(ที่มา : สำนักข่าว Yonhap News ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2566)
กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท เกาหลีใต้แถลงว่า จนถึงช่วงกลางเดือนกันยายน 2566 นี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและการประมงของเกาหลีใต้เติบโตขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารเกาหลีอื่นๆ ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลีในโลกปัจจุบัน
กระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบท ได้ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและประมงของเกาหลีใต้มีมูลค่า 6.31 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อดูมูลค่าการส่งออกของสินค้าดังกล่าวในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 จะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากยอดจำหน่ายในปี 2565 ได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี ในครึ่งเดือนกันยายน ได้กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
เมื่อจำแนกตามรายการสินค้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือที่เรียกว่า “รามยอน” มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 657 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสินค้าเครื่องดื่ม มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 อยู่ที่มูลค่า 422 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของสินค้าที่ผลิตจากข้าว เช่น คิมบับ (ข้าวห่อสาหร่ายไส้ผัก) มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 คิดเป็นมูลค่า 145 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสินค้ากิมจิมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 คิดเป็นมูลค่า 113 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในส่วนของ สตรอเบอร์รี่ และลูกแพร์มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 และร้อยละ 18.1 ตามลำดับ
เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ กล่าวว่า สินค้าอาหารของเกาหลีใต้เป็นที่รู้จักจากความนิยมของภาพยนต์ ละคร และดนตรี และมีผู้คนจำนวนมากหันมาสนใจสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) ดังกล่าวหลังจากเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
เมื่อจำแนกจากปลายทางการส่งออกสินค้า การส่งออกไปจีนมีการเติบโตขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 977 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 คิดเป็น 910 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนยอดส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรมีการเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.2
ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ให้คำมั่นว่า จะขยายการสนับสนุนผู้ส่งออกในการรุกเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และเน้นย้ำด้านคุณภาพของสินค้าอาหารสดให้ดียิ่งขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นส่วนผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร และประมงของเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้นนั้น คือ Soft power ของเกาหลี โดยความร่วมมือกับผู้จัดทำภาพยนตร์ ละคร และ K-pop ต่างๆ ของเกาหลี ที่ได้สอดแทรกอาหารและวัฒนธรรมเกาหลีเข้าไปอย่างกลมกลืนในภาพยนตร์และละครฉากต่างๆ รวมถึงศิลปินเองก็ได้ร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้วัฒนธรรมเกาหลีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ดึงดูดความสนใจของผู้รับชมทั่วโลกได้อย่างดี จนเกิดเป็นกระแสความนิยมใน k-culture สู่สากลอย่างแท้จริง
สำหรับประเทศไทยซึ่งมีวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วโลกเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย กีฬาไทย ประเพณีต่างๆ หรือแฟชั่นไทย อาจจะผลักดันวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านภาพยนตร์หรือละครต่างๆ รวมถึงการใช้ผู้ที่มีชื่อเสียง เช่น ศิลปิน นักร้องต่างๆ ให้ใช้สินค้าไทยมากขึ้นในโอกาสต่างๆ จะเป็นการสร้างการรับรู้และความนิยมในสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล