1.สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม
สัญญาณของความอ่อนแอของเศรษฐกิจอิตาลีก่อตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ที่มีการเติบโตที่เปราะบางมากขึ้น ถึงแม้ว่า GDP ของอิตาลีในไตรมาสแรกของปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น +0.6% และคาดการณ์ว่าจะยังเติบโตอยู่ที่ +0.9% สำหรับปีนี้ ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาคบริการที่ยังมีแนวโน้มดีในระดับปานกลาง ราคาก๊าซธรรมชาติยังทรงตัวอยู่ในระดับปกติ การจ้างงานมีเพิ่มขึ้น (+0.2% ในเดือนเมษายน) ที่ช่วยกระตุ้นรายได้ภาคครัวเรือนทั้งหมด อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างเชื่องช้า และอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ประกาศขึ้นเพื่อกดดันค่าเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ กำลังฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคและการลงทุนในภาคธุรกิจ ในขณะที่ตลาดโลกซบเซาส่งผลให้การส่งออกของอิตาลีเริ่มชะลอตัวลงเช่นกัน จากที่ขยายตัวในเดือนแรกๆของปี โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่ต่างกำลังประสบกับสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย
2. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
2.1 ดัชนีการบริโภค (Consumption index)
ข้อมูลของสมาพันธ์การค้าอิตาลี (Confcommercio) แสดงให้เห็นว่าในเดือนมิถุนายน 2566 ดัชนีการบริโภคโดยรวมลดลง -0.6% โดยดัชนีการบริโภคด้านบริการเพิ่มขึ้น +1.5% ส่วนดัชนีการบริโภคด้านสินค้าปรับตัวลดลง -1.5% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2565
2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Consumer and business confidence)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในเดือนกรกฎาคม 2566 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงจาก 108.6 จุด มาอยู่ที่ 106.7 จุด ส่วนความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นจาก 108.2 มาอยู่ที่ 109.1
2.3 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2566 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น +0.1% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 และเพิ่มขึ้น +6.0% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565
2.4 ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Producers Price)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลง -2.3% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 และลดลง -4.3% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565
2.5 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ว่า ในเดือนพฤษภาคม 2566 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น +1.6% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ในขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมสามเดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) ลดลง -1.8% เมื่อเทียบกับสามเดือนก่อนหน้า
2.6 การค้ากับประเทศนอกสหภาพยุโรป (Trade exchange with extra EU)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขการค้าระหว่างกลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรปว่า
ในเดือนมิถุนายน 2566 การนำเข้าลดลง -14.6% ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้น +0.4% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566
2.7 การค้าปลีก (Retail Trade)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานการค้าปลีกในเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า ตลาดการค้าปลีกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.7% และปริมาณเพิ่มขึ้น +0.2%) โดยการค้าปลีกสินค้าอุปโภค (มูลค่าเพิ่มขึ้น +1.1% และปริมาณเพิ่มขึ้น +0.7%) ส่วนการค้าปลีกสินค้าบริโภค (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.2% ส่วนปริมาณลดลง -0.5% ) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566
3. สถานการณ์การค้าไทย-อิตาลี
ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน) การค้าระหว่างไทย-อิตาลี มีมูลค่า 2,727.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +7.11% การส่งออกมีมูลค่า 1,149.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +7.24% และการนำเข้ามีมูลค่า 1,577.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +7.02% ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 427.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ -6.45% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565
4. ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
4.1 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยังส่งผลกระทบต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น ที่ราคาถูกลง หรือที่มีโปรโมชั่น สินค้านำเข้าที่ราคาสูงกว่าสินค้าท้องถิ่นจะตีตลาดได้ยากขึ้น เนื่องจากความวิตกกังวลในการใช้จ่าย สินค้าที่สามารถแข่งขันได้จึงต้องมีนวัตกรรม คุณภาพสูง ราคาเข้าถึงได้ และต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4.2 การขยายตัวของภาคธุรกิจ HORECA ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการจัดเลี้ยง มีความคึกคักมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่หนาวและมีแดดดีกว่าช่วงเวลาอื่นของปี ผู้คนจำนวนมากมีวันหยุดพักผ่อนประจำปียาว จึงเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีการเดินทางไกลและมีระยะเวลาค้างแรมยาวขึ้น ทำให้มีการหมุนเวียนรายได้จากสินค้าและบริการจากการท่องเที่ยวเพื่อสร้างสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าธุรกิจในกลุ่มนี้จะมีฤดูกาลเป็นตัวกำหนดก็ตาม
4.3 อีกธุรกิจที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งได้แก่ ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นรูปแบบการรวมกำลังกันในการขับเคลื่อนสินค้าและบริการ จึงเป็นธุรกิจที่กระจายตัวและเติบโตได้ดี เนื่องจากมุ่งความสำคัญที่การสร้างความน่าเชื่อถือจากชื่อเสียงอันดีงามของเครื่องหมายการค้าแก่ผู้บริโภค ทำให้การเจาะตลาดเป็นไปได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่เน้นการสร้างเครื่องหมายการค้าและไม่ใช้ระบบแฟรนไชส์
4.4 สำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความยืดเยื้อ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของอิตาลีไม่น้อย เนื่องจากอิตาลีเป็นฝ่ายสนับสนุนประเทศยูเครนอย่างเปิดเผย และต้องส่งความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการแบกรับปัญหาและภาระผู้ลี้ภัยสงครามชาวยูเครน นอกจากนี้ ผู้อพยพจากแอฟริกาที่พยายามหลบหนีเข้ามาทางเรืออย่างไม่ขาดสาย และมีทีท่ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในฤดูร้อนที่สภาพอากาศไม่รุนแรง มีส่วนผลักดันการหลบหนี และยังเป็นประเด็นร้อนที่อิตาลีพยายามผลักดันในระดับสหภาพยุโรปให้หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยทางทะเลได้ และปัญหายิ่งซับซ้อนขึ้นในเดือนกรกฎาคม เมื่อรัสเซียระงับการทำข้อตกลงกับยูเครนในการขนส่งธัญพืชทางเรือ ทำให้ประเทศในแอฟริกาจำนวนมากเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหาร ยิ่งผลักดันการพยายามหลบหนีมายุโรป การติดตามข่าวความเคลื่อนไหวนโยบายด้านสงคราม การเมือง และการค้าระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทย
4.5 สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ผลิตภัณฑ์ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน ยังสามารถทำตลาดได้ดี และจากความเสียหายที่เกิดจากความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศในสองเดือนที่ผ่านมา เกิดลมพายุ ลูกเห็บ และฝนตกรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก บ้านเรือนและแผงโซล่าเซลล์เสียหายจำนวนมาก จึงขาดแคลนวัตถุดิบในการซ่อมแซม ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาสินค้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในระยะนี้ กฎระเบียบสหภาพยุโรปอย่างละเอียด เนื่องจากมีข้อกำหนดของสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในตลาดอิตาลีและยุโรปมีการปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อหาทางส่งออกสินค้าที่อิตาลีต้องการ
4.6 ส่วนสินค้าอาหารที่แนวโน้มตลาดยังดี ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผักและผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส อาหารแห้ง เครื่องดื่มและน้ำผลไม้ที่เพิ่มความสดชื่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังความผันผวนของปัจจัยการส่งออกเสมอ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ราคาและระยะเวลาการขนส่ง ภาษีนำเข้า ฯลฯ รวมถึงควรวางแผนการค้ากับคู่ค้าและผู้นำเข้าในอิตาลีล่วงหน้าเป็นเวลานานและทำการค้าอย่างรอบคอบ
———————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
กรกฎาคม 2566
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 7 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 6319750 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ