ตลาดโปรตีนทางเลือกจากขนุนยังมีแนวโน้มสดใส - สคต. ชิคาโก

“เนื้อขนุนมักจะได้รับความนิยมนำไปใช้ดัดแปลงเพื่อปรุงอาหารแทนเนื้อสัตว์ เช่น เบอร์เกอร์ และสตูว์ เนื่องจากเมื่อปรุงสุกจะมีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์”

 

ขนุนเป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีสรรพคุณและประโยชน์มากมายเพาะปลูกมากในประเทศแถบทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เมียนมาร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยเนื่องจากมีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้นเหมาะสมในการเพาะปลูก โดยปัจจุบันขนุนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผลไม้มาแรงและมีแนวโน้มได้รับความนิยมและการยอมรับมากขึ้นในตลาดโลกโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ในประเทศกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งให้ความสำคัญและนิยมเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ ความนิยมในการบริโภคขนุนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มที่รับประทานอาหารเจ (Vegetarian) และอาหารมังสวิรัติ (Vegan) ด้วยเนื่องจากขนุนเป็นผลไม้ที่ให้สารโปรตีนและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย อีกทั้ง ยังมีลักษณะและรสชาติคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์สามารถนำไปปรุงอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ได้หลากหลายชนิด เช่น ทาโก (Taco) เบอร์เกอร์หมูฉีก (Pulled Pork Burger)  เบอร์ริโต (Burritos) นักเก็ต ไส้กรอก แกงเผ็ด และสตูว์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานบริษัท Expert Market Research ผู้วิจัยตลาดซึ่งได้ศึกษาแนวโน้มตลาดสินค้าอาหารจากขนุนพบว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารจากขนุนทั่วโลกมีมูลค่าทั้งสิ้น 311.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 380.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.09 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

 

นอกจากนี้ บริษัท Allied Market Research ผู้วิจัยตลาดยังได้รายงานแนวโน้มทิศทางของตลาดสินค้าอาหารจากขนุนไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังมีโอกาสในการขยายตัวอีกมากและจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ตลาดสินค้าอาหารโปรตีนจากพืชทั่วโลกขยายตัวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.30 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2574 อีกด้วย

 

ในส่วนของตลาดในสหรัฐฯ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพหันไปทำตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพจากขนุนเพิ่มมากขึ้นตามกระแสการใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น

 

  • บริษัท The Jackfruit Company สำนักงาน ตั้งอยู่ที่เมือง Boulder รัฐโคโลราโด ก่อตั้งโดย Annie Ryu ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard นับเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ในตลาดที่มองเห็นศักยภาพและโอกาสทางการตลาดในการนำขนุนมาใช้ปรุงอาหารทดแทนเนื้อสัตว์เพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกสำหรับผู้บริโภคกลุ่มที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ อีกทั้ง อุตสาหกรรมการเพาะปลูกขนุนเองยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความยั่งยืนทางธรรมชาติซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ในตลาดปัจจุบันให้ความสำคัญ

โดยบริษัทฯ นำเข้าวัตถุดิบเนื้อขนุนจากอินเดียเป็นหลักเนื่องจากเป็นมีกำลังการผลิตสูงเพียงพอกับความต้องการและยังเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรที่มีฐานะค่อนข้างยากจนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ขณะนี้บริษัททำสัญญาซื้อขายกับเกษตรกรอินเดียทั้งสิ้น 1,783 ราย รวมต้นขนุนในสัญญาทั้งสิ้น 516,677 ต้น ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ทั้งสิ้นประมาณ 28,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่า กลุ่มเกษตรกรในสัญญาจะสามารถเพิ่มปริมาณการเพาะปลูกต้นขนุนได้อีก ราว 61,000 ต้นภายในปีหน้า

 

  • บริษัท Jack & Annie’s ซึ่งเป็นบริษัทภายในเครือบริษัท The Jackfruit Company ผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานจากโปรตีนทางเลือกเพื่อทำตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันที่สนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารรับประทานง่ายสะดวกสบายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ปีกไก่ทอดวีแกน มีทบอลจากพืช หมูฉีกจากขนุน (Pulled Pork) และไก่ทอดโปรตีนจากพืช เป็นต้น โดยบริษัทฯ เป็นที่รู้จักในตลาดอย่างกว้างขวางจากการร่วมทำตลาดกับ Smashburger ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารเร่งด่วนชื่อดังในการจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์โปรตีนจากพืชซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและรสชาติจากผู้บริโภค

 

  • บริษัท Jack & Friends ก่อตั้งโดย Ms. Jessica Kwong ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) จากมหาวิทยาลัย Cornell โดยได้นำเนื้อขนุนมาคิดค้นพัฒนาผสมกับโปรตีนจากถั่ว (Pea Protein) จนเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อโปรตีนจากพืชแห้ง (Plant Based Jerky) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับรับประทานเป็นของว่างภายใต้แบรนด์ “Jack & Tom” เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Millennial และกลุ่มที่รับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) โดยขณะนี้มีจำหน่ายในตลาดทั้งสิ้น 3 รสชาติ ได้แก่ “Jack & Tom” รสมะเขือเทศและพริก Polbano “Jack & Barb” รสบาร์บีคิว และ “Jack & Teri” รสเทอริยากิ

 

นอกจากนี้ การเพาะปลูกขนุนยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชที่นิยมนำมาปรุงเป็นสินค้าอาหารโปรตีนจากพืชชนิดอื่นเนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ สารฆ่าแมลง หรือปุ๋ยในปริมาณมาก อีกทั้ง การเพาะปลูกขนุนยังมีส่วนที่จะสามารถช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในบริเวณที่เพาะปลูกได้ด้วย

 

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดให้ความสำคัญในการเลือกบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น โดยมักจะเลือกซื้อสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและสนับสนุนความยั่งยืนทางธรรมชาติซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่มสินค้าจากธรรมชาติ สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าให้อรรถประโยชน์ (Functional) และสินค้าโปรตีนจากพืชทำให้ตลาดมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาหารโปรตีนจากพืชซึ่งเป็นกระแสและได้รับความนิยมมูลค่าตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านประโยชน์ต่อสุขภาพและยังให้ความสำคัญและพิจารณาไปถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธรรมชาติในอนาคตด้วย โดยเป็นที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ (Climate Change)

 

ทั้งนี้ สมาคมอาหารโปรตีนจากพืชสหรัฐฯ (Plant Based Foods Association) รายงานข้อมูลตลาดอาหารจากพืชสหรัฐฯ (U.S. Plant – Based Food Market) พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดสินค้าอาหารจากพืชสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 เป็น 8.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี หรือกว่าสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์สหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.15 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้านมจากพืช อาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทานจากพืช ขนมขบเคี้ยวจากพืช และโปรตีนเสริมจากพืช เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันที่สนใจบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชเองก็เริ่มที่มีความกังวลกับผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชที่วางจำหน่ายในตลาดปัจจุบันเนื่องจากสินค้าเหล่านั้นมักจะเพิ่มสารแต่งสีกลิ่นรสเพื่อให้สินค้ามีลักษณะและรสสัมผัสคล้ายกับเนื้อสัตว์มากที่สุด ซึ่งการบริโภคในปริมาณมากอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคในระยะยาวได้ ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนจึงเริ่มหันกลับไปเลือกบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ถั่ว สาหร่าย เห็ด และขนุน มากขึ้น

 

โดยแนวโน้มการขยายตัวของตลาดอาหารจากพืชรวมถึงอาหารแปรรูปจากเนื้อขนุนในตลาดเป็นโอกาสในการขยายตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งประเทศไทยเองมีความได้เปรียบในการเข้าถึงวัตถุดิบสำหรับสนับสนุนการผลิตค่อนข้างง่าย โดยเฉพาะขนุนเนื่องจากเป็นพืชทนแล้งสามารถเพาะปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ จึงทำให้มีปริมาณผลผลิตเพียงพอความต้องการของอุตสาหกรรม

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ ขณะนี้ส่วนใหญ่พบว่าสินค้าเนื้อขนุนอ่อนบรรจุในน้ำเกลือบรรจุกระป๋องของไทยวางจำหน่ายในตลาดอย่างแพร่หลาย ส่วนสินค้าอาหารแปรรูปจากเนื้อขนุนจากไทยยังมีไม่มากนัก การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าเพิ่มมูลค่า (Value Added) จากขนุนเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปสำหรับเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชน่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแปรรูปสินค้าเป็นเมนูอาหารไทยที่น่าสนใจและเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดอยู่แล้ว เช่น สะเต๊ะเนื้อขนุน ขนุนแดดเดียว และแกงจากเนื้อขนุน เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยให้ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคในตลาดได้

 

นอกจากนี้ ในระยะยาวคาดว่า ความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพทั้งในสหรัฐฯ และในตลาดโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น การเตรียมพร้อมอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทั้งระบบ (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) โดยเฉพาะการสนับสนุนการผลิตวัตถุดิบด้านอาหาร (Food Resources) จะช่วยให้ไทยสามารถก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดอาหารโลกในยุคที่หลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

ตลาดโปรตีนทางเลือกจากขนุนยังมีแนวโน้มสดใส - สคต. ชิคาโก

“สินค้าอาหารแปรรูปจากขนุนที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ”

ที่มา: VegNews

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

thThai