เมื่อแคนาดาและอีกหลายประเทศต่างประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลให้ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงานการผลิตและการขนส่งสูงขึ้น จนผู้ผลิตสินค้าต่างต้องมองหากลยุทธ์การค้าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในการรักษาต้นทุนและกำไรเอาไว้
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้บริโภคชาวแคนาดาจำนวนมากจึงสามารถรับรู้ได้ถึงเหตุการณ์ซื้อสินค้าชิ้นเดิม ราคาเท่าเดิมแต่รู้สึกว่าได้ของในปริมาณน้อยลงหรือชิ้นเล็กลง หรือปรากฏการณ์นี้ที่เรียกว่า “shrinkflation” โดยกำลังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องด้วยในเชิงการตลาด การจะขึ้นราคาสินค้าอย่างหนึ่งนั้น อาจส่งผลเสียต่อแบรนด์มากกว่าการแอบลดปริมาณเงียบๆ โดยไม่ให้ผู้บริโภครู้ได้
การเลือกใช้เทคนิค Shrinkflation ในภาวะเงินเฟ้อขณะนี้ มีทั้งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จกับกลยุทธ์ดังกล่าว เพราะเมื่อใดก็ตามที่ทางผู้ผลิตได้เริ่มลดปริมาณผลิตภัณฑ์ลง จนผู้บริโภครู้สึกว่ากำลังถูกเอาเปรียบและเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเจ้าของแบรนด์ ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องหาเทคนิคอื่นๆ มาใช้ และอีกหนึ่งเทคนิคที่แบรนด์สินค้านำมาเลือกใช้ คือ “Skimpflation” คือ การปรับสูตรของผลิตภัณฑ์โดยการใช้วัตถุดิบที่มีราคาต่ำกว่าในปริมาณมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ไม่สะดุดตาลูกค้าได้ง่ายๆ หากไม่สังเกตข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคแคนาดาส่วนมากยังไม่คุ้นเคยกับกลยุทธ์ Skimpflation เท่าไรนัก และอาจคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วถือเป็นเทคนิคที่ผู้ผลิตมีใช้มานานแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และดูเหมือนว่าจะกลับมาได้รับความสนใจเป็นพิเศษอีกครั้งในระยะหลังๆ นี้
โดยไม่นานมานี้ สถานีโทรทัศน์ CBC แคนาดา ได้ออกมาเสนอตัวอย่างผู้ผลิตอาหารในประเทศที่นำกลยุทธ์ Skimpflation มาใช้ ตั้งแต่ผู้ผลิตไส้ขนมพายฟักทองสำเร็จรูปชื่อดังแบรนด์ E.D. Smith ที่มีการลดปริมาณการใช้น้ำมันพืชลงและแทนที่ด้วยน้ำ โดยสังเกตได้จากลำดับการเรียงปริมาณวัตถุดิบที่ใช้บนฉลากอาหารที่ต้องเรียงจากมากไปน้อย แล้วพบว่าน้ำมันพืชซึ่งเดิมเป็นส่วนประกอบในลำดับที่ 3 ได้ลดลงไปอยู่ในลำดับที่ 6 และสลับด้วยน้ำขึ้นมาอยู่ในลำดับ 3 แทน
ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ Cheez Whiz ซอสชีสแปรรูปโดยบริษัทคราฟท์ฟู้ดส์ มีการใช้ส่วนผสมที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์จากนมดัดแปลง“Modified Dairy substances” มาแทนชีสที่เคยใช้มา เพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมต้นทุนการผลิตอาหารเช่นกัน นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ข้างต้นแล้ว CBC ยังแจ้งว่า ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในแคนาดาอีกหลายรายการที่มีการปรับสูตรอาหารให้ถูกลง อาทิ กราโนลาบาร์ มันฝรั่งทอดกรอบ ช็อกโกแล็ต พาสตา และขนมปังกรอบ
“Skimpflation” ฟังดูเป็นกลยุทธ์ที่ลดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งในความเป็นจริงก็ถือว่าเป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อสถานการณ์ต้นทุนอาหารได้เปลี่ยนไปอย่างมาก บริษัทผู้ผลิตอาหารจะลดต้นทุนอย่างไรโดยไม่ต้องขึ้นราคา เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถแข่งขันได้อยู่ ซึ่งผู้ผลิตอาหารกล่าวว่า การปรับสูตรอาหารแต่ละครั้งนั้น จะอยู่ในการควบคุมและพัฒนาสูตรอย่างถี่ถ้วนเพื่อยังคงรสชาติอาหารเดิมให้มากที่สุด เพราะเมื่อใดที่แบรนด์ทำการปรับเปลี่ยนแต่ไม่รอบคอบมากพอ จนผู้บริโภครู้สึกว่ากำลังถูกเอาเปรียบ จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงตามมาได้
ในเชิงการตลาด ผู้ผลิตสินค้าอาหารในประเทศจะมีการปรับสูตรอยู่เป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้น ทั้งในด้านของรสชาติ ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณโซเดียมและน้ำตาล หรือเพื่อให้เป็นตามระเบียบด้านอาหารที่รัฐได้กำหนดขึ้นมา เช่น ในปี 2569 รัฐบาลแคนาดากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณไขมัน โซเดียมและน้ำตาลสูงเกินไป ต้องมีการแสดงสัญลักษณ์บ่งบอกบนฉลากของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารบางรายได้เตรียมการปรับสูตรอาหารไปบ้างแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว
แม้ว่า การเปลี่ยนแปลงในเชิงผลิตภัณฑ์ด้วยกลยุทธ์ตลาดแบบ “Skimpflation” หรือ“Shrinkflation” จะมาจากเหตุผลสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคแล้วนั้น ชาวแคนาดายังพบได้อีกว่า ปัจจุบันรูปแบบการบริการในร้านค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตยังลดลงมาก โดยสถาบัน Field Agent Canada จัดทำรายงานผลกระทบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อการให้บริการของธุรกิจในประเทศ ได้ว่า ผู้บริโภคส่วนมาก ร้อยละ 79 พบสินค้าขาดหายบนชั้นวางสินค้า รองลงมาร้อยละ 55 พบว่า จำนวนคิวรอชำระเงินนานกว่าทั่วไป ร้อยละ 48 พบว่า ร้านค้ามีจำนวนพนักงานชำระเงินไม่เพียงพอ ร้อยละ 47 ไม่สามารถเรียกหาพนักงานภายในร้านค้าได้ และร้อยละ 39 กล่าวถึงจำนวนช่องชำระเงินเปิดบริการไม่เพียงพอกับลูกค้า
กระนั้นแล้ว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกยุคนี้มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์และการให้บริการ จึงเป็นสิ่งลูกค้าจะต้องคอยสังเกตและตระหนักถึงราคาต่อหน่วยหรือส่วนผสมมากกว่าสนใจด้านราคาเพียงอย่างเดียว เพื่อจะได้จับจ่ายซื้อสินค้าที่ตรงกับความต้องการตนเองมากที่สุด
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ เมื่อสภาพเศรษฐกิจมีความท้าทายขึ้น ผนวกกับค่าครองชีพพุ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้นและปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายออกไป แม้ว่าเทคนิค Skimpflation” หรือ“Shrinkflation จะไม่ได้เป็นกลยุทธ์ที่ผิดกฎหมาย และดูจะเป็นวิธีที่ดีในการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ผลิตสินค้า แต่การนำมาใช้ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและจริงใจต่อลูกค้ามากที่สุด เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของ แบรนด์และความรู้สึกของลูกค้าด้วยเช่นกัน ในการนี้ หากผู้ผลิตสินค้าไทยรายใดเล็งที่จะใช้วิธีการลดต้นทุนสำหรับสินค้านั้น ควรพิจารณาวิธีการปรับเปลี่ยนอย่างแนบเนียนและรอบคอบ พร้อมหาเทคนิคลูกเล่นด้านบรรจุภัณฑ์เข้ามาสร้างจุดเด่นให้กับสินค้านั้นแทนการลดปริมาณเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแอบแฝงของการขึ้นราคาสินค้ามากเกินไป จนส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านลบต่อแบรนด์ตนเองและภาพรวมการค้าของไทย
ที่มา: https://tfocanada.ca/unveiling-skimpflation-the-latest-consumer-squeeze/
โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์