้าแฟชั่น ของเล่น ปลอกคอคอสุนัขและแมว จำหน่ายผ่านหมวดสัตว์เลี้ยงที่ตั้งขึ้นมาใหม่
    • SSG ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานครบรอบ 1 ปีของการเปิดหมวดสัตว์เลี้ยง “Molly’s SSG” โดยมีแผนที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงต่อไปในอนาคตและเพิ่มกิจกรรมผ่านความร่วมมือกับคู่ค้าต่างๆ
    • Timon เปิดตัวแบรนด์ของตัวเอง “Timong” สำหรับสุนัขและ “Tinyang” สำหรับแมว ประกอบด้วยสินค้าที่ราคาถูกลงกว่า 30% จากราคาตลาด

พฤติกรรมของผู้บริโภคสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้

ในส่วนของอาหารสัตว์เลี้ยง ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากนิยมแบรนด์สินค้าจากสหรัฐอเมริกาและมีการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากสหรัฐฯ มากที่สุด ตามมาด้วย สินค้าจากจีนและไทยที่กำลังเติบโตและมีการแข่งขันในตลาดเกาหลีใต้มากขึ้น โดยมีแนวโน้มว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะเลือกอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดนำเข้าด้วยเหตุผล 2 ประการหลัก ได้แก่ ความหลากหลายของสินค้าและคุณค่าทางโภชนาการ จากการสำรวจโดยสมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงเกาหลี (Korea Pet Food Association) จากความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์สินค้านำเข้าสูง การปรับราคาสินค้าขึ้นหรือลงจึงไม่มีผลต่อการใช้จ่าย (Low Price Sensitivity) จึงเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

 

ในการเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยง ผู้บริโภคมักจะพิจารณาราคา (24.1%) ความชอบของสัตว์เลี้ยง (21.7%) และส่วนผสม (18.6%) ตามลำดับ และสำหรับฉลากบรรจุภัณฑ์นั้น จะพิจารณาตามการมีเครื่องหมายรับรอง (25.6%) ส่วนประกอบทางโภชนาการ (25.0%) ส่วนประกอบหลักของวัตถุดิบ (18.8%) และประเทศที่มา (ผลิตในประเทศหรือนำเข้า) (9.8%) เป็นหลัก

 

สำหรับสินค้าสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ผู้บริโภคมักคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก รวมไปถึงการใช้งานที่มีความทนทาน เพื่อป้องกันอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้ สำหรับเครื่องหมายรับรองตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้ อย่างเช่น เครื่องหมาย PS (Pet Product Safety Certification) จากการร่วมมือของ Korean Kennel Club (KKC) กับ สถาบัน KOTITI ยังไม่มีการใช้เครื่องหมายอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมากที่อาจไม่มีกำลังการพัฒนาสินค้ามากพอ ผู้บริโภคจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาสินค้าอย่างถี่ถ้วน

 

โอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยในตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงเกาหลีใต้

ปัจจัยต่างๆ ในสังคม เช่น สังคมครอบครัวเดี่ยว การแต่งงานที่ลดลง รวมถึงอัตราการเกิดต่ำ ส่งผลให้จำนวนคนที่เลี้ยงสุนัขและแมวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะจับจ่ายใช้สอยสินค้าสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อาหารเสริม ของเล่น ของใช้ต่างๆ และบริการอื่นๆ เนื่องจากถือว่าสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว และเป็นการเลี้ยงเมื่อพร้อม ที่ผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงอยากให้สัตว์เลี้ยงของตนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

 

ในส่วนของอาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากผู้บริโภคเกาหลีนิยมแบรนด์ต่างประเทศในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในแบรนด์และส่วนผสม และชนิดของสินค้าที่หลากหลาย เช่น สูตรสำหรับสัตว์ป่วย สูตรอาหารที่เหมือนอาหารมนุษย์ มีรสชาติอาหารนานาชาติ และวัตถุดิบที่เป็นระดับเดียวกับอาหารมนุษย์ ตลาดนี้ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าสำหรับแมว และมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

ในส่วนของสินค้าของเล่นหรือของไทย ประเทศไทยมีสินค้าที่มีไอเดีย มีศักยภาพ และเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคเกาหลี มีโอกาสในตลาดเกาหลีใต้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจพัฒนาสินค้าให้คำนึงว่าสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว สินค้าที่พัฒนาอาจใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อ่อนโยนต่อสัตว์เลี้ยง และช่วยพัฒนาศักยภาพและสุขภาพของสัตว์เลี้ยงแสนรัก รวมถึงต้องคำนึงถึงสุขภาพของสัตว์เลี้ยงผู้บริโภคด้วย

 

ความเห็นสำนักงานฯ สินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงในเกาหลีใต้ กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากการเพิ่มขึ้นของครอบครัวเดี่ยวและอัตราการเกิดต่ำ เนื่องจากผู้คนได้หันมาเลี้ยงสุนัขหรือแมวเป็นจำนวนมาก จนในปัจจุบันก็ถือได้ว่าเข้าสู่ยุคที่สัตว์เลี้ยงคือสมาชิกครอบครัว (Pet humanization) แม้ว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ผู้บริโภคก็เต็มใจที่จะจับจ่ายใช้สอยเพื่อสัตว์เลี้ยง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียบกับมนุษย์ ด้วยพฤติกรรมนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในตลาดเกาหลีใต้ต่างก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารและบริการต่างๆ ให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ เพราะมีแนวโน้มว่าจำนวนของครัวเรือนที่มีสัตว์เลี้ยงจะเพิ่มขึ้นไปอีกต่อเนื่อง

 

ในการพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงของไทยสู่ตลาดเกาหลีใต้ ต้องคำนึงถึงสุขภาพสัตว์เลี้ยง ประโยชน์ต่อสัตว์เลี้ยง ความสะดวกสบายในการสวมใส่ ความปลอดภัย รวมถึงความสวยงาม ดังนั้น อาหารสัตว์เลี้ยงที่คำนึงถึงสุขภาพของสัตว์เลี้ยง หรือเครื่องเล่นส่งเสริมทักษะสัตว์เลี้ยงจึงมีโอกาสอย่างสูงในตลาดเกาหลีใต้ และระบบการช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจพัฒนาสินค้าให้คำนึงว่าสัตว์เลี้ยงเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว พัฒนาสินค้าโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อ่อนโยนต่อสัตว์เลี้ยง และช่วยพัฒนาศักยภาพและสุขภาพของสัตว์เลี้ยงแสนรัก รวมถึงต้องคำนึงถึงสุขภาพของสัตว์เลี้ยงแสนรักด้วย

******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

26 กรกฎาคม 2566

 

ที่มาข้อมูล:

(1) Increasing Pet Care Industry, KITA, 2022.01.20

(2) www.mordorintelligence.com/industry-reports/south-korea-pet-food-market

(3) www.atfis.or.kr/home/board/FB0002.do?act=read&bpoId=4536&bcaId=0&pageIndex=1

(4) www.veterinariadigital.com/en/articulos/south-korean-pet-food-market-overview/

thThai