Image Credit: Taylor Swift on the Eras Tour by Ronald Woan & Beyoncé on the Renaissance World Tour by Ralph_PH
เนื้อหาสาระข่าว: ภาพยนตร์ “Barbiew ยอดเกินพันล้านแล้ว บรรดาสตรีต่างสวมกำไลลูกปัดก่อนงานคอนเสิร์ตของ Taylor Swift สวมหมวก Cowboy กันก่อนงานของ Beyoncé
ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ พลานุภาพของสตรีในสหรัฐฯ นั้นโดดเด่นมาก ในการกำหนดทิศทางให้วงการบันเทิงทั้งภาพยนตร์และงานแสดงดนตรีไปเลย ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง “Barbie” และงานคอนเสิร์ตใหญ่อย่าง “Renaissance Tour” โดย Beyoncé และ “Eras Tour” โดย Taylor Swift ผลงานบันเทิงเหล่านี้ ไม่เพียงทำให้ผู้ชมติดตาตรึงใจเท่านั้น แต่ยังได้จุดประกายให้เห็นถึงพลังอำนาจของสตรีเมื่อมารวมกันแล้วมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากเพียงใดด้วย
อาจเรียกปรากฎการณ์นี้ได้ว่าเป็น “พลังในการขยายผลโดยสตรี” เผยให้เห็นถึงผลต่อเนื่องอันใหญ่หลวงอันเกิดจากการมีประสบการณ์ร่วมกันและการสร้างความเป็นชุมชนขึ้นมา กลุ่มเพื่อนๆ ครอบครัวและแม้แต่คนแปลกหน้ามารวมตัวกันแล้ว หลายคนที่ซื้อตั๋วแล้วไปร่วมงานเดียวกันซ้ำหลายครั้งแต่เปลี่ยนกลุ่มเพื่อนที่ไปด้วยกันช่วยผลักดันให้ใช้อำนาจการใช้จ่ายสูงขึ้น และช่วยขยายผลสำเร็จให้ผลงานเพื่อความบันเทิงเหล่านี้ไปด้วย การเที่ยวด้วยกันเป็นกลุ่มเห็นได้จาก ผู้ซื้อตั๋วภาพยนตร์ “Barbie” มีถึงร้อยละ 65 ที่เป็นสตรี มีผู้ที่ซื้อตั๋วจำนวน 3 ที่ขึ้นไปประมาณร้อยละ 27 ส่วนคอนเสิร์ตของ Swift พบว่ามีกว่าร้อยละ 80 ของผู้ซื้อตั๋วที่ซื้อมากกว่า 2 ใบ ยังได้ไปปรากฏใน “รายงานฉบับสีเบจ์” ของธนาคารกลางว่าเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ธุรกิจโรงแรมในฟิลาเดลเฟียขยายตัว ยอดขายตั๋วของทัวร์คอนเสิร์ต 25 อันดับต้นๆ ที่มีสตรีเป็นตัวชูโรงมียอดสูงขึ้นร้อยละ 400 เทียบกับปีที่แล้ว โดยยอดขายตั๋วของเฉพาะ 2 นักร้องสาวนี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 66 ของยอดขายของรายการทัวร์คอนเสิร์ต 10 อันดับแรก ค่าเฉลี่ยของราคาตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินสตรีอยู่ที่ ใบละ 660 ในขณะที่ค่าตั๋วของศิลปินชายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 245 ดอลลาร์สหรัฐ
สาระสำคัญของการให้อำนาจเพิ่มขึ้นและการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันที่สะท้อนให้เห็นในผลงานบันเทิงเหล่านี้ เมื่อบรรดาสตรีต่างช่วยให้กิจกรรมเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งเพราะสามารถสะท้อนถึงตัวตนของตนเองออกมาได้ นอกเหนือไปจากการเป็นงานเพื่อความบันเทิงแล้ว กิจกรรมเหล่านี้ยังได้สอนบทเรียนอันทรงคุณค่าในเรื่องการสร้างแบรนด์และการทำการตลาดได้เป็นอย่างดี เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการกระตุ้นให้พูดคุยกันในเรื่องวัฒนธรรม สังคมและความเป็นตัวตนของแต่ละคนและการทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือนว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีความสนใจ ค่านิยมและประสบการณ์คล้ายคลึงกันอีกด้วย
เมื่อพิจารณาวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมเหล่านี้แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าอิทธิพลของสตรีต่อสภาพเศรษฐกิจนั้นไปไกลกว่าแค่เรื่องการซื้อตั๋วเข้าชมเท่านั้นมาก การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับการกระตุ้นจากการใช้จ่ายของบรรดาสตรีเหล่านี้ในการท่องเที่ยว เสื้อผ้าหน้าผมเล็บ และเครื่องประดับต่างๆ ที่ระดมใช้จ่ายกันเพื่อเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อเนื่องออกไปอีกมาก เพื่อแสดงตัวตนของตนเองต่อสังคมที่ชอบสิ่งเดียวกัน และไม่ได้หยุดเพียงแค่ตนเอง แต่ยังเตรียมค่าใช้จ่ายไว้ให้ลูกๆ หลานๆ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกัน และร่วมธีมเดียวกันได้
ในยุคสมัยที่มีคำจำกัดความได้ว่า เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงบทบาทของสตรีในสังคม การมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นของแรงงานสตรีและรายได้ที่เพิ่มขึ้นของสตรีนี้ งานบันเทิงเหล่านี้กลายเป็นเครื่องชี้วัดถึงพลังอำนาจในการใช้จ่ายของสตรี ความสมัครสมานสามัคคีที่แสดงออกมาในการรวมตัวกันเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงการแสดงออกชั่วคราวแต่เป็นการสะท้อนถึงความต้องการที่จะมีอำนาจเพิ่มขึ้น และการสร้างสรรค์ความทรงจำอันตราตรึงใจซึ่งจะสะท้อนตัวตนออกมาไปตลอดชีวิต
ท้ายที่สุดนี้ ในขณะที่เรากำลังฉลองความสำเร็จของ “Barbie” และงานคอนเสิร์ตของ Beyoncé และ Taylor Swift แล้ว เรายังได้เป็นพยานของการเกิดภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย ซึ่งก็คือการที่เสียงของผู้บริโภคสตรีนั้นดังขึ้นกว่าเดิม การรับรู้ถึงพลังอำนาจในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและเมื่อบรรดาผู้บริโภคสตรีมารวมตัวกันแล้ว พลังอำนาจนั้นไม่ได้เพียงเปลี่ยนแปลงงานบันเทิงเท่านั้น แต่เปลี่ยนแปลงไปทั่วทั้งสังคมเลยทีเดียว ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นมากกว่าแนวโน้มใหม่ทางสังคม แต่นี่คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะฝากรอยภาพความทรงจำไว้ในโลกของศิลปะ เศรษฐกิจและการเชื่อมโยงถึงกันและกันของมนุษย์กันเองด้วย
บทวิเคราะห์: จากปรากฎการณ์ดังกล่าว เราพอจะเห็นภาพพฤติกรรมผู้บริโภคสตรีในตลาดสหรัฐฯ ได้ชัดเจนขึ้น พอสรุปได้ดังนี้
- อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสตรี การใช้จ่ายของสตรีในกิจกรรมทางสังคม มีอิทธิพลสูงขนาดที่สามารถผลักให้ภาพยนตร์ขึ้นลำดับได้และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในหลายๆ หมวดผลิตภัณฑ์
- กิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ ภาพยนตร์ Barbie และงานคอนเสิร์ตทั้ง 2 ประสบความสำเร็จเพราะการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้บริโภคสตรี สะท้อนถึงพฤติกรรมที่สตรีมีอำนาจเพิ่มขึ้นและชอบเผยแพร่ประสบการณ์
- พลังในการขยายผลโดยสตรี นั้นรวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์และความเป็นมิตรต่อกันและกัน การใช้จ่ายของสตรีจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อมีการรวมกลุ่มกัน กับเพื่อนๆ ครอบครัวและชุมชน เมื่อมารวมตัวกัน ก็อาจส่งผลต่อความสำเร็จของกิจกรรมจนกลายเป็นปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมได้เลย
- การรวมตัวกันเป็นชุมชน ผู้ที่เข้าร่วมงานบันเทิงเหล่านี้ มีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมกันจนเหมือนเป็นกลุ่มชุมชนเดียวกัน การแลกเปลี่ยนสร้อยข้อมือลูกปัดกัน ถ่ายรูปหมู่ช่วยเพิ่มความสนุกสนานและสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน
- บทเรียนเรื่องการสร้างแบรนด์และการตลาด ในบทความนี้ชี้ถึงการสร้างแบรนด์และการตลาดที่จะได้ผลดีนั้น การกระตุ้นให้เกิดกระแสการพูดคุยกันเรื่องวัฒนธรรมการแต่งตัว การร่วมกิจกรรมบันเทิงและความรู้สึกว่าร่วมชุมชนกันมีความสำคัญอย่างยิ่ง
- ผลต่อเนื่องที่เกินกว่าแค่ค่าตั๋ว การใช้จ่ายแบบแทบจะไม่ยั้งของสตรี นั้นไม่ได้หยุดแค่ค่าตั๋วแพงๆ แต่ยังมีการใช้จ่ายกับเสื้อผ้าหน้าผมเล็บ และเครื่องประดับที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเลือกเข้าร่วมส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นได้
- การเปลี่ยนแปลงของบทบาทสตรีในสังคม ซึ่งในปัจจุบันสตรีมีการเข้าทำงานกันมากขึ้น มีรายได้มากขึ้นและมีอำนาจการใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย
- ความหลากหลายของผู้รับสื่อ ผู้ชมกิจกรรมบันเทิงเหล่านี้ สร้างความนิยมได้ครอบคลุมไปกว้างขวาง แทบทุกเพศทุกวัยผ่านเทคนิคทางการตลาดแนวใหม่ๆ
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ในสหรัฐฯ นั้น แม้จะเป็นประเทศเสรีที่เหมือนจะมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน แต่เรื่องการเหยียดกันนี่ก็มีข่าวอยู่เรื่อยๆ ที่เป็นข่าวใหญ่อยู่บ่อยๆ ก็มักจะเป็นเรื่องคนผิวดำที่ถูกเหยียดโดยคนขาว แต่ในความเป็นจริงก็พอรู้สึกได้ว่าคนดำมีปากมีเสียงมากในประเทศนี้ แม้บางทีจะไปเหยียดชนชาติอื่นอย่าชาวลาติโน ที่พูดอังกฤษไม่ได้ คนเอเชีย ก็มีให้เห็นกันอยู่บ้าง และก็จะเห็นว่ารัฐบาลท้องถิ่นก็จะมีการยกย่องเชิดชู ชุมชนของชนกลุ่มน้อย อาทิ เอเชีย ชาวเกาะในแปซิฟิก บรรดาชนชาติต่างๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ เช่นให้โอกาสพิเศษทางธุรกิจ หรือมีการสนับสนุนให้มีเดือนหรือสัปดาห์พิเศษเพื่อยกย่องวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นอยู่เสมอ
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตุก็คือการสนับสนุนที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันมีให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นสตรี และการรณรงค์บ่อยๆ ในการผลักดันให้สตรีมีบทบาทในสังคมให้เท่าเทียมกับบุรุษ แล้วช่วงหลังๆ มานี้ กลุ่ม LGBTQ+ ก็ได้รับการยกย่องสนับสนุนให้เปิดตัวใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยกันได้มากขึ้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็มีออกมาโจมตีกันบ้าง เอาเป็นว่าทุกคนมีสิทธิ์ แนวทางที่สังคมไทยๆ อย่างเราไม่ค่อยได้เห็นกันสักเท่าไรในอดีต แต่ทุกวันนี้ก็เริ่มมีขยายวงกันออกไปบ้าง
กลับมาที่กลุ่มสตรี ที่หลังจากที่มีบทบาทกันมากขึ้นในสังคม ธุรกิจและการเมืองในสหรัฐฯ กลุ่มนี้ซึ่งก็น่าจะชอบการจับจ่ายกันอยู่แล้ว เมื่อมีอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องเป็นราวกันมากขึ้น ก็ใช้จ่ายกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เครื่องของใช้แต่งบ้านแต่งเรือนตามเทศกาลนี้ เห็นได้ว่าใช้จ่ายกันแบบเอาจริงเอาจังกันมาก ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเจาะตลาดตามเทศกาลในตลาดนี้ ก็ยังไม่ได้มีกันมากนัก ก็อยากแนะนำให้หันมาสนใจกันมากขึ้น
ในประเด็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อความบันเทิง สหรัฐฯ นี่เขาโดดเด่นกันมานานแล้ว อย่างเช่นภาพการเข้าแถวเพื่อเข้าชมภาพยนตร์เปิดตัววันแรก หรือการแต่งตัวแบบจัดเต็มเข้าธีมของกิจกรรมบันเทิงเหล่านั้น ก็มีอยู่เสมอ การเข้าแถวอัดกันแน่นเพื่อเข้าไปแย่งซื้อสินค้าวัน Black Friday ก็อาจจะจางๆ ตากันไปบ้างหลังการระบาดของโควิด แล้วผผู้คนและผู้ค้าต่างพากันไปให้สิทธิ์พิเศษกันผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์การเชียร์กีฬาต่างๆ มากมาย ในบทความนี้ เน้นถึงปรากฎการณ์ที่สตรี นักช๊อปโดยธรรมชาติ แสดงตัวออกมาอย่างโดดเด่นถึงการใช้จ่ายเพื่อความสวยงามเมื่อจะเข้าร่วมกิจกรรมบันเทิง ก็มาตอกย้ำสัจธรรมของบรรดาสตรี ที่ว่าหยุดอะไรก็ได้ แต่อย่าหยุดสวย แล้วถ้ามีอำนาจการใช้จ่ายสูงขึ้น ก็ต้องยิ่งสวยขึ้นไปอีก ใช้จ่ายกันมากขึ้นไปอีก จึงอยากแนะนำว่าผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์นี้ ให้หันมาสนใจตลาดสหรัฐฯ กันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคสตรีนี่ยิ่งเป็นกลุ่มที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ไม่จำเป็นแล้วที่จะต้องเดินทางมาเปิดตลาดถึงในสหรัฐฯ ด้วยตัวเอง มีช่องทางออนไลน์หลากหลายช่องทางมากๆ ทั้งผ่าน Amazon, Etsy ฯลฯ อีกมากมายหลายช่องทาง เพียงแต่อย่าคิดว่าทำอะไรออกมาก็ได้ เด๋วก็จะมีคนมาซื้อเอง ความจริง ไม่ใช่เช่นนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องหมั่นติดตามสื่อสังคมออนไลน์ เครื่องมือค้นหาบนอินเตอร์เน็ต และแอพลิเคชั่นดังๆ ที่ผู้บริโภคนิยม อาทิ Instagram, TikTok, ฯลฯ แล้วจับทิศทางความต้องการของตลาดเป้าหมายอยู่อย่างสม่ำเสมอ แล้วนำเสนอสินค้าให้ตรงเทรนด์ความต้องการของตลาดเป้าหมาย ตัวอย่างเช่นในแถบ Sunshine State รัฐฟลอริดานี่ ใครหวังจะเอาเสื้อสตรีแบหนาเตอะ ไหล่สูงๆ มาขายก็น่าจะยากมาก เพราะแถบนี้ ผู้บริโภคสตรีชอบแสดงสัดส่วนของตนให้สังคมชื่นชม เสื้อผ้าบางๆ น้อยชิ้น สีสันสดใส เข้ากับอากาศร้อน เปลี่ยนใหม่กันบ่อยๆ เป็นต้น
*********************************************************
ที่มา: The Wall Street Journal เรื่อง: “Women Own This Summer. The Economy Proves It.” โดย: Sarah Krouse & Anne Steele สคต. ไมอามี /วันที่ 10 สิงหาคม 2566