ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เผชิญกับสถานการณ์ที่หลากหลาย เช่น ปัญหาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ในรอบ 40 ปี แบบก้าวกระโดด และการว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ในจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2511 ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ได้มีการคาดการณ์เป็นไปในทางเดียวกันว่า สหรัฐฯ น่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกลับไม่เกิดขึ้นตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งนับเป็นข่าวดีของผู้คนและนักธุรกิจทั่วโลก และจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงกลางปีนี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก เช่น จาก Morgan Stanley บริษัทด้านการเงินใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ยืนยันว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมุ่งหน้าสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับกลาง แทนที่จะเกิดภาวะถดถอยเต็มรูปแบบ
กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ได้รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ในเดือนมิถุนายน 2566 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อหักราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนออก พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 แสดงให้เห็นถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง และขยับเข้าใกล้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายระยะยาวร้อยละ 2 ของธนาคารสหรัฐฯ
การใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกันยังมีอัตราเพิ่มขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายของผู้ชาวอเมริกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีการใช้จ่ายราว 689.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนพฤษภาคม และ ร้อยละ 1.6 จากเดือนเมษายนปี 2566 นาย Alastair Borthwick ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Bank of America กล่าวว่า “การใช้จ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นสูง และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลดีจากภาวะเช่นนี้” อย่างไรก็ตาม นาย Neil Saunders นักวิเคราะห์ด้านการค้าปลีกของ GlobalData บริษัทให้คำปรึกษาด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ได้ชี้แจ้งว่าแม้ว่าผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายเงินและยังมีกำลังซื้อสูง แต่พบว่าผู้บริโภคมีความระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้จ่าย โดยเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่จำเป็นและคุ้มค่ามากกว่าการซื้อสินค้าที่ราคาสูง
บริษัท Deloitte ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ มีรายงานออกมาว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกันเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าคงทน (Durable goods) อาทิ จักรยาน อุปกรณ์การออกกำลังกาย และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มมากขึ้น เพื่อทนแทนที่ไม่สามารถใช้จ่ายกับธุรกิจบริการ (Service) เช่น การท่องเที่ยว การใช้บริการร้านอาหาร และสถานบันเทิงได้ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท Deloitte ได้คาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกันกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การบริโภคสินค้าคงทนของชาวอเมริกันจะชะลอตัวลงประมาณร้อยละ 20 เนื่องจากสินค้าประเภทนี้เป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้มีโอกาสในการซื้อสินค้าซ้ำอีกครั้งน้อยกว่าสินค้าประเภทอื่น
ด้านการนำเข้าสินค้า (Real Import) มีมูลค่าลดลงในช่วงครึ่งปีแรก โดยการนำเข้าของสินค้าอุปโภคบริโภค (Real imports of consumer goods) ลดลงร้อยละ 13 โดยการลดลงดังกล่าวมาจากความต้องการสินค้าคงทนทุกประเภทที่ลดลง (ยกเว้นรถยนต์) ทางด้านการนำเข้าสินค้าจากไทยมายังสหรัฐ ฯ จากรายงานของ Observatory of Economic Complexity (OEC) ในเดือนเมษายนปี 2566 สินค้านำเข้าอันดับต้น ๆ จากไทยมายังสหรัฐ ฯ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ มูลค่า 698 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โทรศัพท์ มูลค่า 306 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางล้อ มูลค่า 272 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจร (Integrated circuit) มูลค่า 122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเครื่องปรับอากาศ มูลค่า 98.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม OEC รายงานว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่าต่ำกว่าปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจาก การนำเข้าสินค้าประเภท เครื่องแต่งกายประเภทยาง (Rubber apparel) ลดลง 46.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 38.1 ปลาแปรรูป ลดลง 14.3 ล้าน ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 21.2 และ ผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ลดลง 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 11 จากรายงานของบริษัท Deloitte การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคสินค้านำเข้าที่เปลี่ยนเเปลง ส่งผลให้การใช้จ่ายลดลง และการคาดการณ์ที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ จะอ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลต่อการชะลอการนำเข้าสินค้าด้วย
นอกจากนี้ รูปแบบการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสหรัฐ ฯ ลดการนำเข้าสินค้าจากจีน และหันมาพึ่งพาสินค้าจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนมาใช้ซัพพลายเออร์ที่หลากหลายจากทั่วโลกมากขึ้น แทนที่จะใช้เพียงจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจคาดไม่ถึง สัญญาณเหล่านี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้า และเจาะตลาดใหม่ๆ ในสหรัฐฯ แม้ว่าสถานการณ์การนำเข้าสินค้ายังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการและธุรกิจต่างๆ ในสหรัฐยังพร้อมที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานกับทั่วโลก และรูปแบบในการค้าขายที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตคาดว่าจะส่งผลดีกับผู้ประกอบการไทย
สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐนับว่ามีความเสี่ยงลดลงที่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นที่น่าจับตามองอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งในด้านของสถานการณ์เงินเฟ้อ การปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อๆ ไปของธนาคารกลาง ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แนวโน้มการนำเข้าสินค้า รวมถึงสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก