บริษัทผู้ผลิตรามยอนของเกาหลีใต้ ตั้งเป้าที่จะขยายความนิยมของสินค้าให้มากยิ่งขึ้น

(ที่มา : สำนักข่าว Korea Joongang Dairy ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2566)

 

การส่งออกรามยอนของเกาหลีใต้ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 ทะลุเป้า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างสถิติใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารเกาหลีใต้ ซึ่งเดือนกันยายนนี้ จะเป็นการครบรอบ 60 ปี ของการเปิดตัวสินค้ารามยอนครั้งแรกในเกาหลีใต้อีกด้วย

 

จากข้อมูลที่รวบรวมโดย Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corporation (aT) และหน่วยงานด้านศุลกากรเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นว่า ช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 เกาหลีใต้มีมูลค่าการส่งออกรามยอนอยู่ที่ 520.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว การส่งออกรามยอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่าสี่เท่า จาก30,305 ตันในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 134,791 ตันในปี 2566

 

ความสำเร็จในตลาดโลกของสินค้ารามยอนเกาหลี เป็นผลมาจากความพยายามในการเชื่อมโยงสินค้าเข้ากับวัฒนธรรมเกาหลี ภาพยนตร์ และศิลปินเคป๊อป รวมถึงในช่วงที่ผู้คนทั่วโลกได้เผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด 19 ความนิยมของสินค้ารามยอนซึ่งที่เป็นอาหารทางเลือกที่สะดวกสบายต่อการรับประทาน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน

 

บริษัท Nongshim ซึ่งเป็นผู้ผลิตรามยอนรายใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากนานาประเทศจากผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Chapaguri ซึ่งเป็นการผสมระหว่างรามยอน Neoguri และ Chapagetti โดยบริษัทได้เปิดตัวรามยอนดังกล่าวอย่างเป็นทางการ หลังจากเมนู Chapaguri ปรากฏในภาพยนตร์ Parasite ที่ได้คว้ารางวัลออสการ์ในปี 2562

 

โฆษกของบริษัท Nongshim กล่าวว่า รามยอนเกาหลีให้ความสำคัญกับรสชาติที่เข้มข้นและคุณค่าทางอาหารที่สูง พร้อมด้วยน้ำซุปและผัก และได้นำเสนอสินค้าว่าเป็นอาหารที่สารอาหารครบถ้วน เช่นเดียวกับพาสต้า แต่ในทางกลับกัน สินค้าราเมงของบริษัทต่างชาติ เช่น บะหมี่แบบถ้วยจะเน้นนำเสนอรสชาติที่อ่อน และส่วนผสมที่ธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ความนิยมในวัฒนธรรมเกาหลี เช่น การที่ภาพยนตร์ Parasite ได้รับรางวัลออสการ์ และอิทธิพลของวง BTS ยิ่งส่งผลให้ตลาดรามยอมเกาหลีเติบโตขึ้นอีก

 

ปัจจุบัน การเข้าถึงสินค้ารามยอนเกาหลีจากทั่วโลก ได้ขยายไปสู่ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น บะหมี่ยี่ห้อ “Buldak” ของบริษัท Samyang Foods ได้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เนื่องจากมีศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างจีมินวง BTS และโรเซ่ วง Blackpink ให้การสนับสนุนสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้ กิจกรรมท้ากินบะหมี่เผ็ด “Fire Noodle Challenge” ที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยโฆษณาสินค้าของทางบริษัท ได้กลายเป็นความท้าทายที่หลายๆคนอยากจะลองกันสักครั้งหนึ่ง โดยโฆษกของบริษัท Samyang Foods กล่าวว่า กระแสดังกล่าวได้เปลี่ยนสินค้ารามยอนให้กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ K-Food

 

ปัจจุบัน บริษัทรามยอนชั้นนำในเกาหลีกำลังขยายโรงงานผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท Nongshim ได้เปิดโรงงานแห่งที่สองในสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ และวางแผนที่จะเริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งที่สามภายในปี 2568 ซึ่งนายชิน ดงวอน ประธานบริษัท Nongshim ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ต่อปีของบริษัทในตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นสามเท่า หรือ 1.5 พันเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นที่หนึ่งของสินค้ารามยอนในตลาดท้องถิ่น นอกจากนี้ บริษัท Samyang Foods ก็ได้เปิดโรงงานในเมืองมิลยาง จังหวัดคย็องซังใต้ เกาหลีใต้ ในเดือนพฤษภาคม เพื่อรองรับการส่งออกสินค้า พร้อมทั้งตัดสินใจจะสร้างโรงงานแห่งที่สองบนบนพื้นที่เดียวกันอีกด้วย

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า ความนิยมของรามยอนเกาหลีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการนำสินค้ามาเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ภาพยนตร์ และผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลทางความคิด (อินฟลูเอนเซอร์)  ซึ่งเหมาะกับไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบัน ที่บุคคลมักจะรับฟังความเห็นของอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีชื่อเสียงต่างๆ และมีการบริโภคตามผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้น

 

ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทรามยอนเกาหลีมักจะร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์หรือศิลปินคนดังในประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้าของตนเองให้เป็นไปตามกลุ่มผู้ชื่นชอบในอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้น แต่ล่าสุด บริษัท Nongshim ได้มีการร่วมมือกับเจ๊ไฝ เจ้าของร้านอาหารไทยที่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ 1 ดาว เปิดตัวรามยอนรสใหม่รสต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็น Soft Power ด้านอาหารของไทย นับเป็นการร่วมมือครั้งแรกระหว่างรามยอนเกาหลีและอินฟลูเอนเซอร์ไทย
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จากความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทมากยิ่งขึ้น และเป็นการขยายความนิยมของเมนูอาหารต้มยำกุ้งของไทยไปสู่ทั่วโลกให้เพิ่มมากขึ้น

 

ในส่วนของผู้ผลิตสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือผู้ผลิตสินค้าอาหารของไทย อาจนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมการตลาด โดยการเชื่อมโยงกับ Soft Power ของไทยที่น่าสนใจในปัจจุบัน เช่น ศิลปินคนดังของไทยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ หรือเปิดตัวสินค้าใหม่ๆที่ร่วมมือกับเชฟร้านอาหารดัง ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

 

********************************************************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล

 

 

 

thThai