“ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในช่วงเปิดภาคเรียนเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุด”
ข้อมูลรายงานการค้าปลีกช่วงเทศกาลเปิดภาคเรียนในสหรัฐฯ โดยสมาพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติ (National Retail Federation หรือ NRF) ร่วมกับบริษัท Prosper Insights & Analytics ล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในช่วงฤดูกาลเปิดภาคทั้งสำหรับนักเรียน (Back-To-School) และสำหรับนักศึกษา (Back-To- College) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้
โดยคาดว่ายอดใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าสำหรับกลุ่มนักเรียนรวมในสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมมูลค่า 1.11 แสนดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เป็น มูลค่า 1.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 22.18 แบ่งเป็น
- ยอดใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าสำหรับนักเรียน (Back-To-School) จากเดิมมูลค่า 3.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เป็นมูลค่า 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือขยายตัวร้อยละ 12.47
- ยอดใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าสำหรับนักศึกษา (Back-To-College) จากเดิมมูลค่า 7.40 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เป็นมูลค่า 9.40 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือขยายตัวร้อยละ 27.03
การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับช่วงฤดูกาลเปิดภาคเรียนในสหรัฐฯ คึกคักเป็นประจำแทบจะทุกปีซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของตลาดค้าปลีกของสหรัฐฯ เนื่องจากฤดูกาลเปิดภาคเรียนถือว่าเป็นช่วงเทศกาลที่ชาวอเมริกันมีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน (Average Spending Per Person) สูงที่สุดในสหรัฐฯ
โดยคาดว่า ในปีนี้ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าสำหรับนักเรียนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมมูลค่า 864.35 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนในปี 2565 เป็นมูลค่า 890.07 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนในปี 2566 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.98 และสินค้าสำหรับนักศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมมูลค่า 1,199.43 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนในปี 2565 เป็นมูลค่า 1,366.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนในปี 2566 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.97
ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ Mr. Matthew Shay ตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ ที่ได้กล่าวว่า ฤดูกาลเปิดภาคเรียนเป็นช่วงการใช้จ่ายที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับชาวอเมริกัน โดยปีนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวอเมริกันเริ่มเตรียมความพร้อมในการเลือกซื้อสินค้าสำหรับการเปิดภาคเรียนเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดเองก็มีแนวโน้มปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยได้มีการเตรียมความพร้อมสั่งซื้อสินค้าเร็วขึ้นเพื่อให้ทันจำหน่ายในตลาดด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ ได้เริ่มเก็บสำรวจข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกันช่วงเปิดภาคเรียนมาตั้งแต่ปี 2546 ในปีนี้ได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรตัวอย่างทั้งสิ้น 7,843 ราย ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม (ค่าความคลาดเคลื่อนข้อมูล ± ร้อยละ 1.1) โดยนอกจากรายงานดังกล่าวจะพบแนวโน้มการขยายตัวของยอดใช้จ่ายของชาวอเมริกันแล้วยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
- ณ ต้นเดือนกรกฎาคม ผู้บริโภคร้อยละ 55 (ร้อยละ 44 ในปีที่ผ่านมา) ได้เริ่มเตรียมพร้อมซื้อสินค้าสำหรับการเปิดภาคเรียนแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคราวร้อยละ 85 ยังซื้อสินค้าครบเพียงราวครึ่งหนึ่งของจำนวนสินค้าที่วางแผนจะซื้อทั้งหมด
- แนวโน้มการขยายตัวของยอดใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากแนวโน้มการใช้จ่ายสำหรับสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69 (ร้อยละ 65 ในปีที่ผ่านมา) โดยคาดว่า ในปีนี้ยอดจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัวเป็็นมูลค่า 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่นิยม ได้แก่ คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 51) แท็บเล็ต (ร้อยละ 36) และเครื่องคิดเลข (ร้อยละ 29) ตามลำดับ
- ผู้บริโภคร้อยละ 43 วางแผนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในปีนี้ (ร้อยละ 32 ในปีที่ผ่านมา) เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัทพ์ เครื่องคิดเลข หรือเฟอร์นิเจอร์สำหรับที่พัก
- กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงสำหรับกลุ่มนักศึกษา ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม
- ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า และร้านจำหน่ายสินค้าลดราคา (Discount Stores)
- แม้ว่าผู้บริโภคจะต้องการซื้อสินค้าสำหรับกลุ่มนักศึกษามากขึ้นแต่ก็ยังมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้า เปรียบเทียบราคา และเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ตราห้างมากขึ้น อีกทั้ง ยังนิยมเลือกซื้อสินค้าจากร้านจำหน่ายสินค้าลดราคามากขึ้นด้วย
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการบริโภคภาคประชาชนเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราวร้อยละ 70 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ในแต่ละปี ดังนั้น การจะพยากรณ์ทิศทางแนวโน้มการปรับตัวด้านภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอนาคตจึงสามารถพิจารณาประกอบกับปัจจัยด้านการใช้จ่ายภาคประชาชนในตลาดได้
ทั้งนี้ หากพิจารณาสภาวะแวดล้อมด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนในตลาดหลายปัจจัยนับตั้งแต่ที่เกิดภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 เป็นต้นมา ซึ่งความผันผวนในตลาดประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้นำไปสู่การเกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Bank หรือ Fed) จำเป็นต้องพิจารณาใช้มาตรการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดถึง 11 ครั้งในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาจากอัตราดอกบเบี้ยร้อยละ 0.00 – 0.25 ในช่วงต้นปี 2565 เป็นอัตราร้อยละ 5.25 – 5.50 ในเดือนกรกฎาคมเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายด้านการเงินที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบ 20 ปี
แต่โดยรวมแล้วการดำเนินมาตรการด้านการเงินดังกล่าวกลับไม่ส่งผลกระทบภาคการบริโภคของชาวอเมริกันมากนัก ผู้บริโภคในตลาดยังคงมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดจะยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ก็ตาม โดยส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากตลาดการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราว่างงานสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเพียงร้อยละ 3.6 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราค่าแรงงานในตลาดกลับยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดยังคงมีความเชื่อมั่นและกล้าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการอยู่เป็นมูลค่าสูงและน่าจะขยายตัวไปจนถึงช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปีนี้ด้วย
นอกจากนี้ การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติจากการแพร่ระบาดยังทำให้นักเรียนและนักศึกษาบางส่วนที่ยังคงเหลือกลับเข้าสู่ระบบการเรียนในสถานศึกษา จึงทำให้กลุ่มนักเรียนเหล่านั้นต้องการเลือกซื้อสินค้าและอุปกรณ์การศึกษาไว้ใช้สำหรับภาคการเรียนใหม่ที่กำลังจะมาถึงด้วย อีกทั้ง ปัจจัยด้านราคาสินค้าเฉลี่ยในตลาดเองที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมาก็ยังมีส่วนทำให้มูลค่ายอดค้าปลีกในช่วงเปิดภาคการเรียนปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย
แนวโน้มการขยายตัวของตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาเป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และกล้าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ซึ่งยังคงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชาวอเมริกันในตลาดยังคงมีความต้องการบริโภคต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าและบริการสำหรับเทศกาลปลายปีซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดมักจะเลือกซื้อสินค้าของขวัญของชำร่วยต่างๆ เพื่อมอบให้กับสมาชิกในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด
โดยช่วงต้นครึ่งปีหลังเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ มักจะเริ่มกระบวนการหาและสั่งซื้อสินค้ารายการใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถผลิตและจัดส่งสินค้าได้ทันพร้อมขายในช่วงเทศกาลปลายปี ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาด ดังกล่าวจึงควรพิจารณาเร่งหาโอกาสในการเจรจาการค้าและเสนอขายสินค้าแก่ผู้นำเข้าให้ทันกับช่วงเทศกาลที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะยังมีแนวโน้มต้องการบริโภคสินค้าและบริการแต่ด้วยภาวะปัจจัยด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังคงมีความผันผวนส่งผลทำให้ผู้บริโภคในตลาดยังคงให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพที่สอดคล้องกับราคา ดังนั้น การพิจารณาควบคุมต้นทุนการผลิตและกำหนดราคาขายสินค้าที่เหมาะสมจะมีส่วนสำคัญช่วยให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จในการเจรจารการค้าในตลาดอนาคต
ที่มา: National Retail Federation
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก