ส่องพฤติกรรมผู้บริโภคและจับตากลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อของจีน

ร้านสะดวกซื้อ หมายถึง ร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าพร้อมรับประทานหรือให้บริการเป็นหลัก โดยยึดถือเอาความต้องการและความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการมาเป็นอันดับแรก และใช้รูปแบบการให้บริการเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเองมาสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ รูปแบบการดำเนินธุรกิจจะมีลักษณะเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีแฟรนไชส์และไม่มีแฟรนไชส์ ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งร้านสะดวกซื้อออกได้เป็นหลายระดับ เช่น ร้านสะดวกซื้อในเขตชุมชน ร้านสะดวกซื้อตามจุดชมวิว ร้านสะดวกซื้อในย่านการค้า
ร้านสะดวกซื้อในสถานีรถไฟและรถโดยสารประจำทางต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของร้านสะดวกซื้อจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ

ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างบริการประชาชนให้มีความสะดวกสบายและสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที ส่งผลให้เกิดการพัฒนาร้านสะดวกซื้อในชุมชนเมืองและชนบท เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชน และยกระดับการบริโภคให้แก่ผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยในเดือนธันวาคม 2022 พบว่าแผนยุทธศาสตร์ขยายอุปสงค์ในประเทศของจีน ได้สนอให้มีการจัดสรรร้านจำหน่ายผักชุมชน ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อสร้างความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันให้แก่ประชาชนชาวจีน และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อในประเทศให้เติบโตและให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปี ค.ศ. 2001 – 2019 พบว่าจีนมียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ต่อมาในปีค.ศ. 2020 จีนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ทำให้ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนชะลอตัวลงเล็กน้อย ขณะที่ภายหลัง จีนสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ ทำให้ในปี ค.ศ. 2021 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนกลับมาขยายตัวสูงถึง 44.1 ล้านล้านหยวน (220.50 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 และตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนก็ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ทำให้ในปี ค.ศ. 2022 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนมีมูลค่า 44 ล้านล้านหยวน (220 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการรักษาระดับการเติบโตได้ในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของตลาดอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อของจีน พบว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มออกเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดร้านสะดวกซื้อทั่วโลกฟื้นตัว และในปี ค.ศ. 2022 ตลาดร้านสะดวกซื้อทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 1.02 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (34.68 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 (YoY) และในปี ค.ศ. 2022 ตลาดร้านสะดวกซื้อของจีนมีมูลค่า 383,400 ล้านหยวน (1.92 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 (YoY) ซึ่งภายใต้แนวโน้มการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่และการสนับสนุนจากนโยบาย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2025 ตลาดร้านสะดวกซื้อของจีนจะมีมูลค่า 500,000 ล้านหยวน (2.5 ล้านล้านบาท)

ศูนย์วิจัย iMedia Research ทำการสำรวจผู้บริโภคร้านสะดวกซื้อของจีนจำนวน 1,496 ราย และเผยแพร่ในรูปแบบรายงานสถานะการพัฒนาอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อของจีนและพฤติกรรมผู้บริโภค ปี ค.ศ. 2023 – 2024 พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 63.9 และเพศชายร้อยละ 36.1 ขณะที่ระดับรายได้ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 44.4 มีรายได้อยู่ที่ระหว่าง 5,001 – 10,000 หยวน (25,005 – 50,000 บาท) รองลงมา ได้แก่ ผู้บริโภคที่มีรายได้อยู่ระหว่าง 10,001 – 15,000 หยวน (50,005 – 75,000 บาท) ร้อยละ 29.9 ผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 หยวน (25,000 บาท) ร้อยละ 16.4 ผู้บริโภคที่มีรายได้อยู่ระหว่าง 15,001 – 20,001 หยวน (75,005 – 100,005 บาท) ร้อยละ 6.6 และผู้บริโภคที่มีรายได้ตั้งแต่ 20,001 หยวนขึ้นไป (100,005 บาท) ร้อยละ 2.7 ตามลำดับ ส่วนอาชีพของผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 54.5 เป็นพนักงานบริษัท รองลงมา ได้แก่ ช่างเทคนิคมืออาชีพร้อยละ 9.6 ผู้ประกอบอาชีพอิสระร้อยละ 7.4 ผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 7.2 นักเรียนร้อยละ 4.4 พนักงานองค์กรรัฐร้อยละ 4.0 คนงานร้อยละ 4.0 ครูร้อยละ 3.5 แพทย์/พยาบาลร้อยละ 2.7 และผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ร้อยละ 2.7 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาด้านค่าใช้จ่ายในการบริโภคในร้านสะดวกซื้อในแต่ละครั้ง พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 44.8 หยวน (224 บาท) โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 27.9 มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร้านสะดวกซื้ออยู่ที่ 31 – 40 หยวน (155 – 200 บาท) รองลงมา ได้แก่ ค่าใช้จ่าย 21 – 30 หยวน ร้อยละ 24.6 (105 – 150 บาท) ผู้บริโภค ค่าใช้จ่าย 41 – 50 หยวน (205 – 250 บาท) ร้อยละ 20.2 ค่าใช้จ่าย 51 – 100 หยวน (255 – 500 บาท) ร้อยละ 15.4 และค่าใช้จ่ายประมาณ 20 หยวน (100 บาท) ร้อยละ 4.3 ตามลำดับ

รายงานของศูนย์วิจัย iMedia Research ยังได้เปิดเผยกรณีศึกษาอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อของจีนอีก 3 แห่ง ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ร้านสะดวกซื้อ Convenience Bee หรือ Bianlifeng (เปี้ยนลี่เฟิง) ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อที่ติดอันดับ Top 10 ร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในจีน ซึ่งเปิดสาขาออฟไลน์แห่งแรก ณ กรุงปักกิ่ง เป็นร้านที่มีการพัฒนาการให้บริการทั้งในรูปแบบมีพนักงานให้บริการ และการให้บริการแบบอัตโนมัติหรือผู้ซื้อนำสินค้าไปชำระเงิน ณ เครื่องชำระเงินอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันร้าน Bianlifeng ได้พัฒนารูปแบบร้านค้าแบบออฟไลน์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม โดยการร่วมมือกับภาพยนตร์ และการ์ตูนแอนิเมชันที่มีลิขสิทธิ์ รวมทั้งจัดกิจกรรมภายในร้านให้มีลักษณะที่แสดงถึงความเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายหลัก นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับโรงเรียนสอนขับรถยนต์เพื่อเปิดให้บริการรับลงทะเบียนเรียนขับรถยนต์ เนื่องจากผู้บริโภควัยรุ่นเหล่านี้อยู่ในช่วงที่ต้องการเรียนขับรถยนต์และสอบใบขับขี่ ไม่เพียงเท่านั้น ในปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา ร้าน Bianlifeng ยังได้จัดเทศกาลสตรอเบอร์รี เพื่อเอาใจผู้บริโภควัยรุ่นเพศหญิงที่มีความนิยมและชื่นชอบในการรับประทานสตรอเบอร์รีเป็นอย่างมาก โดยการจำหน่ายอาหารที่ทำจากสตรอเบอร์รีทั่วทุกสาขา เช่น เค้กสตรอเบอร์รี ป๊อกกี้รสสตรอเบอร์รี นมรสสตรอเบอร์รี เป็นต้น

ส่องพฤติกรรมผู้บริโภคและจับตากลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อของจีน

ที่มา: http://www.hxxkw.org/dujia/shehui/25400.html

ส่องพฤติกรรมผู้บริโภคและจับตากลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อของจีน

ที่มา: https://maimai.cn/article/detail?fid=1714654682&efid=DDc8o7l1RQC7WYRb0DUxjw

 

2. ร้านสะดวกซื้อ M.Y.J. เป็นร้านสะดวกซื้อที่ติดอันดับ 2 ในอันดับ Top 10 ร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในจีน โดยในปี ค.ศ. 2022 ร้าน M.Y.J มีจำนวนร้านออฟไลน์ถึง 30,008 แห่ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 (YoY) จนกระทั่งล่าสุดในเดือนมีนาคม 2023 ร้าน M.Y.J. มีจำนวนร้านออฟไลน์มากกว่า 31,000 แห่งแล้ว และมีการให้บริการลูกค้าโดยเฉลี่ย 200 ล้านคนต่อเดือน โดยสาขาของร้านส่วนมากจะตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน หูหนาน เจียงซี หูเป่ย เป็นต้น ส่วนผลประกอบการล่าสุดในปี ค.ศ. 2021 ร้าน M.Y.J มีรายได้ 34,075 ล้านหยวน (170,375 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 (YoY)

ส่องพฤติกรรมผู้บริโภคและจับตากลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อของจีน

ที่มา: https://www.meiyijia.com.cn

3. ร้านสะดวกซื้อ BingoBox เป็นร้านสะดวกซื้อที่ใช้รูปแบบอัตโนมัติหรือไร้คนขาย โดยผู้บริโภคจะต้องสแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนการซื้อในครั้งแรกก่อนจึงจะสามารถเข้าไปภายในร้านได้ จากนั้นก็สามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าตามความต้องการ หลังจากเลือกสินค้าแล้วจึงนำสินค้ามายังเครื่องชำระเงินอัตโนมัติเพื่อสแกนสินค้าและชำระเงิน แล้วจึงนำสินค้าออกจากร้านได้

ส่องพฤติกรรมผู้บริโภคและจับตากลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อของจีน

 

ที่มา: https://www.geekpark.net/news/220302

ปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ Big Data, AI, Cloud Computing และMobile Payment ทำให้ร้านสะดวกซื้อแบบอัตโนมัติหรือร้านสะดวกซื้อแบบไร้พนักงานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าการค้าปลีกแบบไร้พนักงานจะกลายเป็นรูปแบบใหม่ของอุตสาหกรรมการค้าปลีกของจีนที่สามารถประหยัดต้นทุนแรงงานคน สามารถเข้าถึงการบริโภคของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม และไม่จำกัดเวลา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การค้าปลีกของจีนพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนแปลงไป ตลาดการบริโภคของจีนถูกยกระดับให้สูงขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การชอปปิงออนไลน์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการให้บริการที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ร้านสะดวกในจีนซื้อต้องวางแผนและปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน และการแข่งขันที่สูง แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในจีนก็ยังเป็นอีกช่องทางการตลาดที่น่าจับตามองของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อของจีนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมูลค่าของตลาดก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และรูปแบบการค้าปลีกสมัยใหม่ที่ผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคชาวจีนมีความนิยมใช้บริการร้านสะดวกซื้อไม่น้อยไปกว่าห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีความต้องการจะขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน ก็สามารถเลือกใช้ช่องทางร้านสะดวกซื้อเป็นช่องทางในการเจาะตลาดสินค้าที่มีคุณภาพสูงได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนมีหลากหลายกลุ่ม การใช้ช่องทางร้านสะดวกซื้อจึงอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสำรวจและเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ลักษณะการบริโภคที่ยังคงต้องคำนึงถึงสำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการร้านสะดวกซื้อ ก็คือ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าที่ดีเทียบเท่ากับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ บรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการพกพาหรือสามารถรับประทานได้ทันที สินค้ามีความคุ้มค่าและมีรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นพนักงานออฟฟิศที่มักจะใช้บริการร้านสะดวกซื้อมากที่สุดจะมีไลฟ์สไตล์ในการเลือกซื้อสินค้าที่มีชื่อเสียง มีการประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นประจำแบรนด์ของสินค้าเป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือ และที่สำคัญหากมีบรรจุภัณฑ์ที่มีลูกเล่นน่าสนใจและน่าดึงดูดก็จะทำให้สินค้าได้รับความนิยมได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจะเข้ามาขยายตลาดสินค้าไทยผ่านร้านสะดวกซื้อนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องร่วมมือและนำเสนอสินค้าดังกล่าวต่อเจ้าของร้านสะดวกซื้อหรือสำนักงานใหญ่ของร้านสะดวกซื้อ โดยต้องนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า กำหนดจุดขาย กำหนดกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภคที่ชัดเจน และกำหนดราคาที่เหมาะสม จึงจะทำให้สินค้าไทยเข้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าสะดวกซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน อันจะนำไปสู่การขยายตลาดสินค้าไทยเข้าสู่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของจีนได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา: https://www.iimedia.cn/c400/94677.html

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai