Australian Bureau of Agricultural and Resource Economics and Sciences (ABARES) ระบุว่า ปรากฎการณ์ลาณีญา (La Nina) ที่ทำให้ออสเตรเลียมีสภาพภูมิอากาศ/ปริมาณน้ำฝนที่เอื้อต่อการเพาะปลูกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตภาคการเกษตรออสเตรเลียช่วงฤดูหนาวปี 2566 เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 90,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย โดยผลผลิตธัญพืชในรัฐ Western Australia (WA) (แหล่งผลิตข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ทำสถิติสูงถึง 25.6 ล้านตันและผลผลิตธัญพืชในรัฐ South Australia (SA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 อยู่ที่ 12.6 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตในรัฐ New South Wales (NSW) รัฐ Victoria (VIC) และรัฐ Queensland (QLD) จะหดตัวลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยรัฐ New South Wales มีพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเพียงอย่างเดียวสูงถึงร้อยละ 8.1 และรัฐ Victoria ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมร้อยละ 2.9

ในช่วงปี 2566 ออสเตรเลียเริ่มเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) แต่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเนื่องจากสภาพอากาศเปียกชื้นจากปรากฎการณ์ลาณีญาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น ในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน และเกษตรกรจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งเร็วกว่าปกติและยาวนานขึ้น คาดว่า ในปี 2567 ผลผลิตการเกษตรออสเตรเลียจะลดลงร้อยละ 10 มีมูลค่า 81,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

ในขณะที่ Australasian Fire Authorities Council (AFAC) เตือนภัยประชาชนในเขตพื้นที่รัฐ QLD รัฐ NSW รัฐ VIC รัฐ SA และเขตปกครองตอนเหนือ Northern Territory (NT) ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงให้เตรียมรับมือกับปัญหาไฟป่าในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงและสภาพอากาศแห้งแล้งจากอุณภูมิที่สูงขึ้น

นาย Jim Chalmers (Treasurer) ระบุว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียจะมีมูลค่าสูงถึง 135,000 – 423,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียในปี 2606 เนื่องจากอุณภูมิที่สูงขึ้นจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยว ผลผลิตการเกษตรและภาวะหนี้สินของเกษตรกรที่จะสูงถึง 3 เท่า ในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น (เช่น ฝนแล้ง คลื่นความร้อนและไฟป่าที่จะเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้นในบริเวณพื้นที่เพาะปลูก) งบประมาณประจำปี 2566-2567 จึงเป็นงบประมาณแบบขาดดุล เน้นการจัดสรรงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายที่สำคัญ ได้แก่ เงินทุนช่วยเหลือด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากร (ร่างกายและจิตใจ) เงินช่วยเหลือสวัสดิภาพผู้สูงอายุ เงินช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพ เงินทุนเพื่อการป้องกันประเทศและเงินชำระดอกเบี้ยหนี้ภาครัฐ เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิฐคาร์บอนต่ำในตลาดโลกจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกสินแร่ออสเตรเลีย เช่น แร่ Lithium, Cobalt, Manganese โดยเฉพะแร่ Lithium ซึ่งเป็นแร่สำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้ร่วมมือกับเกษตรกร องค์กร/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยจัดสรรเงินกองทุนระยะยาว Future Drought Fund (FDF) มูลค่า 5,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (เริ่มปี 2563) เพื่อสร้างศักยภาพในการฟื้นฟูภัยแล้งให้กับภาคเกษตรกรรม ภูมิประเทศและชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นการดำเนินงาน 4 ด้านหลักๆ ดังนี้ 1) Better Climate information 2) Better Planning 3) Better Practices 4) Better prepared communities เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เกษตรกรเกี่ยวกับสภาพอากาศ ประเมินความเสี่ยงและกำหนดแผนรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้ง ประเมินความเสี่ยงและวางแผนรับมือล่วงหน้า การบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อสร้างผลกำไรท่ามกลางภาวะภัยแล้ง คาดว่า จะมีผลตอบแทนจากกองทุนเฉลี่ย 100 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปีเพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนาต่อยอดในระยะยาวต่อไป

……………………………………………………………………….

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: www.agriculture.gov.au

thThai