แม้ว่าโดยรวมออสเตรียยังคงพึ่งพาการนำเข้าพลังงงานฟอสซิล แต่มีการขยายตัวของพลังงานสะอาดซึ่งสามารถผลิตได้เองภายในประเทศอย่างต่อเน่ื่อง ที่ผ่านมาออสเตรียขึ้นชื่อในเริื่องของการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและชีวมวล ต่อมามีการขยายตัวไปยังแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และล่าสุดพลังงานจากความร้อนรอบตัว (heat pump) จากรายงานของกระทรวงสภาพภูมิอากาศพบว่าในปี 2565 ออสเตรียมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เองภายในประเทศปริมาณ 510 เพตะจูล ขณะที่มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 1,180 เพตะจูล และมีปริมาณการส่งออก 170 เพตะจูล
ในปี 2565 พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผลิตเองในประเทศมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 36.3 และกินสัดส่วนร้อยละ 6 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเองทั้งหมด ในปีเดียวกันยังมีการติดตั้งหน่วยผลิตซึ่งมีกำลังการผลิตแตะระดับกิกะวัตต์ (1,010 เมกะวัตต์) เป็นครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตรวมถึง 3.8 กิกะวัตต์ คิดเป็นสองเท่าของกำลังการผลิตในปี 2562 ส่วนพลังงานไฟฟ้าจากกระแสลมมีกำลังการผลิตรวม 315 เมกะวัตต์ เติบโตร้อยละ 7.5 และกินสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ ขณะที่พลังงานจากฮีทปั๊มเติบโตร้อยละ 6.6 ซึ่งเป็นการดึงความร้อนจากสิ่งรอบตัว (อากาศ ดิน และน้ำบาดาล) มาผลิตเป็นพลังงานความร้อนที่ให้ความอบอุ่นและน้ำร้อนที่ใช้ในอาคารบ้านเรือน ในปี 2565 ยังมีการติดตั้งเครื่องฮีทปั๊มเพิ่มขึ้นอีกถึง 61,000 แห่ง ทำให้มีจำนวนฮีทปั๊มรวมทั้งสิ้นกว่า 441,000 แห่ง
อีกด้านหนึ่งปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 5.8 จากน้ำมันลดลงร้อยละ 8.2 ส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกระแสน้ำและชีวมวลแม้ว่าจะมีการลดลง (ร้อยละ 10.4 และ 3.5 ตามลำดับ) แต่ยังคงเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศที่สำคัญที่สุดทั้งสองแหล่ง
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ
ค่านิยมด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมฝังลึกในจิตใจของผู้บริโภคในยุโรป ซึ่งมีการให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่ได้จำกัดเฉพาะพลังงานที่บริโภคโดยตรงเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงพลังงานที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ พลังงานสะอาดจึงเป็นสิ่งพึงใช้และจุดขายที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อโอกาสทางการค้าของสินค้าและบริการ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา
สิงหาคม 2566