เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 กลุ่มธุรกิจชั้นนำของเยอรมนียินดีกับความเคลื่อนไหวของ นายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่จะเชิญเจ้าหน้าที่จากประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางเข้าร่วมการเจรจาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน 2566 เพื่อพยายามกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้น ในขณะที่ความสัมพันธ์กับรัสเซียได้พังทลายลงนับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน
การส่งออกของเยอรมนีไปยังรัสเซียลดลงเกือบ 40% ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2566 และรัสเซียตกลงมาเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดอันดับที่ 36 ของเยอรมนี จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 14 ภายในหนึ่งปี
สมาคมธุรกิจตะวันออกแห่งเยอรมนี (German Eastern Business Association) ได้แสดงความยินดีต่อความเคลื่อนไหวของนายโอลาฟ ชอลซ์ โดยระบุว่า ความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศหุ้นส่วนทางตะวันออกกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างลึกซึ้ง โดยการส่งออกของเยอรมนีไปยังเอเชียกลางและคอเคซัสใต้มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังได้รับความสำคัญในฐานะที่ตั้งธุรกิจและคู่ค้าทางเลือก นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นต่อเอเชียกลางมากยิ่งขึ้น และมีทัศนคติที่สร้างสรรค์ในการจัดการกับการหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของรัสเซียผ่านทางประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้วย
โดยที่ปัจจุบันประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซียมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียในเชิงถดถอย ทำให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตรหลายประเทศ รวมถึงเยอรมนี ได้เริ่มมองหาประเทศคู้ค้าใหม่ๆ เช่น ประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง (คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน และเติร์กมินิสถาน) เพื่อเป็นช่องทางใหม่ๆ ในการขยายการค้า ในส่วนของไทย การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศเอเชียกลางในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียกลางนับเป็นตลาดใหม่ที่มีความน่าสนใจ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้เริ่มเร่งรุก ขยายตลาดเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น ในชั้นนี้ ผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการส่งออกสินค้า ก็อาจพิจารณาตลาดภูมิภาคเอเชียกลางเป็นทางเลือกเพิ่มเติมอีกทางเลือกหนึ่ง
ที่มา
– Germany welcomes Central Asian govts as Russia trade tumbles (https://www.reuters.com/world/germany-welcomes-central-asian-govts-russia-trade-tumbles-2023-09-19/)