ทุเรียนจีน “ไห่หนาน”ล็อตแรกวางขายในตลาดจีนอย่างเป็นทางการแล้ว

ตามรายงานข่าวของ newshainan.com (เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2566) ระบุว่า ฐานการเพาะปลูกทุเรียนในเขตนิเวศวิทยายู่ไฉ ( Hainan Sanya Yucai Ecological Durian Plantation Base) มณฑลไห่หนานของจีน ได้เก็บผลผลิตทุเรียนล็อตแรก และส่งไปยังนครปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และเมืองอื่นๆ เพื่อวางจำหน่ายในตลาดอย่างเป็นทางการแล้ว และในขณะเดียวกันก็ได้มีวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยราคาของทุเรียนเหล่านี้อยู่ที่ 120 หยวน/กิโลกรัม และมีจำนวนจำกัดการจำหน่าย

ทุเรียนในฐานการเพาะปลูกทุเรียนของเขตนิเวศวิทยายู่ไฉในมณฑลไห่หนานของจีน ได้เข้าสู่ระยะสุกงอม โดยทุเรียนของมณฑลไห่หนานส่วนใหญ่ “สุกคาต้น” ทุเรียนมีก้านที่หนาเป็นพิเศษ โดยตามปกติจะสามารถเก็บผลผลิตได้วันละ 50 ลูก ซึ่งมีพื้นที่การปลูกประมาณ 86.67 เฮกตาร์ และคาดว่าผลผลิตทุเรียนไห่หนานในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 50 ตัน

ทุเรียนจีน “ไห่หนาน”ล็อตแรกวางขายในตลาดจีนอย่างเป็นทางการแล้ว ทุเรียนจีน “ไห่หนาน”ล็อตแรกวางขายในตลาดจีนอย่างเป็นทางการแล้ว

 

 

 

 

 

โดยทั่วไปทุเรียนนำเข้า มักจะต้องเก็บล่วงหน้าและค่อยๆ สุกในระหว่างการขนส่ง แต่ทุเรียนไห่หนานสามารถรอให้สุกงอม จึงค่อยเก็บผลผลิต ทำให้ทุเรียนไห่หนานสามารถรักษารสชาติและความสดได้ จึงได้เปรียบกว่าทุเรียนนำเข้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปลูกทุเรียนของจีนมีข้อจำกัดหลายด้าน ทำให้ปัจจุบันจีนสามารถทุเรียนปลูกได้เฉพาะในเมืองซานย่า เป่าติง หลิงสุ่ย ฯลฯ ในไห่หนาน ทั้งยังมีการเพาะปลูกยากและต้นทุนสูง แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีแรกของการออกผลผลิตของทุเรียนไห่หนาน แต่เนื่องจากปริมาณการผลิตที่น้อย ทำให้ตลาดทุเรียนในจีนยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกมาก

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ราคาขายส่งทุเรียนในตลาดผลไม้ลดลงเหลือ 36 – 42 หยวน/กิโลกรัม ราคาขายส่งทุเรียนก้านยาวของเวียดนามค่อนข้างต่ำ โดยอยู่ที่ประมาณ 36 หยวน/กิโลกรัม  ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองของไทยค่อนข้างสูง โดยราคาสูงกว่า 40 หยวน/กิโลกรัม เมื่อเทียบกันแล้ว ในด้านของราคาขายปลีก โดยทั่วไป ราคาขายปลีกของทุเรียนไทยสามารถรักษาระดับได้สูงกว่า 60 หยวน/กิโลกรัม และราคาทุเรียนไทยเกรด AB ขึ้นไปได้สูงกว่า 72 หยวน/กิโลกรัม ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมุมมองของตลาด ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนในประเทศหรือทุเรียนนำเข้าราคาโดยรวมจะเท่ากัน ราคาไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเท่านั้นแต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ซึ่งในระยะสั้น ทุเรียนจีนยังด้อยกว่าทุเรียนนำเข้า  เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพไม่สามารถเปรียบเทียบกับทุเรียนนำเข้าที่มีต้นแก่ได้ ส่วนในด้านราคา ต้นทุนการปลูกทุเรียนในไทยและเวียดนามไม่สูงมาก ในขณะที่ทุเรียนจีน เพิ่งเริ่มการผลิต และเงื่อนไขการปลูกก็ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะได้ต้นทุนการปลูกที่ต่ำกว่าไทยและเวียดนาม

จากสถิติของกรมศุลกากร ตั้งแต่ปี 2564 อุปทานทุเรียนนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งปี 2564 ปริมาณนำเข้าทุเรียนสดของจีนอยู่ที่ 821,600 ตัน ส่วนปี 2565 ปริมาณนำเข้าเพิ่มเป็น 825,000 ตัน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2566 ปริมาณนำเข้าทุเรียนสดของจีนและมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 91,400 ตัน หรือคิดเป็น 507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 154.29% และ 124.62% เมื่อเทียบรายปี โดยในบรรดาทุเรียนนำเข้านั้น ปัจจุบันไทยยังคงเป็นผู้ผลิตทุเรียนสดรายใหญ่ให้กับจีน อีกทั้งการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้ทุเรียนและผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถลดต้นทุนการขนส่งทำให้ระยะเวลาการขนส่งสั้นลงและรับประกันความสดของทุเรียนได้มากขึ้น ในอดีตการขนส่งทางเรือใช้เวลาประมาณ 7 วัน และทางถนน 5 วัน ส่วนทางรถไฟจีน-ลาวใช้เวลาเพียง 3 วัน ทำให้ทุเรียนไทยมีข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้น

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนไปจีนมากที่สุดมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันจีนสามารถสามารถผลิตทุเรียนเองได้แล้ว  ซึ่งทุเรียนจีนจะมีความได้เปรียบเนื่องจากสามารถรอให้ทุเรียนสุกเต็มที่ จึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ทุเรียนจีนสามารถรับประกันรสชาติและความสดของทุเรียนได้

แต่เมื่อพิจารณาจากอุปสงค์และอุปทานทุเรียนในไห่หนานของจีนแล้ว จะเห็นได้ว่า ปริมาณผลผลิตของจีนยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในจีนได้ ตามข้อมูลสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences) ระบุว่า คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 50 ตัน  ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลปริมาณการนำเข้าทุเรียน 800,000 กว่าตันของจีน อย่างห่างไกลจากความต้องการในตลาดจีนอีกมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันผลผลิตทุเรียนของจีน ในระยะสั้นอาจจะยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยมากนัก แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่องของจีน คาดว่าในอนาคตอันใกล้ ทุเรียนจีนอาจกลายเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งของทุเรียนนำเข้า ดังนั้นเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันในการพัฒนาการเพาะปลูกและทำการตรวจสอบด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างเข้มงวด รวมถึงมุ่งเน้นการส่งออกทุเรียนที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูง เพื่อที่จะรักษาความเชื่อมั่นในการบริโภคทุเรียนของชาวจีน และสามารถแข่งขันในตลาดทุเรียนของจีนได้ต่อไป

ที่มา: https://www.sohu.com/a/705538718_121106994

https://finance.sina.cn/2023-07-26/detail-imzcymiz3407024.d.html?cref=cj

http://hnrb.hinews.cn/html/2023-07/26/content_58464_16359196.htm

ภาพ: https://item.jd.com/10071498985458.html#crumb-wrap

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1772540388030319208&wfr=spider&for=pc

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

27  กรกฎาคม  2566

thThai