สำรวจพฤติกรรมการปิ้งบาร์บีคิวในสวนประจำหน้าร้อนปี 2566 ในฮังการี ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อเนื้อไก่มาย่างบนเตาถ่าน

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Evan Wise @ Unsplash

 

ในฝั่งซีกโลกเหนือ ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมนับเป็นช่วงฤดูร้อนของคนท้องถิ่น รวมทั้ง ยังเป็นช่วงปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ทำให้คนทำงานนิยมลาพักร้อนเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ ธุรกิจต่างๆ มักจัดกิจกรรมกระตุ้นการค้าในตลาดกลางแจ้ง ร้านอาหารเปิดพื้นที่ให้รับประทานอาหารในสวนหรือด้านนอกอาคาร นับเป็นช่วงเวลาทองของธุรกิจค้าปลีกและภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

 

กิจกรรมหนึ่งที่เป็นที่นิยมของชาวฮังการี เช่นเดียวกับชาวยุโรปประเทศอื่น คือการปิ้งบาร์บีคิวในสวนหลังบ้านและสวนสาธารณะ เนื่องจากในช่วงฤดูร้อน ชาวฮังการีจะนิยมทำอาหารที่ใช้ความร้อนสูง นอกบ้าน เพื่อระบายความชื้น และอากาศ ไม่ให้อุณหภูมิสูงและกลิ่นควันอบอวลอยู่ภายในตัวบ้าน อีกทั้งช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมักมีเวลาว่างไปพบปะสังสรรค์กับสมาชิกครอบครัวและเพื่อนสนิท การจัดปาร์ตี้ปิ้งบาร์บีคิวจึงเป็นกิจกรรมกระชับมิตร สร้างสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และประกอบอาหารเลี้ยงคนได้ทีละมากๆ อย่างไรก็ตาม บางปีที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทางการฮังการีจะสั่งห้ามการก่อไฟและปิ้งบาร์บีคิวในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้ป่าและมีความเสี่ยงจะเกิดไฟป่าลุกลาม โดยจะประกาศลงในเว็บไซต์ www.erdotuz.hu และ https://tuzgyujtasitilalom.nebih.gov.hu/

 

เนื้อสัตว์ที่นิยมนำมาหมักซอสและปิ้งบาร์บีคิว คือ เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อสัตว์ปีก โดยเนื้อไก่จะได้รับความนิยมสูงสุดเนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก และมีสัดส่วนไขมันต่ำกว่าเนื้อแดง สอดคล้องกับข้อมูลของสถาบัน Institute of Agricultural Economics (AKI) ในฮังการีที่ระบุว่าประชากรผู้ใหญ่ในฮังการี ที่ตอบแบบสำรวจราว 93% นิยมรับประทานเนื้อไก่มากที่สุด ในจำนวนนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 15% รับประทานเนื้อไก่สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทว่ารับประทานเนื้อหมูเพียงแค่ 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ชาวฮังการีส่วนใหญ่ไม่นิยมนำอาหารทะเลมาย่าง เนื่องจากมีราคาแพง และอาหารทะเลที่จำหน่ายส่วนมากจะเป็นอาหารแช่แข็ง ส่วนเนื้อปลานั้นมีการบริโภคบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าเนื้อสัตว์บก

 

ชิ้นส่วนเนื้อไก่ที่ชาวฮังการีนิยมนำมาปิ้งย่าง ได้แก่ สะโพกไก่ อกไก่ ปีกไก่ และน่องไก่ ชิ้นส่วนเนื้อหมูที่นิยมนำมาปิ้งย่าง คือ เบคอน สามชั้น สะโพกหมู สันคอหมู สันนอกและสันใน และซี่โครงหมู ส่วนชิ้นส่วนเนื้อวัว ที่เป็นที่นิยม คือ ซี่โครงวัว เนื้อวัวหั่นเต๋าสำหรับเสียบไม้ย่าง ตลอดจนสเต็กเนื้อ เช่น เนื้อริบอาย เนื้อสันนอก (Sirloin) เนื้อสันใน (Tenderloin) และสเต็กเนื้อบด

 

ปัจจุบัน ซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งจำหน่ายซอสปรุงรส และเนื้อสัตว์หมักซอสสำเร็จรูปพร้อมย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่จะไปปิ้งบาร์บีคิวในสถานที่ที่ไกลจากบ้าน อีกทั้ง จำหน่ายเนื้อสัตว์ทางเลือก เช่น Plant-based และเต้าหู้หมักซอสย่าง เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติและวีแกน

 

ซอสและเครื่องปรุงสำหรับหมักเนื้อที่เป็นที่นิยมและมีจำหน่ายทั่วไปในฮังการี ได้แก่ ซอสกระเทียมพริกไทย ซอสบาร์บีคิวต้นตำรับ (ทำจากมะเขือเทศ น้ำส้มสายชู น้ำตาล และเครื่องเทศ) ซอสพริกปาปริก้า ซอสโยเกิร์ต และซอสมัสตาร์ดผสมน้ำผึ้ง ทว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคต้องการรสชาติที่แปลกใหม่ ทำให้มีเนื้อหมักรสชาติใหม่ๆ วางขายมากขึ้น เช่น ซอสน้ำจิ้มไก่ (Sweet Chili Sauce) ซอสพริกเกาหลี และซีอิ๊วขาว เป็นต้น

 

สำรวจพฤติกรรมการปิ้งบาร์บีคิวในสวนประจำหน้าร้อนปี 2566 ในฮังการี ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อเนื้อไก่มาย่างบนเตาถ่าน

รูปภาพที่ 1-5: ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมักสำเร็จรูปพร้อมย่างที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Tesco และ Spar

 

ชาวฮังการีมักนิยมทำเครื่องเคียงรับประทานกับเนื้อย่าง อาทิ ข้าวโพดย่าง ผักดอง และสลัด ด้านผักและผลไม้ที่นิยมนำมาทำสลัด ได้แก่ เห็ด พริก ซูกินี มะเขือยาว มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวโพด แตงกวา หอมหัวใหญ่ เชอร์รี่ ลูกแพร์ แอปเปิ้ล ลูกพีช กล้วย สับปะรด และผลไม้กระป๋องรวมมิตร ส่วนเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมระหว่างการปิ้งบาร์บีคิว คือ น้ำอัดลม ไวน์ แชมเปญ เบียร์ และ Fröccs ซึ่งเป็นเครื่องดื่มผสมน้ำอัดแก๊สและไวน์ขาว นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังนิยมรับประทานอาหารประเภทอื่นที่สามารถทำพร้อมกันกับการปิ้งบาร์บีคิว เช่นเบอร์เกอร์ ไส้กรอก ฮอทดอก เคบับ พิซซ่า ผักย่าง มาร์ชแมลโลว์ย่าง เป็นต้น

 

ด้านอุปกรณ์การปิ้งย่าง เตาย่างที่เป็นที่นิยม คือเตาถ่าน เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่ทนทานและให้กลิ่นหอมไม้ฟืน สอดคล้องกับข้อมูลจาก emag.hu แพลตฟอร์ม e-Commerce เจ้าใหญ่ที่สุดในฮังการีรายหนึ่ง ที่ระบุว่า ยอดขายสินค้าหมวดเตาปิ้งย่างในปี 2566 ราว 65% เป็นเตาถ่านสำหรับใช้กลางแจ้ง ตามมาด้วยเตาแก๊สปิคนิคหรือเตาแก๊สกระป๋อง 23% และเตาปิ้งย่างไฟฟ้า 12% โดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคใช้เงินราว 23,000 โฟรินท์ (ประมาณ 2,300 บาท) ต่อคำสั่งซื้อเตาปิ้งย่าง 1 ครั้ง

 

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ของ สคต.

 

สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมสังสรรค์และนันทนาการกลางแจ้ง จะได้รับความนิยมอย่างมากในฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจฮังการีปัจจุบันยังประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการที่ฮังการีต้องนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตลอดปี 2565 อยู่ที่ 14.5% (YoY) และกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว จึงส่งผลให้ผู้บริโภคชาวฮังการีส่วนมากยังคงให้ความสำคัญกับราคาขายเป็นอย่างมาก

 

ด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แม้การปิ้งบาร์บีคิวนอกบ้านจะได้รับความนิยมมายาวนาน ทว่าการปิ้งย่างแบบอื่นๆ เช่น ปิ้งย่างสไตล์เกาหลี และยากินิคุแบบญี่ปุ่นนั้น ยังไม่เป็นที่รู้จักดีนัก ร้านอาหารที่ให้บริการปิ้งย่างแบบบริการตนเองมักจะกระจุกอยู่ในเมืองหลวง และยังไม่มีการขยายไปยังหัวเมืองอื่นเนื่องจากฐานลูกค้ายังมีน้อย อีกทั้ง ราคาอาหารค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาหารพื้นเมือง ลูกค้าส่วนใหญ่คือผู้อยู่อาศัยชาวเอเชีย และวัยรุ่นชาวฮังการีที่นิยมวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก ที่มักมารับประทานเป็นกลุ่ม

 

อย่างไรก็ตาม ผลไม้กระป๋อง ซอสปรุงรส และหัวเชื้อปรุงแต่งอาหาร ยังถือว่ามีโอกาสในตลาดที่ฮังการี เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายวิธีที่สามารถปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและโอกาสตลาดในฮังการี คือ ชิ้นส่วนเครื่องครัว อุปกรณ์เครื่องครัวที่สามารถนำไปใช้ในการปิ้งบาร์บีคิวหรือประกอบอาหารในช่วงฤดูร้อนได้ ซึ่งที่ผ่านมา สินค้าที่ไทยส่งออกมายังฮังการีส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะปรับสินค้าให้เข้ากับรูปแบบการบริโภคของชาวฮังกาเรียน

 

ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้รวบรวมกฎระเบียบ และงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องสำหรับสินค้ากลุ่มเป้าหมายแต่ละประเภท ดังนี้

 

  ตัวอย่างกฎระเบียบระดับสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับสินค้า งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในช่วงครึ่งปีหลังของ 2566 และในปี 2567 ตัวอย่างอัตราอากรขาเข้าของสหภาพยุโรป (Third Country Duty)

หมายเหตุ: VAT ประเทศฮังการีอยู่ที่ 27%

ชิ้นส่วนเครื่องครัวเตาปิ้งย่างและอุปกรณ์เสริม –      ข้อกำหนดว่าด้วยเรื่องของการใช้สารที่เป็นอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Directive 2002/95/EC หรือ Restriction of Hazardous Substances (RoHS) Directive)

–      ข้อกำหนดว่าด้วยเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Directive 2012/19/EU หรือ Waste Electrical and Electronic equipment (WEEE) Directive)

–      ระเบียบว่าด้วยการทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Directive 2014/30/EU หรือ Electromagnetic Compatibility (EMC) Directive)

–      ระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยทางไฟฟ้า (Directive 2014/35/EU หรือ Low Voltage Directive (LVD))

–      มาตรฐาน CE (European Conformity) สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท

 

–   งานแสดงสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และระบบอัตโนมัติ Electrosub ณ ศูนย์ประชุม Europa Event Center กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ 11-12 ตุลาคม 2566

เว็บไซต์ผู้จัดงาน: https://electrosub.hu/

 

–   งานแสดงสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ InnoElectro ณ ศูนย์ประชุม MOM Event Center กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ 23-25 เมษายน 2567

เว็บไซต์ผู้จัดงาน: https://innoelectro.com/en

73.21 เตา เตาชุด เตาย่าง เตาที่มีภาชนะหุงต้มในตัว (รวมถึงเตาที่มีบอยเลอร์สำหรับการทำความร้อนจากส่วนกลาง) เตาบาร์บีคิว เตาบราเซียร์ หัวเตาแก๊ส แผ่นใช้สำหรับอุ่นอาหาร และเครื่องใช้ที่คล้ายกันสำหรับใช้ตามบ้านเรือนไม่ใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบของของดังกล่าว ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า = 2.70%

 

73.23 ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของใช้ในครัว หรือของใช้ตามบ้านเรือนอื่น ๆ และส่วนประกอบของของดังกล่าว ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ฝอยเหล็กหรือฝอยเหล็กกล้า รวมทั้งของที่ใช้ขัดหม้อ แผ่น ถุงมือและของที่คล้ายกัน สำหรับขัดหรือขัดถู ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า = 3.20%

อสปรุงรส หัวเชื้อปรุงอาหาร และผลไม้กระป๋อง ระดับสหภาพยุโรป

–   กฎหมายทั่วไปว่าด้วยอาหาร (Regulation (EC) No. 178/2002 หรือ General Food Law)

–   กฎหมายว่าด้วยสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์อาหาร (Regulation (EC) No. 852/2004)

–   กฎหมายว่าด้วยสุขอนามัยอาหาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ (Commission Regulation (EU) 2021/382)

–   ระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยของอาหารและการใช้สารปรุงแต่งอาหาร (Food Additives) ในผลิตภัณฑ์อาหาร (Regulation (EC) No. 1333/2008)

–   ข้อแก้ไขกฎระเบียบสำหรับใบรับรองการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์นำเข้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Commission Delegated Regulation (EU) 2021/2306 of 21 October 2021 supplementing Regulation (EU) 2018/848)

–   ข้อแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมเชื้อแบคทีเรียในสินค้าเนื้อสัตว์ปีก (Commission Regulation (EU) No 209/2013 of 11 March 2013 amending Regulation (EC) No 2073/2005)

–   ระเบียบการแสดงข้อมูลอาหารสำหรับผู้บริโภค (Regulation (EU) No. 1169/2011)

–   กฎระเบียบควบคุมการผลิตและค้าขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Regulation (EU) 2018/848)

–   กฎระเบียบควบคุมการผลิตและค้าขายสินค้าอาหารดัดแปลงพันธุกรรม (Regulation (EC) No. 1829/2003 และ Regulation (EC) No. 1830/2003)

–   ระเบียบว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ และของเสียที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ (European Parliament and Council Directive 94/62/EC)

ระดับชาติ

–   กฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร และสถานประกอบอาหาร โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในฮังการี คือ สำนักงานความปลอดภัยในห่วงโซ่อาหารแห่งชาติ (National Food Chain Safety Office หรือ Nemzeti Élelmiszerlánc-biztonsági Hivatal)

–   กฎระเบียบว่าด้วยการแสดงข้อมูลในฉลากสินค้าอาหารในฮังการี

–   กฤษฎีกากระทรวงเกษตร ประเทศฮังการี ฉบับที่ 61/2016 ประจำปี 2559 ว่าด้วยการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์สินค้าปลอด GMO หรือสารดัดแปลงทางพันธุกรรม (Decree No. 61/2016 of the Minister of Agriculture)

งานแสดงสินค้าและบริการสำหรับธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ค้าปลีก (Retail) และ HORECA (โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่- จัดเลี้ยง) ที่ใหญ่ที่สุดของฮังการีและภูมิภาคยุโรปกลาง ได้แก่ งาน SIRHA BUDAPEST ณ ศูนย์แสดงสินค้า HUNGEXPO Budapest Congress and Exhibition Center กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2567

เว็บไซต์ผู้จัดงาน: https://sirha-budapest.com/en/

 

2008.20.19 สับปะรด ในบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 1 กิโลกรัม และมีปริมาณน้ำตาลเกิน 19% ของน้ำหนักสินค้า (ภายใต้หมวด 20.08 ผลไม้ ลูกนัต และส่วนอื่นที่บริโภคได้ของพืช ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสียโดยวิธีอื่น จะเติมน้ำตาลหรือสารทำให้หวานอื่น ๆ หรือสุรา หรือไม่ก็ตาม ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น) = 25.60%

 

ทว่าสำหรับประเทศที่สามที่ไม่มีการให้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป (Non preferential tariff quota) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566 อัตราอากรอยู่ที่ 20.00%

 

2103.10.00 ซอสถั่วเหลือง = 7.70%

 

 

ที่มาของข้อมูล

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566

thThai