โลจิสติกส์กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของร้านค้าปลีกแม้ว่าจะมีความเสี่ยง ในการลงทุนกับอุตสาหกรรมนี้ ผู้บริหารของเครือ Masan ธุรกิจค้าปลีกเอกชนของเวียดนาม กล่าวถึงบทบาทของบริษัท The Supra ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ดูแลด้านโลจิสติกส์ของเครือ Masan มีศูนย์กระจายสินค้าอาหารแห้ง 7 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด 9 แห่งรองรับสาขาร้านสะดวกซื้อ WinMart ทั่วประเทศเวียดนาม
โลจิสติกส์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการลดต้นทุน
เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีผลต่อความต้องการซื้อของลูกค้า ผู้ค้าปลีกที่มีราคาดีกว่าจะรักษาลูกค้าไว้ได้ บริษัท The Supra ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์ของธุรกิจค้าปลีก WinCommerce ในการขยายเครือข่ายร้านขายของชำ ปัจจุบัน WinCommerce มีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกร้อยละ 50 และเป็นหนึ่งในสองผู้ค้าปลีกที่มียอดขายสูงถึง 30,000 พันล้านเวียดนามด่ง และเป็นบริษัทเดียวที่รักษาอัตราการเปิดสาขาใหม่ได้ในปี 2565 บริษัท The Supra ปรับขั้นตอนการดำเนินงานของเครือข่าย WinCommerce และร้าน Phuc Long ร้อยละ 90 เป็นดิจิทัล
นาง Nguyen Thi Phuong ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัท The Supra กล่าวว่า The Supra ตั้งเป้าที่จะเป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่ดีที่สุดในเวียดนาม โดยให้บริการระบบค้าปลีกและสนับสนุนบริษัทนอกอุตสาหกรรม
ไม่ใช่เพียง Masan เท่านั้น แต่ผู้ค้าปลีกรายอื่นๆ จำนวนมากกำลังมุ่งเน้นไปที่การลงทุนด้านโลจิสติกส์ โดยมองว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเติบโตในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น บริษัท The Gioi Di Dong และบริษัท GreenFeed ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาอาหารสัตว์ สินค้าปศุสัตว์ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ จัดจำหน่ายเนื้อสัตว์ภายในประเทศ การลงทุนร่วมกันของบริษัทเหล่านี้ได้แก่โครงสร้างพื้นฐานของคลังสินค้า และซอฟต์แวร์เพื่อประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากบริษัทโลจิสติกส์แบบดั้งเดิม เวียดนามยังมีบริษัทการลงทุนด้านโลจิสติกส์ใหม่ๆ เช่น บริษัท Telio บริษัท VinShop และบริษัท Ninja Mart (ในเครือ Ninja Van Group) โดย Ninja Martมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคกับระบบการค้าปลีกแบบดั้งเดิมในพื้นที่ชนบท ในช่วงที่ผ่านมา ลูกค้าของบริษัท Ninja Mart ได้แก่ บริษัท Ajinomoto บริษัท Sabeco บริษัท Carlsberg และบริษัท Carabao Group (Thailand)
ผลประโยชน์มาพร้อมกับความเสี่ยง
ความกระตือรือร้นของธุรกิจด้านโลจิสติกส์ในเวียดนามตรงกันข้ามกับการลงทุนในภาคส่วนนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีการร่วมทุนลดลงในสาขาโลจิสติกส์
จากข้อมูลของ Vietnam Logistics Association (VLA) ต้นทุนโลจิสติกส์ยังคงมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16.8 ของมูลค่าสินค้าเวียดนาม ในขณะที่ต้นทุนนี้ในโลกอยู่ที่ร้อยละ 10.6 เท่านั้น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่สูงส่งผลให้กำไรน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่มีอัตรากำไรน้อย เช่น ธุรกิจค้าปลีก
การลงทุนด้านคลังสินค้าเป็นการลงทุนระยะยาวและมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ แม้แต่ธุรกิจที่ดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานยังคงมีรายงานการขาดทุน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของอุตสาหกรรม อย่างเช่น บริษัท ABA Cooltrans และบริษัท Nhat Tin สองโครงการลงทุนของบริษัท Mekong Capital ในด้านโลจิสติกส์ในเวียดนามรายงานผลขาดทุน 44 พันล้านเวียดนามด่งและ 25 พันล้านเวียดนามด่งในปี 2565 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับการจัดหาเงินทุนเพื่อดึงดูดลูกค้า ความเสี่ยงในการลงทุนด้านโลจิสติกส์ยังถือเป็นการประหยัดของธุรกิจ
ตลาดเวียดนามเป็นที่น่าสนใจสำหรับบริษัทโลจิสติกส์ใหม่อย่าง Ninja Mart จากการจัดอันดับประจำปีของ Agility ในปี 2566 เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ 10 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ นาย Nguyen Van Thang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของเวียดนามในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 18 ของ GDP ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2 แต่ก็ยังสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย GDP ที่ร้อยละ 11 เวียดนามตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงประมาณร้อยละ 16 ของ GDP ภายในปี 2568
ตัวแทนจากบริษัท Ninja Group กล่าวว่า ในเวียดนาม พื้นที่ชนบทมีขนาดใหญ่ ประชากรกระจัดกระจายและระบบขนส่งยังไม่ได้รับการพัฒนา การลงทุนด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่จึงเกิดต้นทุนจำนวนมาก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้า ดังนั้นแทนที่จะต้องลงทุนสร้างเครือข่ายเอง ความร่วมมือกับบริษัท Ninja Mart จะช่วยให้แบรนด์ต่างๆ เข้าถึงลูกค้า 30,000 รายใน 29 จังหวัดของเวียดนาม
วิเคราะห์ผลกระทบ
ภาคโลจิสติกส์ในเวียดนามยังคงมีต้นทุนที่สูง ส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมที่กำไรน้อยอย่างภาคการค้าปลีก การลงทุนด้านระบบโลจิสติกส์จะช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลกำไร เวียดนามเป็นตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจ พื้นที่ชนบทขนาดใหญ่สามารถพัฒนาระบบขนส่งเพื่อให้เข้าถึงสินค้าได้อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ทางรัฐบาลเวียดนามก็ตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงมา เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกโดยตรง
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
จากข้อมูลของบริษัท Nielsen ในปี 2563 เวียดนามมีร้านขายของชำประมาณ 1.4 ล้านแห่ง
และตลาดแบบดั้งเดิม 9,000 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 75 ของส่วนแบ่งตลาด และมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 10 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยเฉพาะช่องทางการค้าปลีกแบบสมัยใหม่กำลังครองส่วนแบ่งการตลาดมาก และกลายเป็นแนวโน้มการบริโภคของชาวเวียดนาม การเพิ่มช่องทางค้าปลีกแบบสมัยใหม่ทำให้ความต้องการคลังสินค้าและการกระจายสินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการติดตามพัฒนาการของโลจิสติกส์ในค้าปลีกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ค้าปลีก ปัจจุบัน ในเวียดนามมีหลายจังหวัดได้จัดทำแผนด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ นอกจากนั้น แนวโน้ม
การลงทุนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะมีช่องทางการกระจายสินค้าในเวียดนามมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการกระจายสินค้า รวมทั้ง ผู้ประกอบการด้านโลจิสต์ของไทยมีโอกาสขยายการลงทุนมาในตลาดเวียดนามมากขึ้น
จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์