มาตรการจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชิลี

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 98 ของปี 2566 ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายฉบับที่ 21,363 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกฎหมายฉบับที่ 21,363 ดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีสาระเกี่ยวกับการค้าและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการติดฉลากและโฆษณา โดยวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายดังกล่าว เพื่อควบคุมการโฆษณาที่ส่งเสริมการบริโภคในกลุ่มผู้ชมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้มีการเตือนเกี่ยวกับผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ และการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยการขายและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดฉลากจะมีผลใช้บังคับภายใน 1 ปี หลังจากที่มีการเผยแพร่กฎระเบียบดังกล่าว โดยในส่วนของกฎระเบียบที่ควบคุมการโฆษณา จะมีผลใช้บังคับภายใน 36 เดือนหลังจากมีการเผยแพร่กฎระเบียบ

ดังนั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการติดฉลาก (ข้อความเตือนและการออกแบบ) จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 และข้อบังเกี่ยวกับการโฆษณา จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2569 โดยกฎหมายข้างต้นกำหนดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่วางขายในประเทศชิลีต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการเตือนเกี่ยวกับผลกระทบของผู้บริโภคที่จะได้รับจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น อันตราย กลุ่มเสี่ยงสำหรับการบริโภค รวมถึงการกำหนดข้อมูลด้านค่าพลังงาน

ป้ายคำเตือน

ข้อบังคับของกฎหมายกำหนดว่าเครื่องดื่มทุกประเภทที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เท่ากับหรือมากกว่า 0.5° ที่วางขายในประเทศชิลี จะต้องมีคำเตือนดังต่อไปนี้

คำเตือนจะต้องติดรวมไว้กับฉลาก โดยภาพการเตือนทั้ง 2 แบบ สามารถใช้แทนกันได้ โดยขนาดของคำเตือนจำต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 พื้นที่ผิวด้านหน้าหรือด้านหลังของฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ โดยคำเตือนที่ถูกต้องสมบูรณ์จะต้องมีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 6.2 เซนติเมตร ความสูงไม่น้อยกว่า 3.5 เซนติเมตร สัญลักษณ์แปดหลี่ยมแต่ละอัน จะต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.7 เซนติเมตร กว้างไม่น้อยกว่า 1.7 เซนติเมตร โดยพิ้นที่การเตือนโดยรวมไม้เกินกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่บรรจุภัณฑ์

คำเตือนที่ต้องมีคำอธิบายเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบ อันตรายต่อสุขภาพจากการบริโภค โดยเฉพาะประชากรที่มีความเสี่ยง ได้แก่ สตรีที่ตั้งครรภ์  ผู้เยาว์ และผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยคำเตือนต้องสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในทุกจุดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศหรือผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบการติดฉลากคำเตือนดังกล่าว นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีร้อยละของแอลกอฮอล์เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 0.5 จะต้องระบุค่าพลังงานต่อ 100 มิลลิลิตรของผลิตภัณฑ์เป็นหน่วยกิโลแคลอรี่

การโฆษณา

กฎหมายกำหนดห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในเชิงพาณิชย์และมิใช่พาณิชย์ โดยทางตรงและทางอ้อม  หรือโดยวิธีการใด ๆ  ห้ามมีการชักจูงผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้เยาว์ให้หลงเชื่อต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้ง ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกิจกรรมการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ  ในทุกรูปแบบ ยกเว้นการแข่งขันกีฬาระดับประเทศที่จัดขึ้นโดยประเทศชิลี

การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อโทรทัศน์สามารถดำเนินการได้เฉพาะช่วงเวลา 22:00 น. – 06:00 น. และการโฆษณาฯ ทางสื่อวิทยุสามารถดำเนินการได้เฉพาะช่วงเวลา 16:00 น. – 18:00 น.[1]

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.

รัฐบาลชิลีมีการขยายการใช้มาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันผู้บริโภคดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และปัญหาด้านสุขภาพ[1] ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ชิลีเป็นประเทศในลำดับที่ 2 ที่มีการบริโภคบริโภคแอลกอฮอล์สูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยการบริโภคเฉลี่ย 7.8 ลิตร รองจากประเทศอาร์เจนติน่า มีการบริโภคเฉลี่ย 7.95 ลิตร รองลงไปคือ ปานามา (6.54 ลิตร) บราซิล (6.12 ลิตร) และเปรู (5.74 ลิตร) ตามลำดับ โดยเครื่องดื่มเบียร์ได้รับความนิยมในการบริโภคสูงที่สุด[2]

          จากข้อมูลของ Chile´s National Service for the Prevention and Rehabilitation of Drug and Alcohol พบว่าชาวชิลีคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมีอาการมึนเมา ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ การทำการตลาดที่เข้มข้น และการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แพร่หลายและสะดวกในการซื้อหา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ มีจำนวนกว่า 46,000 ราย ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าที่กฎหมายอนุญาต (ใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 ใบ ต่อประชากร 600 คน ซึ่งชิลีมีประชากรรวม 19.49 ล้านคนในปี 2563)[3]

จากการกำหนดมาตรการที่จะส่งผลต่อการจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของชิลี ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย) ในแง่ของการติดฉลาก การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ และการทำการตลาดให้เป็นไปตามข้อกำหนดของภาครัฐ โดยผู้ผลิตจำเป็นต้องหากลยุทธ์การตลาดที่เน้นการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ หรือการดื่มที่ไม่ส่งผลลบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ หากมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น

การส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่ผ่านมาในปี 2565 มีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยตลาดส่งออกหลักอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน แม้ว่าภูมิภาคลาตินอเมริกาจะมิใช่ตลาดเป้าหมายหลักของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย และการกำหนดมาตรการของรัฐบาลชิลีที่อาจส่งผลต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง และเพิ่มความใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น สคต. ซันติอาโกยังคงเห็นว่าผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสในตลาดชิลี เนื่องจากแนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำและแคลอรี่ต่ำในชิลีมีการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการดื่มเพื่อการสังสรรค์พร้อม ๆ กับการรักษาสุขภาพ จึงมองหาเครื่องดื่มที่มีรสชาติที่ดื่มง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทั้งนี้ บริษัท Cencosud S.A. (ห้าง Jumbo) ของชิลีมีการสั่งซื้อสินค้าเบียร์จากไทยเพื่อทดลองตลาด โดยมีแผนในการจำหน่ายเบียร์ไทยทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2566 เนื่องจากผู้บริโภคชาวชิลีส่วนใหญ่นิยมสังสรรค์ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดต่าง ๆ ตลอดปี รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างวันธรรมดาหลังเลิกงานด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยังประเทศชิลี ควรพิจารณาถึงการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรมีการกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จำหน่ายในตลาดชิลีมีความหลากหลายทั้งที่ผลิตในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากการที่ผู้บริโภคชาวชิลีให้การใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจนำเสนอจุดเด่นด้านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่ต้องการรักษาสุขภาพ

__________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

สิงหาคม 2566

[1] A global social movement – https://movendi.ngo/news/2022/11/03/chile-high-risk-alcohol-use-very-prevalent-among-students-shows-new-study/

[2] Television channel – https://cnnespanol.cnn.com/video/alcohol-persona-borrachos-america-latina-perspectivas-buenos-aires/

[3] Local nespaper – https://www.latercera.com/noticia/68-las-comunas-sobrepasan-cuota-patentes-alcoholes/

[1] Thomson Reuters stands out as the leading provider of essential news, information and tools for professionals in the legal, tax, accounting, compliance, government and media markets – https://www.laleyaldia.cl/?p=19162#:~:text=En%20virtud%20de%20lo%20dispuesto,contar%20de%20julio%20de%202025

Local newspaper – www.emol.com

Law Firm – www.carey.cl

thThai