หลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ตลาดโลกก็กลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อ Non-Alcoholic Beverages หรือที่รู้จักกันดีในนามของเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ (หรือมีแอลกอฮอล์ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของปริมาตรทั้งหมด) กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน เชื่อหรือไม่ว่าชาวอเมริกันที่ซื้อเครื่องดื่มเหล่านี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเกือบ 1,500 เหรียญสหรัฐหรือกว่า 50,000 บาทต่อคนต่อปี จากรายงานสรุปของเว็บไซต์ Statista เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลการตลาดโลก ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ผู้คนทั่วทุกมุมโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพกันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดของผลิตภัณฑ์ปราศจากแอลกอฮอล์กลุ่มนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาที่ภายในสองไตรมาสแรกของปี 2566 สามารถทำยอดขายได้ราว 4.97 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยคิดเป็นยอดขายจากช่องทางออนไลน์ร้อยละ 14.8 นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเติบโตถึงร้อยละ 3.9

ตลาดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic) ในสหรัฐฯ

ตลาดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic) ในสหรัฐฯ

สัดส่วนรายได้หลักของ Non-Alcoholic Beverages ตกเป็นของกลุ่มน้ำอัดลม เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้มีราคาที่จับต้องได้ และสามารถดับกระหายได้ดี อีกทั้งชาวอเมริกันส่วนใหญ่ชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด จึงไม่แปลกที่น้ำอัดลมจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นในการเลือกบริโภค โดยเพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2566 ยอดขายของน้ำอัดลมพุ่งสูงถึง 3.28 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าปี 2565 ที่ทำยอดขายได้ 2.98 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีบริษัทเจ้าดังที่ถือครองสัดส่วนการตลาดรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 52 นั่นก็คือ Coca-Cola Company, PepsiCo and Keurig และ Dr Pepper ตามลำดับ

ตลาดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic) ในสหรัฐฯ

สัดส่วนตลาดผลิตภัณฑ์ใหญ่รองลงมาคงหนีไม่พ้นน้ำดื่มนั่นเอง เนื่องด้วยประเทศสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีคนบริโภคน้ำดื่มมากที่สุดในโลก (ข้อมูลจาก U.S. Food and Drug Administration (FDA))  ส่งผลในปี 2565 ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ทำสถิติยอดขายอยู่ที่ประมาณ 1.59 หมื่นล้านแกลลอน ซึ่งนับว่าเป็นยอดที่สูงที่สุดที่ในสถิติเคยมีมา และจากผลสำรวจเดือน มีนาคม 2566 พบว่า ชาวเมริกันที่มีอายุช่วง 50-64 ปีนิยมบริโภคน้ำดื่มมากเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งน้ำดื่มธรรมชาติ (still water) หรือน้ำดื่มที่มีการอัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (carbonated water) ตามมาด้วยช่วงอายุ 18-29 ปี และช่วงอายุ 30-49 ปี ตามลำดับ โดยมี 4 ยี่ห้อหลักที่คุมเกมวงการน้ำดื่มอยู่ ได้แก่ Aquafina, Glacéau Smart Water, Dasani และ Poland Spring

ตลาดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic) ในสหรัฐฯ

นอกจากน้ำอัดลมและน้ำดื่มข้างต้นแล้ว ยังมีเครื่องดื่มอีกหลายชนิดที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ได้แก่ น้ำผักผลไม้ ชา กาแฟ นม และเครื่องดื่มชูกำลัง ตามลำดับ แต่ผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตามองมากที่สุดขณะนี้ในสหรัฐฯ คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์ Zero-Sugar / Low-Sugar ที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงทั่วโลก โดยสองไตรมาสแรกของปี 2566 มียอดขายอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2571

ตลาดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic) ในสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการที่ขับเคลื่อนวงการเครื่องดื่มสุขภาพ หรือเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาล มาจากที่ชาวเมริกันกว่าร้อยละ 40 เป็นโรคอ้วน ผู้ประกอบการทั้งในสหรัฐฯและต่างประเทศจึงแข่งขันกันคิดค้นสูตรเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาลที่รสชาติคล้ายต้นฉบับ และดีต่อสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ส่งผลให้ตลาดการแข่งขันของสินค้าชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มที่จะแข่งขันสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

ความคิดเห็นของสคต.นิวยอร์ก

ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับการเลือกบริโภคและดูแลรักษาสุขภาพกันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาด Non-Alcoholic Beverages เป็นตลาดที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้ ปริมาณยอดขายของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในภายภาคหน้า อีกทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดเครื่องดื่มขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของโลก หากมีผู้ประกอบการชาวไทยหรือผู้ใดสนใจที่จะส่งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ออกมาจำหน่ายยังสหรัฐฯ นับว่าช่วงจังหวะและโอกาสทองก็ว่าได้ที่จะได้นำผลิตภัณฑ์ไทยคุณภาพออกมาขยายตลาดให้มากขึ้น เพราะชาวอเมริกันนั้นมีนิสัยชื่นชอบในการลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ได้ผูกขาดกับผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง ประกอบกับชาวอเมริกานิยมบริโภคน้ำอัดลมและน้ำดื่มเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการท่านใดสามารถเพิ่มส่วนประกอบหรือสารอาหารที่มีประโยชน์ในตัวสินค้าได้  จะยิ่งเป็นโอกาสให้สามารถเจาะตลาดเครื่องดื่มสหรัฐฯ ได้มากยิ่งขึ้น

 

ที่มา: statista.com mordorintelligence.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

thThai