เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 คุณ Chrystia Freeland รองนายกรัฐมนตรีแคนาดา พร้อมด้วยนาย François-Philippe Champagne รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรียกประชุมผู้บริหารห้างค้าปลีกรายใหญ่ 5 รายในประเทศ ประกอบด้วยห้าง Loblaw ห้าง Sobeys ห้าง Metro ห้าง Costco และห้าง Walmart เพื่อหาทางออกปัญหาราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวแคนาดาอย่างหนัก
การเรียกประชุมผู้บริหารห้างค้าปลีกล่าสุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อนาย Justin Trudeau ผู้นำประเทศได้ปราศรัยต่อสาธารณะถึงปัญหาค่าครองชีพและเงินเฟ้อในประเทศ โดยเฉพาะราคาที่พักอาศัยและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นมาก จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อชาวแคนาดาในการดำรงชีพที่รัฐบาลจะพยายามแก้ไข แต่ขณะเดียวกัน ห้างค้าปลีกรายใหญ่กลับมีผลกำไรเพิ่มขึ้นมาก จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกสังคมมองว่าเอาเปรียบผู้บริโภคในภาวะข้าวยากหมากแพง ส่งผลให้ต้องมีการเรียกหารือซีอีโอจากห้างค้าปลีกรายใหญ่เป็นการเร่งด่วน
จากที่ประชุม นาย Champagne กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้บริหารของห้างแต่ละแห่ง ต้องมาเข้ายื่นมาตรการและแผนดำเนินงานที่จะควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก่อนช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ที่กำลังมาถึงในเดือนตุลาคมนี้ มิฉะนั้นแล้ว ทางรัฐบาลจะมีบทลงโทษกลับ เช่น มาตรการทางภาษี ที่อาจกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจได้ อย่างไรกีตาม ทางการยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัดว่า จะมีบทลงโทษต่อผู้ประกอบการอย่างไร หากไม่มีการปฏิบัติตามข้อสั่งการดังกล่าว แต่ผู้บริหารทั้ง 5 ราย ต่างเห็นด้วยที่จะหาวิธีการควบคุมราคาสินค้าเช่นกัน
แม้ว่าปัจจุบัน ราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกเริ่มลดลงจากระดับสูงสุดแล้ว อาทิ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม และสินค้าการเกษตรอื่นๆ แต่ดูเหมือนราคาอาหารและวัตถุดิบปรุงอาหารต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายยังคงไม่ลดลงหรือยังเพิ่มขึ้นอีก โดยหนึ่งในเหตุผลที่สามารถเข้าอธิบายเรื่องของราคาสินค้าอาหารได้ คือ การผูกขาดในอุตสหากรรมอาหารของแคนาดา ซึ่งทุกวันนี้อุตสาหกรรมค้าปลีกในแคนาดาเริ่มจะมีการผูกขาดมากขึ้น หลังจากที่มีการควบรวมกิจการของบริษัทขนาดกลางถึงเล็กในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งห้างค้าปลีกทั้ง 5 รายนั้นครอบครองตลาดค้าปลีกในประเทศมากกว่าร้อยละ 80 แน่นอนว่า บริษัทขนาดใหญ่ย่อมมีอำนาจทางการตลาดในการกำหนดราคาสินค้าของพวกตนได้ตามต้องการได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลแคนาดาจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอาหารอย่างใกล้ชิด และการหารือครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นจากผู้ประกอบการค้าปลีกก่อน และอาจจะมีการเรียกตรวจสอบจากผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ๆ ต่อไปอีกเช่นกัน
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ จากการหารือระหว่างภาครัฐและผู้บริหารห้างค้าปลีกรายใหญ่นี้ ไม่ได้เป็นการยืนยันว่า จะส่งให้ราคาสินค้าอาหารในประเทศมีราคาลดลง แต่อย่างน้อยการหารือดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการสร้างแรงกดดันสาธารณะ (public pressure) กับห้างค้าปลีกก่อนการตัดสินใจที่จะปรับราคาสินค้าขึ้นมากขึ้น เนื่องจากการที่รัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในประเด็นครั้งนี้โดยเฉพาะเรื่องมาตรการทางภาษี อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับภาคเอกชนอย่างมากด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ประกอบการไทยเอง สคต. เห็นว่า ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้นำเข้า ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอและเน้นการทำงานร่วมกัน เพื่อจะได้รับมือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันกับสถานการณ์ค้าปลีกในแคนาดาได้เป็นอย่างดี
*******************************************************
ที่มาของบทความ https://financialpost.com/news/retail-marketing/trudeau-major-grocers-plan-stabilize-food-prices
โดย… สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา