หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นปากีสถานรายงานว่า ผลจากการที่อินเดียออกมาตรการห้ามส่งออกข้าว ทำให้ปากีสถานตั้งเป้าส่งออกข้าวปีนี้ถึง 5 ล้านตัน
ปีงบประมาณที่แล้ว (1 ก.ค. 65-30 มิ.ย. 66) ปากีสถานส่งออกข้าว 3.7 ล้านตัน มูลค่า 2.14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นาย Chela Ram Kewlani ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งปากีสถาน (REAP) กล่าวกับผู้สื่อข่าว “(ปีที่แล้ว) แม้น้ำท่วมใหญ่ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง และความท้าทายอื่นๆ อีกมากมาย ปากีสถานยังสามารถส่งออกข้าวได้ในปริมาณมาก” และเสริมว่า “การห้ามส่งออกข้าวของอินเดียจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการค้าข้าวทั่วโลก นี่จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับปากีสถานในการเติมเต็มช่องว่างด้านอุปทานและขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศผู้ซื้อข้าวรายใหญ่” ประธานสมาคม REAP ผู้นี้มองว่าในปีงบประมาณนี้ (1 ก.ค. 66-30 มิ.ย. 67) ปากีสถานจะส่งออกข้าวให้ได้ตามเป้าหมาย 5 ล้านตัน มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้สั่งห้ามการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ เพื่อรักษาระดับอุปทานข้าวภายในประเทศท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ค. 66) ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวทั่วโลก โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างกังวลกับปริมาณข้าวที่หดหายไปจากตลาดโลกกว่าร้อยละ 40 อาจจะทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น ส่วนประเทศผู้ส่งออกข้าวหวังเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป ประธานสมาคม REAP มีความมั่นใจว่า ปากีสถานสามารถใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของปากีสถานเพิ่มขึ้นและมีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของราคาข้าวต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ REAP กล่าวว่าราคาข้าวของปากีสถานในตลาดต่างประเทศพุ่งสูงถึง 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 100 เหรียญสหรัฐจากเดือนก่อน เนื่องจากความต้องการข้าวเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่อินเดียสั่งห้ามส่งออก
ผู้ค้าข้าวซึ่งเป็นสมาชิกของ REAP รายหนึ่งกล่าวว่า ข้าวปากีสถานมีคุณภาพที่ดี ดังนั้น ภายในเดือนหน้า (ก.ย. 66) ราคาข้าวอาจเพิ่มขึ้นถึง 600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และกล่าวต่อไปว่า “เป็นโอกาสทองของปากีสถานในการส่งเสริมการส่งออกข้าวและรับเงินตราต่างประเทศอันมีค่า เนื่องจากอินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง”
ปากีสถานเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสี่ของโลก รองจากอินเดีย ไทย และเวียดนาม ก่อนการห้ามการส่งออกของอินเดีย ข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาตีของปากีสถาน ขายอยู่ที่ 450 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะนี้ ราคาพุ่งขึ้นเป็น 500 เหรียญสหรัฐฯ
ประธานสมาคม REAP ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ มีผู้ส่งออกของปากีสถานที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัยพืช SPS 15 ราย ที่สามารถส่งออกข้าวไปยังรัสเซียได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ (ปี 2564) เคยถูกทางการรัสเซียระงับการนำเข้าเนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานดังกล่าว โดยประธานสมาคมฯ มองว่า รัสเซียเป็นตลาดใหญ่และเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกข้าวของปากีสถาน นอกจากนั้น เมื่อต้นเดือนที่แล้วผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคชาวเม็กซิกันได้เดินทางมาสำรวจการผลิตข้าวในปากีสถาน โดยเฉพาะขั้นตอนการปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตและขั้นตอนการปฏิบัติงานของผู้ส่งออกข้าวของปากีสถาน โดยประธานสมาคม REAP คาดหวังว่า เม็กซิโกจะยกเลิกการห้ามนำเข้าข้าวปากีสถานและกลับมาซื้อข้าวเหมือนเดิม
ในส่วนของการผลิต ประธานสมาคม REAP คาดว่าปากีสถานจะสามารถผลิตข้าวได้ผลดีในปีนี้ จะมีผลผลิตประมาณ 9 ล้านตัน
ความเห็นสำนักงาน
- จากมาตรการห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาตีของอินเดียสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาดข้าว โดยเฉพาะตลาดผู้นำเข้าข้าว ต่างคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกอยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งจะผลักดันราคาข้าวให้เพิ่มสูงขึ้น ในประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ย่อมหมายถึง ประชาชนจะได้รับผลกระทบต่อราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มค่าครองชีพ ในประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นโอกาสของการส่งออกในการเติมเต็มช่องว่างอุปทานที่ขาดหายไป โอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น จะฉุดดึงราคาข้าวภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศทั้งผู้ผลิตข้าวและส่งออกข้าว ได้มองเห็นช่องว่างในการเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวและช่องทางในการปรับราคาข้าวส่งออกเพิ่มขึ้น โดยคาดหวังเงินตราจากต่างประเทศมาเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
- สมาคม REAP มองว่า เป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวปากีสถานในการสร้างตลาดข้าวทดแทนอินเดีย และมีโอกาสในระยะยาวที่จะครอบครองตลาดบางส่วน โดยเฉพาะที่สมาคม REAP ตั้งเป้าหมายไว้ ได้แก่ ตลาดรัสเซียที่ยอมรับมาตรฐาน SPS ของโรงสี/ผู้ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 15 ราย รวมทั้งตลาดเม็กซิกันที่มีผู้แทนมาเยือนและตรวจสอบมาตรฐานการผลิตข้าวของปากีสถาน และได้รับผลตอบรับที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นโอกาสของปากีสถานในการส่งข้าวออกไปยังเม็กซิโกในอนาคต
- ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะการเข้าไปในตลาดที่เป็นของอินเดียแต่เดิม แม้ว่าราคาข้าวไทยสูงกว่าข้าวอินเดีย แต่ปริมาณข้าวที่น้อยลงไม่เหลือทางเลือกให้กับผู้นำเข้ามากนัก ขณะนี้จึงเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ส่งออกในการขยายตลาดเพิ่มเติม
ที่มา ข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น The News