จีนเตรียมพิจารณาอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวสดจากเวียดนามอย่างเป็นทางการ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการนำเข้ามะพร้าวของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามณฑล ไห่หนานเป็นพื้นที่ผลิตมะพร้าวหลักของจีน แต่มณฑลไห่หนานสามารถผลิตมะพร้าวได้เพียง 250 ล้านลูกต่อปี ในขณะที่ความต้องการของตลาดต่อปีของจีนสูงถึง 2.6 พันล้านลูก นอกจากนี้จีนยังมีความต้องการแปรรูปมะพร้าวอีก 1.5 พันล้านลูก จึงส่งผลให้ตลาดจีนมีช่องว่างขนาดใหญ่ เนื่องจากมะพร้าวของจีนผลิตได้เพียงร้อยละ 10 ของความต้องการของตลาดเท่านั้น จึงต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรของจีน ระบุว่า ในปี 2564 ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ามะพร้าวที่ไม่ปลอกเปลือกชั้นใน อยู่ที่ 872,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.92 พันล้านหยวน ในปี 2565 ปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1.07 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3.79 พันล้านหยวน หากคำนวณมะพร้าว 1 กิโลกรัม การนำเข้ามะพร้าวปีละเกือบ 1 พันล้านลูก แทบจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการจำนวนมากของตลาดจีนได้ ภายใต้แรงกดดันของการขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้บริษัทเครื่องดื่มในจีนต้องแข่งขันกันเพื่อจัดหาวัตถุดิบมะพร้าว อีกทั้งบริษัทแปรรูปเนื้อมะพร้าวบางแห่งก็เร่งซื้อมะพร้าวนำเข้าเช่นกัน

เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาดของเครื่องดื่มจากมะพร้าว ความต้องการมะพร้าวในจีนสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จีนมีช่องว่างในการจัดหาวัตถุดิบขนาดใหญ่ ตามข้อมูล “”การวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาและการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ในอนาคตของอุตสาหกรรมมะพร้าวในจีน ปี 2566 – 2572” ของสถาบันวิจัยอุตสาหกรรม Zhiyan และ  “รายงานการวิจัยเชิงลึกและการวิจัยการคาดการณ์การลงทุนในอนาคตของอุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวจีนปี 2563-2568” ของ China Research ระบุว่า ในปี 2565 มณฑลไห่หนานมีผลผลิตของมะพร้าวอยู่ที่ 223 ล้านลูก ในขณะที่ความต้องการมะพร้าวในจีนสูงถึง 2.6 พันล้านต่อปี ดังนั้น จีนจึงต้องนำเข้ามะพร้าวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมากทุกปี

ล่าสุด สำนักข่าวของจีนรายงานว่า ในเดือนสิงหาคม ปี 2566 สำนักงานศุลกากรจีนจะดำเนินการตรวจสอบมะพร้าวสดของเวียดนาม เพื่อทำการพิจารณาอนุญาตให้เวียดนามส่งออกมะพร้าวสดไปยังจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งรายละเอียดการตรวจสอบ กรมศุลกากรจีนจะทำการตรวจสอบระบบป้องกันอันตรายทางชีวภาพในพื้นที่ปลูกมะพร้าวและแหล่งบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการเก็บเกี่ยวมะพร้าว การขนส่งสินค้าของเวียดนาม  หน่วยงานการป้องกันและกักกันพืช (Plant Protection and Quarantine : PPQ) กำหนดให้หน่วยงานเกษตรและสำนักงานพัฒนาชนบทระดับมณฑลและเทศบาลจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้ความร่วมมือในระหว่างกระบวนการตรวจสอบ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืชได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคไปให้คำแนะนำพื้นที่ปลูกมะพร้าวและโรงคัดบรรจุเพื่อเตรียมเอกสารและเอกสารทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดของสำนักงานศุลกากรจีน เนื้อหาและไฟล์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน และส่งไปยังหน่วยงานการป้องกันและกักกันพืชเพื่อรวบรวม และส่งไปยัง สำนักงานศุลกากรจีน ก่อนวันที่ 5 สิงหาคม 2566 หลังการตรวจสอบ ฝ่ายจีนจะทำการประเมินความเสี่ยงและเสนอข้อกำหนดการนำเข้าที่เหมาะสม เพื่อกำหนดพิธีสารเกี่ยวกับการนำเข้ามะพร้าวจากเวียดนาม

นอกจากนี้ ตามข้อมูลสถิติการนำเข้าของจีน แสดงให้เห็นว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามไปยังจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 1.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 121.9% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ซึ่งคิดเป็น 65.8 % ของตลาดส่งออกผักและผลไม้ ซึ่ง Mr. Dang Phuc Nguyen เลขาธิการสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม ยังเสนอแนะให้ทางการเวียดนามประสานงานและเจรจาเพื่อลงนามพิธีสารการส่งออกที่เป็นทางการมากขึ้นไปยังจีน เพื่อช่วยผู้ประกอบการผักและผลไม้เวียดนามในการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรการส่งออก สร้างเสถียรภาพ และเพิ่มปริมาณมูลค่าการส่งออก

เมื่อพิจารณาจากข้อมูล จะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลเวียดนาม พยายามผลักดันการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในระยะยาว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทย ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกมะพร้าวและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องจับตามอง และหากลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

เนื่องด้วยประเทศจีนมีประชากรเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชากรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวจีนจึงได้ยกระดับการบริโภคที่สูงขึ้น ปัจจุบัน จีนกลายเป็นประเทศที่มีการบริโภคผลไม้มากที่สุดติดอันดับโลก เนื่องจากชาวจีนนอกจากจะชอบบริโภคผลไม้สดแล้ว ปัจจุบัน เครื่องดื่มชา กาแฟผสม           น้ำผลไม้ที่กำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะมะพร้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไขมันต่ำ ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ตามกระแสของการรักสุขภาพของคนจีนรุ่นใหม่ ทำให้เครื่องดื่มชา กาแฟผสมน้ำมะพร้าวกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นจีน ส่งผลให้มีความต้องการมะพร้าวในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญของโลกและเป็นแหล่งนำเข้ามะพร้าวที่สำคัญของจีนด้วย ในปี 2565 จีนมีการนำเข้ามะพร้าวจากไทย 523,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 48.8 ของการนำเข้ามะพร้าวทั้งหมดของจีน ทั้งนี้การที่จีนมีความต้องการมะพร้าวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดส่งออกสำหรับผู้ประกอบการไทย

การที่จีนเตรียมอนญาตนำเข้ามะพร้าวจากเวียดนามอย่างเป็นทางการนั้น อาจส่งผลกระทบกับการส่งออกมะพร้าวจากไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์การนำเข้าผลไม้จากเวียดนามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ควรต้องเร่งพัฒนาการเพาะปลูกมะพร้าวและต้องมีการรักษาตรวจสอบคุณภาพมะพร้าวที่จะส่งออกมายังจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้บริโภคจีนเชื่อมั่นในการบริโภคมะพร้าวไทย รวมถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรมีการร่วมกันในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของมะพร้าวไทย ส่งเสริมให้มะพร้าวไทยเป็นที่รู้จักในตลาดจีนมากยิ่งขึ้นต่อไป

 

ที่มา: https://new.qq.com/rain/a/20230724A05I5900

https://www.jiemian.com/article/9793914.html

http://www.shuiguoguancha.com/cn/detail/2563.html

https://www.163.com/dy/article/IA8UDN1I0534MHMX.html

ภาพ: https://www.jiemian.com/article/9793914.html

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

9  สิงหาคม  2566

thThai