พฤติกรรมการรับประทานข้าวของชาวจีนในปัจจุบันพบว่า ชาวจีนทางภาคใต้นิยมรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ซึ่งต่างจากชาวจีนทางภาคเหนือที่นิยมรับประทานอาหารจำพวกแป้งมากกว่า แต่เมื่อพิจารณาจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาความเป็นเมืองของจีนพบว่า ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าจะมีชาวชนบทกว่า 200 ล้านคนที่จะเปลี่ยนมาเป็นชาวเมือง ทำให้ความต้องการข้าวในเขตเมืองของจีนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ และโครงสร้างการบริโภคในเมืองจะเปลี่ยนไปและจะมีการบริโภคอาหารประเภทข้าวทางอ้อมมากขึ้น

เมื่อพิจารณาด้านการผลิตจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน พบว่าในปี ค.ศ. 2019 จีนมีปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเกือบ 210 ล้านตัน ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่การบริโภคข้าวของชาวจีนในปี ค.ศ. 2023 นี้มีการคาดการณ์ว่าจะมากถึง 190 ล้านตัน

สำหรับด้านการผลิตพบว่าในปี ค.ศ. 2020 จีนมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวต้นฤดูจำนวน 71.26 ล้านหมู่ (29.69 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2019 จำนวน 4.51 ล้านหมู่ (1.88 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 โดยมีปริมาณผลผลิตต่อหน่วย 383 กิโลกรัมต่อหมู่ ลดลงร้อยละ 2.7 (YoY) หรือลดลง 10.5 กิโลกรัมต่อหมู่ และมีปริมาณผลผลิตข้าวต้นฤดูจำนวน 27.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 (YoY) หรือเพิ่มขึ้น 1.03 ล้านตัน ขณะที่ในปี ค.ศ. 2021 พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวเปลือกของจีนลดลงร้อยละ 0.51 (YoY) แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลทำให้ผลผลิตต่อหน่วยสูงกว่าปี ค.ศ. 2020 ประมาณร้อยละ 0.98 จึงทำให้มีปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกสูงเป็นประวัติการณ์ หรือคิดเป็นปริมาณ 212.8 ล้านตัน และด้วยสภาพภูมิอากาศที่ดีในปีดังกล่าวจึงส่งให้การเก็บเกี่ยวข้าวของจีนได้ผลผลิตสูง และข้าวมีคุณภาพที่ดีสอดคล้องกับมาตรฐานการรับซื้อข้าวเปลือก ส่งผลให้ตลาดมีอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

รายงานการศึกษาเชิงลึกและกลยุทธ์การพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมข้าวของจีนปี ค.ศ. 2023 – 2028 เปิดเผยว่ารัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างการเพาะปลูกในบางพื้นที่มีพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพต่ำได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 2022 อุปสงค์และอุปทานของตลาดข้าวเปลือกในจีนเริ่มผ่อนคลาย คลังสินค้ามีจำนวนเพียงพอ และการบริโภคมีความมั่นคง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากพื้นฐานของอุปสงค์และอุปทานแล้วจะทำให้ราคามีแนวโน้มที่จะผันผวนเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ในอีก 10 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ว่าความสามารถในการผลิตอาหารของจีนจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้ผลผลิตต่อหน่วยจะขยับตัวสูงขึ้น และปริมาณผลผลิตอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันชาวจีนกว่าร้อยละ 60 รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ทำให้จีนมีโอกาสอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสภาธัญพืชนานาชาติ (International Grain Council: IGC)  ที่เปิดเผยว่า ปริมาณผลผลิตข้าวสารของจีนในปี 2020/2021 มีปริมาณ 147 ล้านตัน สูงกว่าผลผลิตปี 2019/2020 เพียงเล็กน้อย (146.7 ล้านตัน) และสืบเนื่องจากจำนวนประชากรจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ข้าวสารเป็นสินค้าจำเป็น และผลผลิตข้าวสารในอนาคตของจีนจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างมั่นคง และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2025 ปริมาณการผลิตข้าวสารของจีนจะมีปริมาณทะลุ 150 ล้านตัน

เนื่องจากจีนมีกำลังในการบริโภคขนาดใหญ่ ทำให้จีนดึงดูดแบรนด์ข้าวสารต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันของตลาดข้าวในจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดยุคแห่งการบริโภคแบรนด์และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมข้าวไฮเอนด์ ในขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนก็อยู่ในช่วงที่กำลังผลัดเปลี่ยนจากยุคของการบริโภคสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นยุคแห่งการบริโภคสินค้าที่มีแบรนด์มากขึ้นเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้นปัจจุบันยังพบว่ามีข่าวด้านลบเกี่ยวกับข้าวออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาให้ความสำคัญต่อคุณภาพและความปลอดภัยของข้าวมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดข้าวในจีนได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพและมีความโดดเด่นมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากก็หันมาเลือกบริโภคข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการมีคุณภาพดี และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงทำให้ความต้องการข้าวคุณภาพสูงหรือข้าวระดับไฮเอนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามไปด้วย

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) เปิดเผยว่าในเดือนกรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 (MoM) ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่สูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก ในขณะที่เมื่อพิจารณาแต่ละประเทศพบว่า จีนเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก มีปริมาณการผลิตคิดเป็นร้อยละ 28 ของผลิตข้าวทั่วโลก มีผลผลิตทั้งปีสูงกว่าความต้องการ มีปริมาณผลผลิตสำรองที่เพียงพอ และมีอัตราการพึ่งพาตนเองเกินร้อยละ 100 ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจภายนอกประเทศอย่างการที่อินเดียห้ามส่งออกข้าว และราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดจีนมากนัก โดยตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นมาพบว่า ราคาข้าวทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากอุปทานข้าวของจีนสูงกว่าอุปสงค์ ขณะที่ปริมาณผลผลิตสำรองในประเทศจีนมีจำนวนเพียงพอ ทำให้ความผันผวนของตลาดข้าวระหว่างประเทศไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวของจีนเท่าที่ควร

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

จีนเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ในขณะที่หลายปีที่ผ่านมานี้จีนได้ดำเนินการเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับจีนให้ความสำคัญต่อมาตรการรักษาความมั่นคงด้านอาหารอย่างมาก ทำให้การเจาะตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวในตลาดจีนเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาข้อมูลประกอบอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านสินค้าเกษตร นโยบายด้านมั่นคงด้านอาหาร และนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าของจีน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ส่งออกไทยที่อาศัยตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างการบริโภคที่ถูกยกระดับ และรายได้ที่สูงขึ้นของผู้บริโภคจีนจึงทำให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคจีนมีความพิถีพิถันมากขึ้น และให้ความสำคัญต่อการกินที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดข้าวไฮเอนด์จึงยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการข้าวไทยที่จะเข้ามาขยายตลาดจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องรักษาคุณภาพของข้าวให้ได้มาตรฐานทั้งของจีนและระดับสากล รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการส่งออกข้าวไทยในรูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีน เช่น ข้าวหอมมะลิพร้อมรับประทาน ข้าวหอมมะลิหรือข้าวสีประเภทอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปต่างๆ ที่เหมาะสำหรับรับประทานเป็นอาหารหลัก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องลงทุนในการสร้างการรับรู้แบรนด์ข้าวไทย และประชาสัมพันธ์แบรนด์ข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือมากขึ้น และที่สำคัญต้องใช้กลยุทธ์ด้านที่เหมาะสม จึงจะทำให้มีโอกาสในการขยายตลาดข้าวไทยเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา: https://www.chinairn.com/news/20230821/1332300.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

thThai