รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและบริษัท Kentaste บริษัทแปรรูปมะพร้าวของเคนยาได้ประกาศโครงการลงทุนมูลค่า 232 ล้านเคนยาชิลลิ่ง หรือ 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายการส่งออกของบริษัทไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเงินทุนจากกองทุนของสหรัฐที่เรียกว่า Feed the Future และ Prosper Africa ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา นี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตสินค้าแปรรูปมะพร้าวของบริษัท Kentaste ให้เพิ่มถึงร้อยละ 76 คิดเป็นจำนวนมะพร้าว 50,000 ลูกต่อวัน
โดย นาง Meg Whitman เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำเคนยาได้กล่าวว่า ความร่วมมือเช่นนี้จะเป็นการยกระดับการค้าระหว่างสองประเทศ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคุณภาพชีวิต และการรับมือกับขยะจากอาหารที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทั้งนี้ การเติบโตที่ยั่งยืนและความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศ
โครงการดังกล่าวยังคาดว่า จะสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรเคนยามากกว่า 4,500 คน มีการจ้างงานเต็มเวลาถึง 90 ตำแหน่ง และยังเปิดรับเกษตรกรรายใหม่ถึง 1,500 ราย เพื่อมาเป็นซัพพลายเออร์รายใหม่ในห่วงโซ่การผลิต และเป็นเป้าหมายในการกำจัดขยะจากอาหารได้ถึง 32,500 ลิตร ในอีกสองปีข้างหน้า ความช่วยเหลือนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณอุปทานของมะพร้าวในเคนยาให้มากขึ้น ในช่วงเวลาที่เคนยากำลังต้องการความมั่นคงจากการแปรรูปอาหารในท้องถิ่นเพื่อการส่งออก อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับผู้ค้าปลีกสองรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่จะรับซื้อผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของบริษัท Kentaste เพื่อขยายการเข้าถึง ตลาดสหรัฐฯ สำหรับสินค้าจากมะพร้าวของเคนยา นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ประเภทถั่วที่อเมริกาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่จากเคนยา รองจากเนเธอร์แลนด์
จากรายงานของปี 2565 โดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าประเภทถั่วและน้ำมันจากพืชของเคนยา แสดงให้เห็นว่า เคนยามีการผลิตมะพร้าวได้มากถึง 110,013 ตัน มูลค่าประมาณ 5 ล้านเคนยาชิลลิ่ง หลังจากที่ผลิตได้ลดลงก่อนหน้านี้
บริษัท Kentaste ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวหลายประเภท รวมถึงกะทิ หัวกะทิ น้ำมันมะพร้าว แป้งจากมะพร้าว (Coconut flour) คือ ผลิตมาจากเนื้อสดของมะพร้าวเป็นแป้งที่ดีต่อสุขภาพจัดอยู่ในประเภท Gluten-free เหมาะกับคนที่ไม่บริโภคอาหารจากสัตว์) และมะพร้าวอบแห้งขนาดเล็ก โดยบริษัทฯ ทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรายย่อย 2,700 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการรับรองในการทำเกษตรอินทรีย์และมีการค้าที่เป็นธรรม
จากผลการวิจัยและการทำการตลาดคาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 38.58 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากความต้องการผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่น กะทิ น้ำมันมะพร้าว และมะพร้าวอบแห้งเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
ความเห็นของ สคต.
การที่สหรัฐฯ เข้ามาช่วยบริษัทของเคนยา ในการให้เงินทุนในการขยายกำลังการผลิตทั้งในส่วนของการเพาะปลูกและการตลาดในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ นั้น เป็นนโยบายซึ่งสหรัฐพยายามเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการเป็นผู้ให้กับบริษัทต่างๆในแอฟริกาในการเปิดตลาดการค้าสำหรับสินค้าทางการเกษตร โดยเคนยาเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องพึงการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการนำเข้ากะทิกระป๋องจาก ไทย อินโดนีเชีย ด้วย การผลิตในประเทศยังไม่สามารถรองรับตลาดความต้องการทั้งหมดได้
ในส่วนของไทยนั้น แนวโน้มดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่า สินค้ากะทิกระป๋องหรือแปรรูปจากแอฟริกาหรือเคนยา อาจกลายมาเป็นคู่แข่งไทยได้ในอนาคต ซึ่งผู้ผลิตไทยควรหันมาดูความเป็นไปได้ในการลงทุนในการผลิตสินค้าแปรรูปทางการเกษตรในแอฟริกาในอนาคต เพราะประเทศในแอฟริกาถือเป็นกลุ่มประเทศที่สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตรแปรรูปที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในตลาดยุโรปและสหรัฐ ประกอบกับมีค่าขนส่งที่ถูกกว่าสินค้าจากไทยหรือเอเชีย ซึ่งหากเขามีผลผลิตที่มากพอตลอดจนการยกระดับด้านคุณภาพ ก็น่าจะต้องหันมามองสินค้าจากแอฟริกามากขึ้นในอนาคต
ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke
ที่มา : The EastAfrican