สำนักข่าว Bahrain News Agency (BNA) รายงานเศรษฐกิจภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil) ของบาห์เรนขยายตัวขึ้นร้อยละ 3.5 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 โดยภาคการขนส่งและการสื่อสารมีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.2 ตัวชี้วัดต่างๆประกอบด้วย จำนวนผู้เดินทางเข้า-ออกผ่านสนามบินนานาชาติบาห์เรนเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 ปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.1 เป็นต้น
จากรายงานพบว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจภาคบริการขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยได้มาจากมูลค่าธุรกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จัดได้ว่ามีบทบาทมากที่สุด และสัดส่วนของภาคธุรกิจนี้ต่อ GDP ร้อยละ 17.9 สูงสุดต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน แซงหน้าภาคน้ำมัน
สำหรับภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารมีอัตราการเติบโต ร้อยละ 4.3 มีจํานวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.9 ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรม (ระดับ 4 และ 5 ดาว) ประมาณร้อยละ 8.4
ในขณะที่ ภาคการค้ามีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 4.2 และสถิติขาเข้าและขาออกรถบรรทุกผ่าน King Fahd Causeway เติบโต ร้อยละ 16 ในขณะที่การจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่สําหรับบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8
ผลการดําเนินงานทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกสะท้อนให้เห็นจากรายงานการจัดอันดับขีดความสามาถในการแข่งขันโลกประจำปี 2566 (The Global Competitiveness Ranking 2023 ) โดยสถาบันการพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development – IMD) ระบุว่าบาห์เรนติดอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 64 อันดับ ขยับขึ้น 5 อันดับเมื่อเทียบกับปี 2565
ในด้านสมรรถนะทางโลจิสติกส์ปี 2566 ธนาคารโลก (World Bank) จัดอันดับบาห์เรนอยู่ในอันดับที่ 34 จากทั้งหมด 139 ประเทศ
ส่วนผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2566 (Global Emerging Ecosystems Report 2023 ) โดย Startup Genome และ International Entrepreneurship Network ยกให้บาห์เรนเป็น 1 ใน 10 อันดับ ของประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
สําหรับตลาดแรงงานของบาห์เรน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษยประจําปี พ.ศ. 2566 (US Department of State’s Trafficking in Persons Report 2023) ซึ่งรวบรวมรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ใน 188 ประเทศ/เขต เศรษฐกิจ โดยในปีนี้ บาห์เรนได้รับการจัดระดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 1 (Tier 1) ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ต่อเนื่องเป็นปีที่หกติดต่อกัน
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
การที่สถาบันการจัดอันดับต่างๆ ให้บาห์เรนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีมีบรรยากาศการค้าและการทำธุรกิจอยู่ในระดับดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและเดินทาง ย่อมสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลบาห์เรนพยายามรักษาระดับการเติบโตเศรษฐกิจ กำลังซื้อนอกจากของประชากรในประเทศแล้วและยังมีจากนักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบีย ดังนั้นบาห์เรนเป็นตลาดรองที่สำคัญอีกแห่งของไทย และเป็นประเทศเป้าหมายของตลาดส่งออกสินค้าของไทยในภูมิภาค ทั้งนี้ สถิติล่าสุด ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 ไทยและบาห์เรนมีมูลค่าการค้ารวม 131.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 52.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) เหล็กและผลิตภัณฑ์ 3) ไม้และผลิตภัณฑ์ 4) ตู้เย็น&ตู้แช่ 5) เครื่องซักผ้า และการนำเข้ามูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) น้ำมันสำเร็จรูป 2) สินแร่โลหะ 3)เคมีภัณฑ์ 4) สัตว์น้ำแช่แข็ง 5) เหล็กและผลิตภัณฑ์
*****************************
ที่มา : Trade Arabia