คาดเศรษฐกิจเวียดนามระยะสั้นยังคงขยายตัวในอัตราบวก

ตามรายงานของบริษัท PricewaterhouseCoopers (PwC) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเวียดนามในระยะสั้น ยังคงขยายตัวในอัตราบวกโดยรายงานล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 บริษัท PwC ระบุว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่ยังสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งไว้ได้ในปี 2566 ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามเผชิญกับความท้าทาย และการขาดเสถียรภาพของภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เวียดนามมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียงร้อยละ 3.72 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และเนื่องด้วยนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการเปิดประเทศอีกครั้งของเวียดนาม ทำให้ภาคบริการของประเทศฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเวียดนาม ได้รับผลกระทบจากนโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อของรัฐบาลและเหตุการณ์เชิงลบในตลาดการเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนการล้มละลายของธนาคาร ในขณะที่ ทั้งภาคการเกษตร ป่าไม้ ประมง และภาคบริการมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในเชิงบวก แต่ภาคอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความวุ่นวายทางการเมืองทั่วโลก

เวียดนามเกินดุลการค้า 12.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แต่มูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นของประเทศลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ยกเว้นการส่งออกสินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สินค้าส่วนใหญ่ของเวียดนามมีอัตราการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 10-20 ในช่วงเวลาเดียวกัน การส่งออกของเวียดนามไปตลาดสำคัญชะลอตัวลง เนื่องมาจากการบริโภคที่ลดลงในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (เวียดนามส่งออกลดลงร้อยละ 22) เกาหลีใต้ (ลดลงร้อยละ 10) สหภาพยุโรป (ลดลงร้อยละ 10) และอาเซียน (ลดลงร้อยละ 9)

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นําเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม  และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตลาดที่สำคัญรองลงมาของสินค้าเวียดนาม ได้แก่ จีน และสหภาพยุโรป ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม บริษัท PwC เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะสั้นยังคงเป็นบวก โดยมีการเติบโตของ GDP ในปี 2566 มากกว่าร้อยละ 5 ตามที่ Fitch, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้คาดการณ์ไว้

วิเคราะห์ผลกระทบ

ประเทศเวียดนามมีการเกินดุลการค้ากับตลาดที่พัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป
และญี่ปุ่น ในขณะที่ขาดดุลการค้ากับจีน และอาเซียน การเกินดุลการค้ากับสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มาจากโทรศัพท์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ แต่การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากสินค้าเกษตร จีนยังคงเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม (ร้อยละ 33) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ (ร้อยละ 16) สินค้าส่วนใหญ่ที่เวียดนามนำเข้าจากตลาดทั้งสองนี้คือ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยบริษัทจีนและเกาหลีเข้ามาตั้งฐานการผลิตและลงทุนในเวียดนาม ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนามจะยังไม่ดีขึ้นทั้งหมด แต่จะเห็นว่าในครึ่งหลังของปี 2566 เวียดนามได้มีการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีสัญญาณเชิงบวก

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

จากการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ในช่วงทศวรรษหน้า GDP ของประเทศมูลค่า 327 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 จะเพิ่มมูลค่าเป็น 470 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568 และเพิ่มเป็นมูลค่า 760 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 โดยมูลค่า GDP ต่อหัวของประชากรเวียดนาม เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 3,330 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 เป็น 4,700 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568 และ 7,400เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศขยายตัวอย่างมาก จึงเป็นโอกาสในทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการเจาะ/ขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมายังเวียดนาม

จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

thThai