สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Centraal Bureau voor de Statistiek : CBS) รายงานว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการเนเธอร์แลนด์เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อนหน้า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.7 นอกจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CBS ได้คำนวณอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายเดือนโดยไม่รวมราคาพลังงาน (ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า และค่าทำความร้อน) และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ลดลงจากร้อยละ 7.2 ในเดือนมิถุนายน
ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง ได้แก่ ราคาพลังงาน (ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ และค่าทำความร้อน) เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม และในเดือนกรกฎาคมราคาพลังงานปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ถูกกว่าเดือนกรกฎาคมปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 34.5 ในขณะที่ราคาพลังงานเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 19.1
ราคาสินค้าเสื้อผ้าในเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อนหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เทียบกับปีก่อนหน้า ราคาสินค้าอาหารในเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อนหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่าราคาสินค้าเสื้อผ้าและอาหารจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ราคาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.1 ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ราคาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง ทั้งนี้ การปรับตัวของราคาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์จะไม่เท่ากันทั้งหมดสำหรับผู้เช่าแต่ละราย โดยการปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าสูงสุดที่ได้รับอนุญาตให้ทำได้จะขึ้นอยู่กับประเภทของการเช่าและระดับรายได้ของผู้เช่า สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะมีสิทธิได้รับส่วนลดค่าเช่าในปี 2566 ภายใต้เงื่อนไขบางประการที่กำหนดไว้
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขาขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2566 จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ร้อยละ 11.1 แต่ก็ถือว่าปรับตัวลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน 2565 ที่ร้อยละ 23.2 การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และ LPG ในเดือนกรกฎาคม 2566 นั้นเป็นไปตามการลดอัตราภาษีสรรพสามิตเมื่อเมษายน 2565 นอกจากนี้ ราคาบ้านพักตากอากาศยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบขาขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุด
CBS ได้เผยแพร่ดัชนีผู้บริโภคที่ใช้วิธีการคำนวณแบบ European Harmonised Method หรือ European HICP (Harmonised Indices of Consumer Prices) HICP โดยดัชนี European HICP ของเนเธอร์แลนด์เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 5.3 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อนหน้า และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ดัชนี HICP อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนปรับตัวลดลงจากร้อยละ 5.5 ในเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในเดือนกรกฎาคม
การรายงานตัวเลขดัชนีผู้บริโภคที่ใ่ช้วิธีการคํานวณแบบ HICP เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ รวมถึงให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) สามารถนำดัชนีผู้บริโภคที่ใ่ช้วิธีการคํานวณแบบ HICPไปใช้เพื่อกำหนดนโยบายทางการเงินในเขตสหภาพยุโรปได้ โดยข้อแตกต่างระหว่าง Dutch CPI และ HICP คือ ราคาที่อยู่อาศัย โดย Dutch CPI จะรวมราคาในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในการคํานวณด้วย
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์จะมีทิศทางที่ปรับตัวลดลงอีกครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ทำให้ผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้อน้อยลงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ -39 และเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 0.3 และความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Rabobank คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ทั้งปี 2566 จะยังไม่ลดลงมาถึงระดับเป้าหมาย แต่จะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และจะค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.6 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ECB ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 สู่อัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 22 ปี และ ECB ยังเปิดช่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป ดังนั้น เราคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาสู่ระดับเป้าหมายได้หรือไม่ และเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวและพ้นจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและถดถอยในอนาคตได้หรือไม่
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก