เนื้อหาสาระข่าว: อุตสาหกรรมอาหารทะเลของรัฐหลุยเซียนาที่มีมูลค่ารวมหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดมานานหลายปีแล้วเพราะมีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่ากำลังจะเข้ามาช่วงชิงตลาดไป Eliska Branch ได้ริเริ่มการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ปกป้องอุตสาหกรรมอาหารทะเลในรัฐเพื่อไม่ให้ชาวประมงพากันสละเรือเลิกอาชีพนี้กันไปจนหมด โดยได้พยายามรณรงค์ผ่าน Change.org และส่งอีเมล์ไปทุกที่ที่สามารถส่งไปได้ รวมถึงอีเมล์ของผู้ว่าการรัฐฯ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงผู้จับกุ้งที่ได้รับผลกระทบเองโดยตรงอย่างหนักมานานให้ความร่วมมือเป็นพิเศษ ถึงกับให้สมาคมการประมงกุ้งแห่งหลุยเซียนาเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งรัฐหลุยเซียนาประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินจากพิบัติภัยทางธรรมชาติ ขณะนี้ มีผู้ร่วมลงนามแล้วกว่าสามพันราย โดยมีเป้าเอาไว้ที่ห้าพันรายแล้ว
บทวิเคราะห์: จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยหน่วยงานประมง (NOAA Fisheries) ของ National Oceanic and Atmospheric Administration ในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กว่าร้อยละ 80 ของผลผลิตอาหารทะเลจากแหล่งเพราะเลี้ยงเป็นสัตว์ตระกูลหอยและปลาหมึกที่เปลือกมี 2 ฝา (Bivalve Mollusks) ส่วนที่เหลือ จะเป็นปลาแซลมอนและกุ้ง ปริมาณของอาหารทะเลจากฟาร์มเพาะเลี้ยงวัดจากน้ำหนักมีสัดส่วนร้อยละ 7 ของปริมาณการผลิตอาหารทะเลภายในประเทศทั้งหมด แต่หากเทียบเป็นมูลค่าแล้ว อาหารทะเลจากแหล่งเพาะเลี้ยงในสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งในตลาดถึงร้อยละ 24
อ้างอิงจากข้อมูลของโครงการ Sustainable Fisheries ของ University of Washington (ภายใต้การกำกับดูแลของคณะ Aquatic and Fishery Sciences ที่ระดมทุนมาจ้างนักศึกษาและนักวิจัยเพื่อสร้าง รักษาและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการประมงโดยเฉพาะ) อาหารทะเลที่มีการบริโภคในสหรัฐฯ นั้นมีประมาณร้อยละ 35-38 ที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งหมายถึงว่า มีปริมาณอาหารทะเลที่นำเข้ามาถึงร้อยละ 62-65 ซึ่งเอกสารทางวิชาการและแหล่งข้อมูลในวงการที่สำคัญๆ ต่างก็เคยอ้างว่ามีถึงร้อยละ 90 ที่เป็นสินค้านำเข้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาหารทะเลทั้งที่เพาะพันธุ์เลี้ยงในระบบฟาร์มและที่จับมาจากในน่านน้ำของสหรัฐฯ นั้น มักจะถูกส่งไป แปรรูปในประเทศรอบข้างหรือประเทศอื่นเช่นในเอเชียแล้วส่งกลับเข้ามายังสหรัฐฯ เพื่อบริโภค จึงมีสินค้าจากท้องถิ่นสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งที่ถูกระบุว่าเป็นสินค้านำเข้าด้วยเหตุดังกล่าว อาทิ ปลาแซลมอน ซึ่งมีแหล่งเฉพาะอยู่ใน อลาสกา ของสหรัฐฯ แต่มีการส่งไปแปรรูปในจีน แล้วส่งกลับมาจำหน่ายในสหรัฐฯ กลายเป็นสินค้านำเข้าจากจีนไปโดยปริยาย
สหรัฐฯมีทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าอาหารทะเล จาก ”รายงานการประมงแห่งสหรัฐฯ” โดย NOAA Fisheries แสดงข้อมูลให้เห็นได้ว่ายอดส่งออกนั้นเกือบจะคงที่ตลอดมาและมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการนำเข้าอาหารทะเลนั้นมีการนำเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น และยอดการขาดดุลก็ขยายตัวสูงขึ้นทุกปีด้วยเช่นกัน
เมื่อพิจารณาถึงปริมาณอาหารทะเลที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าแทบทั้งสิ้น ในขณะที่ปริมาณอาหารทะเลที่ผลิตได้นั้น ก็น่าจะมีตลาดที่รองรับการส่งออกไปเป็นประจำแล้วเช่นกัน อาทิ กุ้งก้ามกรามจากรัฐเมน หรือปลาแซลมอนจากอลาสกามีตลาดส่งออกที่ชัดเจนไปยังประเทศจีน เป็นต้น ซึ่งยอดที่ขึ้นฝั่งเพื่อจำหน่ายในประเทศก็มีแนวโน้มหดตัวลง ในขณะที่ตัวเลขส่งออกก็หดตัวลงด้วยเช่นกัน เห็นได้ว่า อาหารทะเลนำเข้ากำลังมาชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นทุกทีๆ ดูแล้วก็เชื่อได้ว่าชาวประมงสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในสถานะที่ลำบากขึ้นทุกทีๆ
ในปี 2022 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลไปสหรัฐฯ ลำดับที่ 14 ทั้งในเชิงมูลค่า (287 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และปริมาณ (26.7 ล้านกิโลกรัม) โดยแคนาดาเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สหรัฐฯ นำเข้าในมูลค่าสูงที่สุด (3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่แหล่งอาหารทะเลที่สหรัฐฯ มีการนำเข้าในปริมาณสูงที่สุดคือ จีน (315 ล้านกิโลกรัม) เห็นได้ชัดว่าราคาอาหารทะเลที่นำเข้าจากจีนนั้นต่ำกว่าราคาจากแหล่งการนำเข้าอื่นมาก เมื่อเทียบทั้งมูลค่าและปริมาณโดยเฉลี่ย
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: แม้จะเป็นข่าวเล็กๆ แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณเตือนอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยว่าการร้องเรียนมาจากผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวสหรัฐฯ เกี่ยวกับภัยคุกคามจากภายนอกประเทศแล้ว และบ่อยครั้งที่คำร้องเรียนเล็กๆ กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากวุฒิสมาชิกแล้วหยิบเอาไปเป็นประเด็นให้ต้องออกเป็นกฎหมายคุ้มครองในที่สุด ซึ่งหากพิจารณาในส่วนของมูลค่าของสินค้านำเข้า จะเห็นว่าสินค้าจากจีน (เส้นสีฟ้าอ่อน) ยังคงมีมูลค่าต่อหน่วยต่ำที่สุดตลอดมา และเส้นถัดมาที่สูงกว่าจีนแต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าแหล่งอื่นมาโดยตลอดก็คือ เวียดนาม ส่วนมูลค่าของสินค้าอาหารทะเลของไทยก็ไม่ได้จัดว่ามีราคาต่ำ แต่ก็ยังเกาะกลุ่มกับบรรดาคู่แข่งอื่นๆ
ซึ่งถ้าหากจะเทียบราคากันจริงๆ แล้วจะต้องไปดูราคาของจริงและวิเคราะห์แบบเฉพาะประเภทกันชัดๆ วิธีนี้ใช้ค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นการเฉลี่ยราคาสินค้าอาหารทะเลตั้งแต่ที่แพงมากๆ ไปจนถึงปลาถูกๆ การเทียบเคียงครั้งนี้เพื่อดูว่าแนวโน้มราคาสินค้าจากจีน ต่ำมากกว่าแหล่งอื่นๆ จริงตามที่ร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งตัวเลขสถิติชี้ไปเช่นนั้นจริง หากสภาพการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ และเมื่อถึงเวลาที่มีสมาชิกสภาฯ นำเรื่องนี้เข้าไปพิจารณา ก็จะมีโอกาสสูงที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับแหล่งผลิตบางราย อาทิ จีน และเวียดนาม มากกว่าที่จะกำหนดมาตรการกีดกันแบบปูพรม ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น อีกวิธีหนึ่งที่สหรัฐฯ มักจะใช้ในการแก้ปัญหาเช่นนี้ คือเลือกประเทศพันธมิตรบางประเทศมาเจรจากันแบบทวิภาคี
อีกกรณีหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรช่วยกันเฝ้าและต้องจับตาดูอย่างระมัดระวัง คือการสวมสินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่นๆ แล้วส่งออกโดยใช้สิทธิ์การส่งออกเป็นสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งมีทั้งที่เป็นผู้ส่งออกที่จดทะเบียนเป็นบริษัทไทยหรือเป็นบริษัทข้ามชาติเข้ามาจดทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์การส่งออกเป็นสินค้าไทย ซึ่งปรากฎอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ หลายชนิด ทั้งในวงการก่อสร้างและปรับปรุงตกแต่งบ้าน และในวงการสินค้าอาหารก็ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทยหรือผู้ประกอบการต่างชาติที่มาจดทะเบียนเป็นบริษัทของไทยแล้วทำการสวมสินค้าจากแหล่งผลิตอื่นที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุน โดยอาจนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปหรือดัดแปลงเพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้มีการแปรรูปหรืออะไรเลย เพียงแค่ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์แล้วส่งออกเป็นสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นอาจส่งผลร้ายต่อการส่งออกทั้งอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งความเสียหายนั้นอาจจะมีมูลค่ามหาศาลและมีผลร้ายอย่างยาวนาน เมื่อประเทศปลายทางได้ตรวจพบความผิดปกติและสามารถพิสูจน์ว่าเกิดความเสียหายต่อตลาดภายในประเทศ และได้ประกาศมาตรการปกป้อง รวมทั้งมีการเพิ่มกำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าจากประเทศนั้นๆ ทั้งอุตสาหกรรม
*********************************************************
ที่มา: KLFY.com (Channel 10 News) เรื่อง: “Petition created to protect Louisiana seafood industry from imports” โดย: Dawson Danico สคต. ไมอามี /วันที่ 29 สิงหาคม 2566