รัฐบาลแคนาดาเรียกร้องห้างค้าปลีกรายใหญ่หาวิธีลดขยะพลาสติก

แม้แคนาดาจะมีนโยบายสั่งห้ามแจกถุงพลาสติก รวมถึงการห้ามจำหน่ายและแจกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastic) มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ผลสำรวจพบว่าปริมาณขยะพลาสติกในประเทศยังสูงอยู่ จนล่าสุดทางรัฐบาลได้เรียกร้องให้ห้างค้าปลีกรายใหญ่ระดับประเทศ ต้องมีการจัดทำแผนดำเนินการที่เรียกว่า “P2 notice” เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดขยะพลาสติกโดยเร็ว

 

นาย Steven Guilbeault รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแคนาดา กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐกำลังหารือกับตัวแทนอุตสาหกรรมค้าปลีก เพื่อขอให้ผู้เล่นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในประเทศ ได้แก่ Loblaws, Walmart และ Costco ศึกษาวิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดจำนวนขยะพลาสติก โดยมองว่า ผู้ค้าปลีกรายใหญ่จำเป็นต้องมีบทบาทในการกำจัดขยะพลาสติกมากขึ้น และร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาขยะที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกวัน

 

จากข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อม เผยว่า ชาวแคนาดาทิ้งขยะพลาสติกคิดเป็นปริมาณปีละ 4.4 ล้านตัน แต่มีการนำมารีไซเคิลเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น นอกจากนั้น ยังพบว่าขยะพลาสติกที่มาจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

 

ในการนี้ ทางรัฐบาลจึงเล็งให้ห้างค้าปลีกควรเลิกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ให้มากที่สุด อาทิ ขวดเครื่องปรุง อาหารเด็กทารกบรรจุซอง ถุงใส่ขนมขบเคี้ยว กล่องพลาสติกแบบแคลมเชลล์ ถุงใส่นม ฟิล์มพลาสติกห่อผักสดหรือเนื้อสัตว์ เป็นต้น โดยขณะนี้ยังคงอนุญาตผู้ประกอบการใช้งานได้อยู่ แต่จะพยายามผลักดัน ลดการใช้พลาสติกลงไปเรื่อยๆ จนมีผลบังคับในที่สุด เช่น ผักและผลไม้สดอย่างน้อยร้อยละ 75 ต้องปราศจากถุง/ห่อพลาสติกภายในปี 2026  และต่อมาในปี 2030 ห้างค้าปลีกจะต้องวางแผนการจำหน่ายสินค้าอาหารกลุ่มไม่เน่าเสียง่าย (non-perishable) เช่น ข้าวสาร ถั่ว โดยปราศจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากกว่าร้อยละ 50

รัฐบาลแคนาดาเรียกร้องห้างค้าปลีกรายใหญ่หาวิธีลดขยะพลาสติก
ตัวอย่าง บรรจุภัณฑ์กล่องพลาสติกแบบแคลมเชลล์

รัฐบาลแคนาดาเรียกร้องห้างค้าปลีกรายใหญ่หาวิธีลดขยะพลาสติก

 

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารและโกรเซอรี่แคนาดาและทั่วโลกมีการใช้พลาสติกอย่างแพร่หลาย เพราะด้วยข้อดีของพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา ต้นทุนถูก ช่วยยืดอายุเวลาของอาหาร และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย แต่ในเมื่อเทรนด์หรือแนวโน้มด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้องมากขึ้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือในการส่งเสริมการกำจัดขยะพลาสติกจากทุกภาคส่วน

ตัวอย่าง ถุงข้าวที่บรรจุถุงพลาสติก

ด้านนาย Michelle Wasylyshen โฆษกสมาคมผู้ประกอบการค้าปลีกแคนาดา กล่าวถึงนโยบายการกำจัดขยะพลาสติกที่รัฐบาลเพิ่งเสนอมาว่า จะมุ่งเป้าไปผู้เล่นค้าปลีกขนาดใหญ่ก่อนรายย่อยอื่นๆ ซึ่งอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะความเป็นจริงขนาดตลาดค้าปลีกแคนาดายังไม่มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าหรือซัพพลายเชนจากทั่วโลก ดังนั้นแล้ว มาตรการลดขยะพลาสติกข้างต้น อาจนำมาถึงราคาอาหารที่สูงขึ้น และขยะอาหารที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาความเป็นไปได้อีกครั้งก่อนมีการบังคับใช้เป็นกฎหมาย

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีผู้ประกอบการร้านโกรเซอรี่ในแคนาดาจำนวนหนึ่งที่หันมาจับธุรกิจร้านค้าปลีกที่ปราศจากการใช้พลาสติกหรือใช้น้อยที่สุด หนึ่งในนั้น คือ NU Grocery ในเมืองออตตาวา โดยผู้ซื้อสามารถนำภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว นำมาเติมสินค้าที่อยู่ภายในร้านได้เอง ทำให้ผู้ใช้สามารถลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทางร้านยังใช้ถุงกระดาษหรือขวดโหลแทนถุงพลาสติก หากลูกค้าไม่ได้นำบรรจุภัณฑ์มาเอง

 

คุณ Velerie Leloup ผู้ก่อตั้งร้าน NU Grocery กล่าวว่า สินค้าจำหน่ายในร้าน NU Grocery จะมีราคาแพงกว่าห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งลูกค้าจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ทางร้านเองก็จะตั้งราคาที่สามารถแข่งขันได้กับโมเดลคล้ายกันหรือร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิค อย่างไรก็ดี ทางร้านยังเสนอแนวทางให้รัฐบาลเรียกเก็บค่าขยะพลาสติกและภาษีคาร์บอนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่อาจกดดันให้ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้เข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลงก็เป็นได้

รัฐบาลแคนาดาเรียกร้องห้างค้าปลีกรายใหญ่หาวิธีลดขยะพลาสติก

 

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ ปัญหาเรื่องพลาสติกควรเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันแก้ไข ไม่ใช่ผลักความรับผิดชอบไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยผู้บริโภคเองก็ควรใช้สินค้าและบริการอย่างระมัดระวัง และทางผู้ผลิต / ร้านค้าเองก็ควรเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น ในการนี้ เทรนด์การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรมองถึงโอกาสตรงจุดนี้ และนำรูปแบบการใช้บรรจุภัณฑ์หรืออื่นๆ มาปรับใช้ เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น รวมถึงผู้ส่งออกที่จะทำการตลาดในแคนาดา ควรให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG Model ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการในตลาดแคนาดาเพิ่มขึ้นได้ต่อไป

 


ที่มา:  https://www.cbc.ca/news/politics/supermarkets-plastic-waste-1.6947490

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

thThai